×

สรยุทธ อาจนอนคุกยาว เมื่อศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว

29.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนคดีแล้วพิเคราะห์ว่า การอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืนให้จำคุก ‘สรยุทธ’ ตามศาลชั้นต้น คือ 13 ปี 4 เดือน รวมทั้งจำเลยรายอื่นๆ
  • เส้นทางสายสื่อมวลชนของ ‘สรยุทธ’ ยิ่งดูตีบตันและหดแคบลงไปอีก เมื่อมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกมา และเส้นทางชีวิตนับแต่นี้คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เมื่อศาลไม่ให้ประกันตัว เขาจึงต้องเข้าไปสัมผัสบรรยากาศชีวิตในเรือนจำ 
  • จำเลยทั้ง 3 ราย สามารถยื่นขอประกันตัวได้ในเวลาต่อไป จนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาศาลฏีกาในคดีหลักออกมา เพียงแต่การยื่นคำร้องใหม่นั้นจำเลยจะต้องระบุเหตุและข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูง

     29 ปีบนเส้นทางสื่อมวลชนของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เริ่มต้นตั้งแต่เป็นนักข่าวตัวน้อย เติบโตในวิชาชีพมาตามลำดับ กระทั่งขึ้นสู่จุดสูงสุดของอาชีพ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโด่งดังไปทั่วประเทศ ใครๆ ก็รู้จักคนชื่อสรยุทธ ใครๆ ก็ติดตามลีลาการเล่าข่าวของเขากันทั่วบ้านทั่วเมือง

     แต่ชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์ก็มีอันต้องสะดุดหยุดลงไปชั่วขณะ เมื่อต้องยุติการทำรายการหน้าจอตั้งแต่มีนาคม ปี 2559 เมื่อศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้รับโทษในคดีค่าโฆษณาเกินเวลา มูลค่า 138 ล้านบาท ซึ่งสรยุทธได้รับโทษจำคุกถึง 13 ปี 4 เดือน บริษัท ไร่ส้ม จำกัด รวมทั้งพนักงาน อสมท. และลูกน้องต้องตกเป็นจำเลยในคดีนี้ ก็ได้รับโทษทั้งหมด

     ล่าสุดในวันนี้ (29 สิงหาคม) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนคดีแล้วพิเคราะห์ว่า การอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืนให้จำคุกสรยุทธ รับโทษตามศาลชั้นต้นจำนวน 13 ปี 4 เดือน รวมทั้งจำเลยทั้งหมดที่เหลือด้วย และศาลฎีกาชี้แล้วว่าให้ยกคำร้องการขอปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ต่อจากนี้ ทนายความต้องยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่

ส่วนคุณงามความดีของจำเลยที่ 3 ที่กล่าวอ้างนั้น เป็นเรื่องประวัติและความดีของจำเลยที่ 3 อันเป็นคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ซึ่งศาลต้องพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน

 

ศาลชี้ ข้ออ้างอุทธรณ์สรยุทธฟังไม่ขึ้น คุณงามความดี ไม่เกี่ยวกับทำผิด

     ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จำเลยและพิธีกรข่าวชื่อดัง ได้เดินทางมาถึงศาลด้วยรถยนต์ BMW สีดำ เมื่อมาถึงเดินเข้าไปยังด้านหลังของศาล เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์เนื่องจากบริเวณด้านหน้าศาลมีสื่อมวลชนจำนวนมากมาปักหลักรายงานข่าว

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรยุทธมีสีหน้าวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด โดยมีนายตัน ภาสกรนที และภรรยา รวมทั้งทีมพิธีกรข่าวของรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ มาให้กำลังใจ พร้อมร่วมเข้าฟังการอ่านคำพิพากษาด้วย

     ขณะที่ในวันนี้ ศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟังการอ่านคำพิพากษาคดีเพียง 3 คนเท่านั้น โดยให้ส่งตัวแทนเข้าฟังในห้องพิจารณาคดีเพื่อความเรียบร้อยในการดำเนินกระบวนการ

     ภายหลังศาลใช้เวลาอ่านคำพิพากษาประมาณ 2 ชั่วโมง ท่ามกลางบรรยากาศการเกาะติดรายงานของสื่อมวลชนที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยระบุรายละเอียดดังนี้

     คดีนี้ พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือ นางชนาภา บุญโต พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ. อสมท. เป็นจำเลยที่ 1 บจก. ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อายุ 51 ปี อดีตพิธีกรรายการข่าวชื่อดัง จำเลยที่ 3 และนางสาวมณฑา ธีระเดช อายุ 45 ปี พนักงาน บจก. ไร่ส้ม จำเลยที่ 4

 

 

     โดยคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ จัดทำคิวโฆษณารวมก่อนออกอากาศในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 2 เพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาในส่วนที่เกินเวลา อันเป็นการเสียหายแก่บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ รวมเป็นเงินค่าเสียหาย 138,790,000 บาท โดยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้เรียกและรับเงินจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยมิชอบ เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยที่ 1 ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลา และการกระทำดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11

     ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 80,000 บาท

     ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจัดทำคิวและทราบความเป็นไปของรายละเอียดการโฆษณาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นสามัญสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องทำงานเพื่อประโยชน์ของรัฐ จะอ้างว่ามีช่องว่างทางการตรวจสอบไม่ได้ เมื่อการโฆษณาเกินส่วนต้องเสียค่าโฆษณา แต่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำยาลบคำผิดในใบคิวโฆษณาของจำเลยที่ 2 แม้ข้ออ้างว่าทำไปเพราะตกใจกลัวจะต้องรับผิด ก็เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนัก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

     ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ซึ่งร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ และที่จำเลยที่ 2 กับที่ 3 อ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลบรายการในใบคิวโฆษณาของ จำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การยอมรับเกี่ยวกับเหตุผลในการลบรายการในใบคิว และอ้างว่าได้รับการร้องขอจากจำเลยที่ 3 ในขณะที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กล่าวอ้างลอยๆ จึงไม่น่าเชื่อถือ ส่วนคุณงามความดีของจำเลยที่ 3 ที่กล่าวอ้างนั้น เป็นเรื่องประวัติและความดีของจำเลยที่ 3 อันเป็นคนละส่วนกับพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ซึ่งศาลต้องพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏจากการไต่สวน ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 4 กระทำความผิดหลายกรรมด้วยการมอบเช็ก 6 ฉบับตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 4 ฟังไม่ขึ้น

 

 

ศาลฎีกาชี้แล้ว ไม่ให้ประกัน คุมตัวส่งเรือนจำทันที

     ภายหลังการรับฟังคำพิพากษา นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความของนายสรยุทธ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เตรียมจะยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดและบัญชีเงินฝากขอประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งเดิมชั้นต้นได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดไว้ซึ่งศาลตีประกันชั้นต้น คนละ 2 ล้านบาท วันนี้ต้องรอดูว่าศาลจะพิจารณาตีหลักทรัพย์อย่างไร

     ขณะที่ในเวลาประมาณ 13.00 น. ศาลได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายสรยุทธ และจำเลยร่วมทั้งหมดแล้ว โดยจำเลยได้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด และบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาทแล้ว และศาลเห็นควรส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งประกันต่อไป โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ออกหมายขังจำเลยทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำก่อน ระหว่างรอฟังคำสั่งการประกันตัวจากศาลฎีกา

     ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลฎีกามีคำสั่งเกี่ยวกับการประกันตัวถึงศาลอาญาทุจริตฯ ที่จำเลยทั้งหมดได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวสู้คดี

     ซึ่ง ทนายความของนายสรยุทธ และคณะได้เข้าฟังคำสั่ง โดยศาลฎีกาพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์ในการประกันตัวของจำเลยทั้ง 3 รายเเล้วเห็นมีคำสั่งยังไม่ให้ประกันตัวจำเลยในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง

     สำหรับการยื่นคำร้องประกันตัวใหม่นั้น จำเลยทั้ง 3 สามารถยื่นได้ในเวลาต่อไปจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาศาลฏีกาในคดีหลักออกมา เพียงแต่การยื่นคำร้องใหม่นั้นจำเลยจะต้องระบุเหตุและข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูง

     ซึ่งนายสรยุทธ จะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่วนผู้ต้องขังหญิงคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

     สำหรับการยื่นฎีกาคดีของนายสรยุทธนั้น คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้ตามขั้นตอนปกติภายใน 30 วัน เนื่องจากคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจัดตั้งขึ้น และกฎหมายใหม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีทุจริตยังไม่ได้บังคับใช้ในขณะนั้น คดีนี้จึงดำเนินการตามกฎหมายทั่วไป

     เพราะหากเป็นคดีที่ยื่นฟ้องภายหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ระบบการฎีกาจะใช้ระบบการอนุญาตโดยผู้พิพากษา ซึ่งจะพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่

     ขณะที่การพิจารณาคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะใช้ระบบการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานจากทุกฝ่ายในการแสวงหาข้อเท็จจริง องค์คณะผู้พิพากษาสามารถเรียกเอกสารหลักฐานนอกเหนือจากที่ปรากฏในสำนวนของ ป.ป.ช. และอัยการได้

 

‘สรยุทธ’ เข้าคุกปฏิบัติตามขั้นตอนนักโทษใหม่

     นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการควบคุมตัวนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในระหว่างรอการพิจารณาประกันตัวของศาลฎีกาว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้รับหมายขังจากศาล ก็จะนำตัวนายสรยุทธมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเรือนจำก็ปฏิบัติตามขั้นตอนการควบคุมตัว ก่อนเข้าเรือนจำ คือทำประวัติ ตรวจร่างกาย ถ่ายรูป เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เหมือนกับผู้ต้องขังปกติที่ถูกนำตัวส่งเข้าเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาประกันของศาล โดยทางเรือนจำจะส่งตัวไปยังแดนแรกรับ อธิบายกฎระเบียบการใช้ชีวิตในเรือนจำเบื้องต้น สำหรับขั้นตอนการเยี่ยมญาติก็กระทำได้ปกติ มาติดต่อขอเยี่ยมในเวลา 08.00-15.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันเสาร์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเยี่ยมเพียง 12.00 น. เท่านั้น

     โดยกระบวนการหลังจากมาถึงเรือนจำ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ไปทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือและส่งให้แพทย์ตรวจร่างกาย พร้อมกับชี้แจงกฎการปฏิบัติตัวตามระเบียบของเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพในเรือนจำได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติของเรือนจำ

     นายสรยุทธจะถูกส่งไปอยู่ยังแดนแรกรับของผู้ต้องขังใหม่ และคาดว่าจะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และไม่ต้องย้ายไปเรือนจำอื่น เนื่องจากได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี

 

 

บนถนนสายสื่อมวลชนของสรยุทธ นับแต่นี้ไป…

     เส้นทางชีวิตการทำหน้าที่สื่อมวลชนของสรยุทธดูจะหดแคบลงและเดินสู่จุดที่น่าหวาดหวั่น ทันทีที่ศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาให้จำคุกเขา 13 ปี 4 เดือน เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 และตอกย้ำบทบาทการเดินบนเส้นทางนี้อีกครั้ง เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ให้ต้องรับโทษสถานหนักในจำนวนเดียวกัน รวมถึงจำเลยคนอื่นๆ ในคดีนี้ด้วย

     แน่นอนที่สุด หน้าจอทีวีนับแต่นี้คงไม่ปรากฏภาพของเจ้าของเสียงร้อง “ยามเช้าพี่ก็เฝ้าคิดถึงน้อง” ไปอีกพักใหญ่ จนกว่าหมอกควันของความชัดเจนแห่งคดีจะถึงที่สุด หากยื่นฎีกาและต่อสู้คดีต่อไป

     สำหรับคดีนี้ต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมมานานกว่า 2 ปี สรยุทธเดินทางไปศาลทุกนัด กระทั่งถึงขั้นตอนการตัดสินคดีในศาลอุทธรณ์ และเขาต้องเข้าไปสัมผัสบรรยากาศเรือนจำแล้ว เมื่อศาลฎีกาพิจารณายกคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวเพื่อออกมาสู้คดีในระหว่างยืนฎีกา โดยจะต้องยื่นประกันใหม่ จนกว่าจะมีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เพื่อให้ได้ประกันตัว

     และนับแต่นี้ มีเพียงสรยุทธเท่านั้นที่จะตอบคำถามและกำหนดเส้นทางของเขาในอนาคต และนี่คงเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากที่สุดในชีวิตของ ‘กรรมกรข่าว’ คนนี้

     หลายคนคงอยากรู้ว่า ในใจของสรยุทธเวลานี้คิดอย่างไร สื่อมวลชนที่ปักหลักรายงานข่าววันนี้ ก็ได้พบหน้าเพียงช่วงสั้นๆ เมื่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวเขา ในชุดเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงสเเล็กสีดำไปขึ้นรถตู้ที่เตรียมไว้

     และขณะที่หลายคนกำลังอ่านข้อเขียนนี้ รถเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครคงนำตัวสรยุทธไปส่งถึงเรือนจำเรียบร้อยแล้ว…

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X