×

ซีอีโอ KBank ชี้ 4 เทรนด์มาแรง! ‘เทคโนโลยีดิสรัปชัน-ภูมิรัฐศาสตร์-สังคมผู้สูงอายุ-ESG’ คือโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย

31.08.2022
  • LOADING...
KBank

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยระบุ 4 เทรนด์มาแรง ได้แก่ เทคโนโลยีดิสรัปชัน, ภูมิรัฐศาสตร์, สังคมผู้สูงอายุ และ ESG กำลังเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทย พร้อมแนะรัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร การดูแลสุขภาพ และระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อทำให้ประเทศไทยมีเครื่องยนต์เศรษฐกิจมากขึ้นในอนาคตระยะกลาง-ระยะยาว

 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘Thailand Economy Risk, Challenge and Opportunities’ ซึ่งจัดโดย Bangkok Post โดยระบุว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากเผชิญกับวิกฤตการระบาดใหญ่มาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังกลับสู่ระดับปกติ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น การบริโภคเริ่มฟื้นตัว และการเติบโตของการส่งออก ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมตัวเพื่อรับความท้าทายต่างๆ ที่กำลังจะมาถึงทั้งในระยะสั้นและยาว เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์

 

ขัตติยาระบุอีกว่า มี 4 ความท้าทายสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทย ได้แก่ เทคโนโลยีดิสรัปชัน, ภูมิรัฐศาสตร์, สังคมผู้สูงอายุ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อย่างไรก็ตาม เทรนด์ทั้ง 4 นี้ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วย

 

“ตัวอย่างแรก ธุรกิจสามารถถูกดิสรัปต์ หรือเร่งการเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีได้ ขณะที่ในประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เช่น เหตุความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจนำมาสู่การแยกตัวทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (Decoupling) และอาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากจีน และสร้างโอกาสให้ประเทศในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศได้ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย หมายความว่าภัยคุกคามเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเป็นโอกาสได้ ดังนั้นควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อคว้าโอกาสไว้” ขัตติยากล่าว

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยกล่าวอีกว่า ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะมีแรงขับเคลื่อนมาจากเครื่องยนต์เพียงเครื่องยนต์เดียวคือ ‘ภาคการท่องเที่ยว’ เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่สามารถพึ่งพาเครื่องยนต์อื่นๆ ได้มากนัก เช่น การบริโภค และส่งออก 

 

ดังนั้น เพื่อเพิ่มขีดการแข่งขันของประเทศ ขัตติยาแนะว่า นอกเหนือจากการท่องเที่ยวแล้ว ประเทศไทยควรมุ่งให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหาร การดูแลสุขภาพ และระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการดูแลสุขภาพมายาวนาน มีการทำเกษตรกรรมที่หลากหลาย และได้ฉายาว่าเป็นครัวของโลก ดังนั้น เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์อาหารไทยทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน จำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เช่น อาหารที่มาจากพืช (Plant Based) หรืออาหารที่เป็นยา (Medical Food)

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป เมื่อมองไปข้างหน้า ตามเทรนด์ ESG และเป้าการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ดังนั้น ประเทศไทยควรต้องผันตัวเป็นฐานการผลิตรถยนต์แห่งอนาคต รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

กลับมาที่ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวเริ่มเดินทางมาลดลงในช่วงก่อนการระบาด ขัตติยาแนะว่าไทยควรชูนโยบายการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยควรทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรู้สึกว่าการมาเยือนประเทศไทยเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising