×

‘Soul Cap’ การกลับมาของหมวกว่ายน้ำสำหรับผมแอโฟร จุดเริ่มต้นสู่การมีส่วนร่วมของทุกคนอย่างแท้จริง

05.09.2022
  • LOADING...
Soul Cap

เพราะบางครั้งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจส่งผลใหญ่กว่าที่คาดคิด เหมือนเรื่องของหมวกแบรนด์หนึ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของกีฬาว่ายน้ำในอนาคต และเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี เพราะมันคือการเริ่มต้นสู่การต้อนรับความหลากหลายของทุกเชื้อชาติอย่างแท้จริง

 

หมวกว่ายน้ำแบรนด์ดังกล่าวมีชื่อว่า ‘Soul Cap’ ซึ่งเป็นหมวกที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับนักกีฬาเชื้อสายแอฟริกา ซึ่งจะมีลักษณะเส้นผมหยิก หนา ที่ต้องทำทรงผมแบบแอโฟร เป็นหยิก เป็นลอน หรือถักผมโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีอย่างมาก เนื่องจากเป็นหมวกที่แก้ปัญหาให้แก่นักกีฬาที่มีเชื้อสายแอฟริกาได้ตรงจุด

 

โดยเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักกีฬาว่ายน้ำหญิงที่มีเชื้อสายแอฟริกาเลยทีเดียว เพราะโดยธรรมชาติแล้วเส้นผมแบบแอโฟรจะมีความแห้งกว่าผมอื่นๆ เนื่องจากมีจำนวนเซลล์ที่น้อยกว่าอยู่แล้ว ซึ่งหากสัมผัสกับน้ำในสระที่มีส่วนผสมของไฮโปคลอไรต์ หรือสารฟอกขาว ก็จะทำให้ผมแห้งยิ่งขึ้นไปอีก และทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นผมและหนังศรีษะ

 

เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เราแทบไม่ได้เห็นนักกีฬาว่ายน้ำผิวดำลงแข่งขันในระดับสูงสุด เนื่องจากพวกเธอประสบปัญหากับการสวมหมวกว่ายน้ำแบบคนทั่วไปนั่นเอง

 

หนึ่งในนักกีฬาว่ายน้ำหญิงผิวดำที่ประสบปัญหานี้คือ เคไจ เทอร์เรลอง ที่เปิดใจกับ BBC Radio 1 ว่า “การสวมหมวกว่ายน้ำขนาดเล็กที่คนปกติใช้นั้นมันก็พอจะเข้ากับศีรษะของฉันได้อยู่ แต่เพราะฉันต้องทาน้ำมันที่เส้นผม (เพื่อปกป้องสภาพผม) ในตอนที่ว่ายอยู่มันอาจทำให้หมวกลื่นหลุดออกไปและผมของฉันก็อาจจะเปียกได้”

 

ขณะที่ อลิซ เดียริง นักกีฬาว่ายน้ำหญิงชาวอังกฤษที่มีเชื้อสายแอฟริกา และเป็นนักกีฬาว่ายน้ำหญิงผิวดำคนเดียวในทีมชาติสหราชอาณาจักร ย้อนความทรงจำในเรื่องนี้ว่า ​“ฉันยังจำได้ชัดเจนกับการที่เด็กหญิงผิวดำบอกในการซ้อมว่าหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ไม่อยากว่ายน้ำก็เพราะเรื่องผม

 

“ตอนนั้นฉันเพิ่งอายุแค่ 12 หรือ 13 ปี และไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าแค่เรื่องผมจะทำให้ใครเลิกว่ายน้ำได้ แต่ตอนนี้ฉันเข้าใจมากขึ้นแล้วว่าทำไมถึงมีคนที่เลิกว่ายน้ำเพราะผม”

 

แต่เมื่อปีกลายหมวก Soul Cap กลายเป็นหมวกต้องห้าม เมื่อทางด้านสหพันธ์ว่ายน้ำระหว่างประเทศ (FINA) ได้สั่งห้ามไม่ให้นักกีฬาสวมหมวกแบบนี้เข้าร่วมการแข่งขันระดับสูง โดยให้เหตุผลประกอบว่า “เพราะหมวกไม่ได้ทำมีรูปทรงเดียวกับธรรมชาติของศีรษะ” (หมวกจะมีความยืดหยุ่นและพองกว่าหมวกว่ายน้ำโดยทั่วไป)

 

การที่ Soul Cap กลายเป็นหมวกต้องห้ามนั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อนักกีฬาว่ายน้ำหญิงเชื้อสายแอฟริกาที่เหมือนถูกกีดกันออกจากการแข่งขัน

 

การตัดสินของ FINA นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และทำให้มีคำสั่งทบทวนในอีกไม่กี่วันต่อมาหลังมีการตัดสิน ซึ่งแม้จะใช้เวลาอีกนานกว่า 1 ปีนับจากเดือนกรกฎาคม 2021 จนถึงเดือนกันยายน 2022 กว่าที่ FINA จะกลับคำตัดสิน โดยอนุญาตให้นักกีฬาสวมหมวกของ Soul Cap ใช้แข่งขันในระดับสูงสุดได้ แต่มันก็เป็นการรอคอยที่คุ้มค่า

 

ผู้ผลิต Soul Cap บอกว่า “เรามีความยินดีที่จะแจ้งว่าหมวกว่ายน้ำทุกขนาดของเราได้รับอนุญาตจาก FINA ให้ใช้ในการแข่งขันได้ทั่วโลก

 

“จะเป็นการแข่งในเมืองไปจนถึงโอลิมปิก นักว่ายน้ำทุกวัยทุกระดับจะมีตัวเลือกที่มากขึ้นในสิ่งที่พวกเขารัก ผลการตัดสินนี้จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในภารกิจของเรา ที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในเกมกีฬา และเราก็รู้สึกตื้นตันจากการสนับสนุนที่ผู้คนมีต่อเราเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้”

 

ด้าน FINA โดย เบรนต์ โนวิคกี กล่าวในแถลงการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากการตรวจสอบและหารือร่วมกันเกี่ยวกับงานออกแบบของหมวกระหว่าง FINA และ Soul Cap ตลอดปีที่ผ่านมา

 

“การประชาสัมพันธ์ในเรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วมคือหัวใจในการทำงานของ FINFA และมันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่นักกีฬาว่ายน้ำทุกคนจะสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ว่ายน้ำที่มีความเหมาะสม”  

 

ทางด้านเดียริงกล่าวยกย่องการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็นการ “สร้างแบบอย่างสำหรับเกมกีฬา” ซึ่งคาดว่าหลังจากนี้จะได้เห็นนักกีฬาว่ายน้ำเชื้อสายแอฟริกาจากทั่วโลกปรากฏตัวลงแข่งขันมากขึ้นในทุกระดับ เพราะนับจากนี้ไม่มีอุปสรรคที่เหมือนเล็กแต่ยิ่งใหญ่อย่างหมวกว่ายน้ำมาขัดขวางการเล่นกีฬาที่พวกเธอรักอีกแล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising