ในขณะที่หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ กำลังพิจารณาทบทวนเพื่อปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ได้ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.25% มาอยู่ที่ 0.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เมื่อวานนี้ (26 สิงหาคม) กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด
ทั้งนี้ แบงก์ชาติเกาหลีใต้ให้เหตุผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไปกระตุ้นความต้องการบริโภคสินค้า หรืออุปสงค์หรือดีมานด์ที่พุ่งแรงเกินไป
นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเห็นตรงกันว่า การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยท่ามกลางเศรษฐกิจประเทศที่เผชิญปัจจัยสั่นคลอนจากการระบาดของไวรัสโควิด ถือเป็นความตั้งใจของ BOK ที่ต้องการสื่อให้ตลาดเห็นว่าเกาหลีใต้จริงจังกับการลดความเสี่ยงทางการเงิน โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ Citi คาดการณ์ว่า ทางธนาคารกลางเกาหลีใต้น่าจะมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน และขึ้นอีก 2 ครั้งในปีหน้า
การตัดสินใจของแบงก์ชาติเกาหลีใต้ที่มีขึ้น 1 วันก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เมืองแจ็กสันโฮล รัฐไวโอมิง ถือเป็นการตอกย้ำตัวเลือกที่ยากลำบากที่บรรดาธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ต้องเผชิญในช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อน
โดยด้านหนึ่ง ธนาคารกลางไม่ต้องการรอนานเกินไปในการดำเนินการขึ้นดอกเบี้ย เพราะจะเสี่ยงทำให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้นและเกิดภาวะฟองสบู่ แต่อีกด้านหนึ่ง ธนาคารกลางก็กลัวที่จะเคลื่อนไหวเร็วเกินไปจนเป็นอันตรายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวแปรอย่างโควิดสายพันธุ์เดลตากำลังก่อกวนและสร้างความไม่แน่นอนมากมาย
สำหรับเกาหลีใต้ การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้คือการแสดงความเชื่อมั่นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะเข้าไปแทรกแซงได้ โดยแถลงการณ์แบงก์ชาติเกาหลีใต้ระบุชัด เศรษฐกิจเกาหลีใต้เดินหน้าฟื้นตัวอย่างดี พร้อมคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้จะอยู่ที่ 4% เพราะยังมีการขยับขยายการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน
อ้างอิง: