×

สรยุทธ สุทัศนะจินดา อนาคต ชะตากรรม และชีวิตของ ‘กรรมกรข่าว’

28.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins Read
  • วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีค่าโฆษณาเกินเวลามูลค่า 138 ล้านบาทของ บจก. ไร่ส้ม และ พนักงาน อสมท โดยศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนคดีแล้วพิเคราะห์ว่า การอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืนให้จำคุกตามศาลชั้นต้น ’13 ปี 4 เดือน’
  • 29 ปีบนเส้นทางสื่อมวลชนของสรยุทธ มีจุดสูงสุดและจุดที่ต้องเผชิญชะตากรรมทางคดีอย่างหนัก ผลคำตัดสินในวันนี้จึงเป็นคำตอบอีกครั้งสำหรับเส้นทางชีวิตบนหน้าจอของกรรมกรข่าวคนดัง

      “ช่วงนี้ก็…คนมีคดีนะครับ จะมาบอกว่า สบายใจก็คงไม่ใช่ ฉะนั้นก็คงบอกแต่ว่า ทุกอย่างที่เราได้ทำมา เราทำเต็มที่ สิ่งที่เราทำมาก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้สังคมได้เห็นบ้าง และน่าจะได้เห็นเจตนาเราว่ามันเกิดอะไรขึ้นอย่างไร ก็อยู่ว่างๆ ครับ”
     ข้อความเปิดใจของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงของไทย เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ภายหลังสื่อมวลชนได้ถามถึงการใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมา
      จนในที่สุด วันนี้ (29 สิงหาคม) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีค่าโฆษณาเกินเวลามูลค่า 138 ล้านบาทของ บจก. ไร่ส้ม และ พนักงาน อสมท โดยศาลอุทธรณ์ประชุมตรวจสำนวนคดีแล้วพิเคราะห์ว่า การอุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมานั้นชอบแล้ว จึงพิพากษายืนให้จำคุกตามศาลชั้นต้น ’13 ปี 4 เดือน’
     โดยเมื่อช่วงเช้า นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา จำเลย และพิธีกรข่าวชื่อดัง ได้เดินทางมาถึงศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในเวลาประมาณ 9.00 น. เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ โดยใช้ประตูด้านหลังศาลและเข้าห้องพิจารณาทันที เนื่องจากบริเวณด้านหน้าศาลมีสื่อมวลชนจำนวนมากมาปักหลักรายงานข่าว
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสรยุทธมีสีหน้าวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด โดยมี นายตัน ภาสกรนที และภรรยา รวมทั้งทีมพิธีกรข่าวของรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ มาให้กำลังใจ พร้อมร่วมเข้าฟังการอ่านคำพิพากษาด้วย
      ขณะเดียวกัน ศาลอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟังการอ่านคำพิพากษาคดีเพียง 3 คนเท่านั้น โดยให้ส่งตัวแทนเข้าฟังในห้องพิจารณาคดีเพื่อความเรียบร้อยในการดำเนินกระบวนการ

 

 

ศาลฎีกาชี้แล้ว ไม่ให้ประกัน คุมตัวส่งเรือนจำทันที

     ภายหลังการรับฟังคำพิพากษา นายมนต์อนันต์ เรืองจรัส ทนายความของนายสรยุทธ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เตรียมจะยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดและบัญชีเงินฝากขอประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งเดิมชั้นต้นได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดไว้ซึ่งศาลตีประกันชั้นต้น คนละ 2 ล้านบาท วันนี้ต้องรอดูว่าศาลจะพิจารณาตีหลักทรัพย์อย่างไร

     ขณะที่ในเวลาประมาณ 13.00 น. ศาลได้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของนายสรยุทธ และจำเลยร่วมทั้งหมดแล้ว โดยจำเลยได้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด และบัญชีเงินฝากคนละ 4 ล้านบาทแล้ว และศาลเห็นควรส่งคำร้องให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่งประกันต่อไป โดยศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ออกหมายขังจำเลยทั้งหมด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำก่อน ระหว่างรอฟังคำสั่งการประกันตัวจากศาลฎีกา

     ต่อมาเวลา 16.30 น. ศาลฎีกามีคำสั่งเกี่ยวกับการประกันตัวถึงศาลอาญาทุจริตฯ ที่จำเลยทั้งหมดได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวสู้คดี

     ซึ่ง ทนายความของนายสรยุทธ และคณะได้เข้าฟังคำสั่ง โดยศาลฎีกาพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์ในการประกันตัวของจำเลยทั้ง 3 รายเเล้วเห็นมีคำสั่งยังไม่ให้ประกันตัวจำเลยในชั้นนี้ จึงให้ยกคำร้อง

     สำหรับการยื่นคำร้องประกันตัวใหม่นั้น จำเลยทั้ง 3 สามารถยื่นได้ในเวลาต่อไปจนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาศาลฏีกาในคดีหลักออกมา เพียงแต่การยื่นคำร้องใหม่นั้นจำเลยจะต้องระบุเหตุและข้อเท็จจริงใหม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมของศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูง

     ซึ่งนายสรยุทธ จะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่วนผู้ต้องขังหญิงคุมตัวไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

     สำหรับการยื่นฎีกาคดีของนายสรยุทธนั้น คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้ตามขั้นตอนปกติภายใน 30 วัน เนื่องจากคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ก่อนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางจัดตั้งขึ้น และกฎหมายใหม่เกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีทุจริตยังไม่ได้บังคับใช้ในขณะนั้น คดีนี้จึงดำเนินการตามกฎหมายทั่วไป

     เพราะหากเป็นคดีที่ยื่นฟ้องภายหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ระบบการฎีกาจะใช้ระบบการอนุญาตโดยผู้พิพากษา ซึ่งจะพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์หรือไม่

     ขณะที่การพิจารณาคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จะใช้ระบบการไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานจากทุกฝ่ายในการแสวงหาข้อเท็จจริง องค์คณะผู้พิพากษาสามารถเรียกเอกสารหลักฐานนอกเหนือจากที่ปรากฏในสำนวนของ ป.ป.ช. และอัยการได้

 

 

‘สรยุทธ’ เข้าคุกปฏิบัติตามขั้นตอนนักโทษใหม่

     นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงการควบคุมตัวนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในระหว่างรอการพิจารณาประกันตัวของศาลฎีกาว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้รับหมายขังจากศาล ก็จะนำตัวนายสรยุทธมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเรือนจำก็ปฏิบัติตามขั้นตอนการควบคุมตัว ก่อนเข้าเรือนจำ คือทำประวัติ ตรวจร่างกาย ถ่ายรูป เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย เหมือนกับผู้ต้องขังปกติที่ถูกนำตัวส่งเข้าเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาประกันของศาล โดยทางเรือนจำจะส่งตัวไปยังแดนแรกรับ อธิบายกฎระเบียบการใช้ชีวิตในเรือนจำเบื้องต้น สำหรับขั้นตอนการเยี่ยมญาติก็กระทำได้ปกติ มาติดต่อขอเยี่ยมในเวลา 08.00-15.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ ส่วนวันเสาร์ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเยี่ยมเพียง 12.00 น. เท่านั้น

     โดยกระบวนการหลังจากมาถึงเรือนจำ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะรับตัวผู้ต้องขังใหม่ไปทำประวัติ พิมพ์ลายนิ้วมือและส่งให้แพทย์ตรวจร่างกาย พร้อมกับชี้แจงกฎการปฏิบัติตัวตามระเบียบของเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพในเรือนจำได้ ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติของเรือนจำ

     นายสรยุทธจะถูกส่งไปอยู่ยังแดนแรกรับของผู้ต้องขังใหม่ และคาดว่าจะถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และไม่ต้องย้ายไปเรือนจำอื่น เนื่องจากได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี

 

 

 

 

 

 

 

 

29 ปีบนเส้นทางสื่อของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา

     10 กว่าปีให้หลัง ห้วงเวลาที่ผ่านมาของวงการทีวีไทย รวมทั้งภาพใหญ่ของวงการสื่อมวลชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าชายที่ชื่อ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ มีอิทธิพลต่อผู้คนในประเทศนี้มากขนาดไหน

     ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจับรีโมตกดดูทีวีก็ต้องได้ยินเสียงของเขา จนเป็นกระแสฟีเวอร์อย่างแรงถึงขนาดในปี 2548 รายการทีวีชื่อดังอย่าง แฟนพันธ์ุแท้ ได้จัดการแข่งขันในตอนของสรยุทธด้วย

     ลีลาและสไตล์การเล่าข่าวของเขาต้องใช้คำว่า ‘พีก’ มาก่อนหน้าที่จะทำรายการกับช่องน้อยสีแล้ว เมื่อเขาสวมบทบาทเป็นคนกลาง เชิญผู้ร่วมสนทนาจากทุกฝ่ายมานั่งถกบนโต๊ะกลมในรายการเวลาดึกอย่าง ถึงลูกถึงคน

     ตอนนั้นมีเสียงเล่าลือว่า ใครได้ออกกับสรยุทธคือที่สุดของจริง แม้ช่วงหลังก็ยังมีวลีติดปากว่า ถ้าจะให้เป็นข่าว เป็นกระแส ต้องร้องเรียนหรือให้เป็นข่าว ‘ถึงสรยุทธ’ ให้ได้

     ย้อนกลับไปกว่าจะมีวันนี้ สรยุทธสำเร็จการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) เมื่อปี 2530

     5 พฤษภาคม 2531 คือจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพนักข่าวสายการเมือง โดยเขาเริ่มงานกับหนังสือพิมพ์ The Nation จากนั้นก็เติบโตไปตามสายงานตามลำดับ

     โดยทำข่าวสายรัฐสภาเป็นเวลา 2 ปี และทำข่าวสายทำเนียบรัฐบาล 2 ปี ต่อมาในปี 2535 ได้ประจำกองบรรณาธิการในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าข่าวการเมือง และในปี 2537 ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นหัวหน้าข่าวการเมือง ในปี 2540 ได้มาเป็นบรรณาธิการข่าวและจัดรายการวิเคราะห์ข่าวให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ สุดท้ายเป็นรองบรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ The Nation และลาออกจากเครือเนชั่นในเวลาต่อมา

     เวทีแจ้งเกิดทางหน้าจอของสรยุทธคือสถานีโทรทัศน์ iTV ช่วงนั้นเขารับหน้าที่ในฐานะนักวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์

     ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นยังมีรายการข่าวที่ทำร่วมกับช่อง 9 ในชื่อ คุยคุ้ยข่าว รวมถึงรายการ ถึงลูกถึงคน ทั้งสองรายการนี้ส่งให้ชื่อของสรยุทธ สุทัศนะจินดา โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ

     หลังการรัฐประหารในปี 2549 มีการเปลี่ยนแปลงในช่อง 9 ทั้งสองรายการถูกยุติบทบาท สรยุทธจึงย้ายมาประจำการที่ช่อง 3 จัดรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ และ เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งชื่อเสียงของเขาก็ยังโด่งดังชนิดหยุดไม่อยู่ทีเดียว

     ขณะเดียวกัน ไม่ใช่แค่งานหน้าจอเพียงเท่านั้นที่สรยุทธทำได้ดี เขายังถูกจดจำและถูกกล่าวถึงในฐานะ ‘นักเขียน’ ด้วย มีผลงานที่บันทึกไว้ในบรรณพิภพ ได้แก่ การเป็นคอลัมนิสต์ในนิตยสาร ในหนังสือพิมพ์ และผลงานหนังสือเล่มที่มีชื่อเสียงก็คือซีรีส์ กรรมกรข่าว มี 4 เล่ม ได้แก่ กรรมกรข่าว, กรรมกรข่าว 2 งานรับเหมา, คุยนอกสนาม และ กรรมกรข่าว 3

 

 

     ส่วนบริษัทไร่ส้ม ก่อตั้งขึ้นภายหลังสรยุทธลาออกจากเนชั่น และดำเนินกิจการต่อจากนั้นมา มีผลประกอบการที่ตัวเลขสูงพอสมควร และบริษัทก็มีชื่อเสียงอย่างมากในเวลาไม่นาน ด้วยลีลาและบุคลิกที่สามารถตรึงคนดูให้อยู่หมัดได้

     ในฐานะผู้บริหารบริษัท สรยุทธดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด (ผลิตรายการโทรทัศน์) และ บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด (รับจัดงานและกิจกรรม)

     สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า บริษัท ไร่ส้ม จำกัด และ บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด มีรายได้ในรอบ 8 ปีกว่า 2,600 ล้านบาท

     นับตั้งแต่ก่อตั้ง บริษัท ชัดถ้อยชัดคำ จำกัด เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สรยุทธถือหุ้น 79.99% และก่อตั้ง บริษัท ไร่ส้ม จำกัด เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท สรยุทธถือหุ้น 99.98% จากการรวบรวมผลประกอบการตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงสิ้นปี 2554 (8 ปี)

     ทั้งสองบริษัทมีรายได้รวม 2,624,570,323.10 บาท

     กำไรสุทธิ 1,047,275,753.81 บาท

     สินทรัพย์ ปี 2554 รวม 273,839,213 บาท

     กว่า 29 ปีในวงการสื่อสารมวลชน สรยุทธได้รับรางวัลสาขาวิทยุโทรทัศน์แทบทุกเวที ไม่ว่าจะเป็น รางวัลเทพทองพระราชทาน, รางวัลเมขลา, รางวัลโทรทัศน์ทองคำ, รางวัลนาฏราช และรางวัลท็อปอวอร์ดส ปัจจุบันเขามีอายุ 51 ปีแล้ว

 

 

วิบากกรรม ‘สรยุทธ’ เส้นทางสื่อที่ไม่ราบรื่น

     เคยมีคำกล่าวว่า ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทางสู่ความสำเร็จอาจไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด ฉันใดก็ฉันนั้น ชีวิตของ ‘กรรมกรข่าว’ ผู้รุ่งโรจน์ก็มีอันต้องเจอกับพายุลูกใหญ่ที่พัดกระหน่ำชีวิต

     เมื่อเดือนกรกฎาคม 2549 นางบุณฑนิก บูลย์สิน รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักการตลาด 1 ได้สังเกตพบว่า รายการข่าวเที่ยงคืนมีการออกอากาศล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนด จึงได้ทำการตรวจสอบและเรียก นางพิชชาภา เอี่ยมสอาด มาสอบถามต่อหน้าทุกคน

     ซึ่งนางพิชชาภาได้รับสารภาพต่อหน้าทุกคนว่า บริษัทไร่ส้มมีการโฆษณาเกินเวลา และไม่มีการรายงานเพื่อเรียกเก็บเงินจริง และนางพิชชาภาได้ใช้น้ำยาลบคำผิดเฉพาะคิวโฆษณาเกินเวลาในส่วนของบริษัทไร่ส้มในใบคิวโฆษณารวมของ อสมท เพื่อปกปิดความผิดที่ได้กระทำขึ้นตามคำแนะนำของนายสรยุทธ และ นางสาวมณฑา ธีระเดช พนักงานของบริษัทไร่ส้ม ก่อนที่จะเกิดการตรวจสอบเรื่องนี้ขึ้น โดยมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ อสมท คือจำนวนเงินกว่า 138 ล้านบาท

     ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ว่า การกระทำของนางพิชชาภามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 การกระทำของ นางอัญญา อู่ไทย ซึ่งเป็นหัวหน้างานและเป็นผู้บังคับบัญชาในฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้า สำนักกลยุทธ์การตลาด อสมท มีมูลความผิดทางวินัย

     การกระทำของนายสรยุทธ และนางสาวมณฑา ซึ่งได้ใช้ให้นางพิชชาภาไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ และบริษัทไร่ส้ม (ในฐานะนิติบุคคล) มีมูลความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดตามมาตรา 6, 8, 11 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

     หลังจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งรายงานถึงอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลในคดีอาญา และทั้งสองหน่วยงานมีความเห็นร่วมกันว่า สมควรสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557

     หลังจากต่อสู้ดีมาเกือบ 2 ปี ศาลชั้นต้นก็มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งหมดมีความผิด และต้องรับโทษตามกฎหมาย

     การตัดสินคดีครั้งนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้งในวงการสื่อของนักเล่าข่าว, กรรมกรข่าว, เจ้าสัวข่าว ซึ่งแล้วแต่ใครจะเรียก และยังเป็นเจ้าของเสียงร้อง ‘ยามเช้าพี่ก็เฝ้าคิดถึงน้อง’ นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาคุก 13 ปี 4 เดือน เส้นทางคนข่าวที่แคบลง

     ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย ได้แก่

     นางสาวพิชชาภา เอี่ยมสอาด อดีตพนักงานบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

     นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา

     บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดย นางสาวอังคณา วัฒนมงคลศิลป์ และ นางสาวสุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม จำกัด

     นางสาวมณฑา ธีระเดช พนักงาน บริษัท ไร่ส้ม จำกัด

     กรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 กว่า 138 ล้านบาท

     ศาลพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 3 คนคือ

     นางสาวพิชชาภา มีความผิดตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 30 ปี นำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือ 20 ปี

     บริษัท ไร่ส้ม จำกัด สั่งปรับเงิน 1.2 แสนบาท ลดเหลือ 8 หมื่นบาท

     นายสรยุทธ และ นางสาวมณฑา มีความผิดฐานสนับสนุนตามมาตรา 6, 8 และ 11 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุก 20 ปี

     ทั้งนี้นายสรยุทธ และนางสาวมณฑา นำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ

     ในระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ นายสรยุทธและจำเลยอีก 2 คน ได้ใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 2 ล้านบาท ยื่นขอปล่อยชั่วคราว ต่อมาศาลอนุญาตและมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ โดยให้มารายงานตัวทุก 30 วัน

     ผลของคำพิพากษากลายเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางที่ดูจะหดแคบลงในชีวิต ‘กรรมกรข่าว’ ผู้นี้ ซึ่งโลดแล่นอยู่ในวงการมานานกว่า 29 ปี เพราะภายหลังการตัดสินคดี มีกระแสเรียกร้องให้เขายุติบทบาทหน้าที่การทำงานในฐานะพิธีกรข่าวของรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มาเป็นเวลานับสิบปี และแม้ว่าในเช้าวันต่อมาเขาจะทำหน้าที่ตามปกติ โดยรายงานข่าวคดีทุจริตไร่ส้มเป็นอันดับแรก และระบุในรายการว่า พร้อมต่อสู้ตามกระบวนการในชั้นศาล

     หมอกควันของกระแสเรียกร้องให้เขายุติบทบาทหน้าจอดูจะไม่จางลงแต่อย่างใด แถมยังหนาแน่นขึ้นทุกขณะ เมื่อบรรดาเพจต่างๆ ได้มีการออกมารณรงค์ให้บอยคอต เลิกดูช่อง 3 รวมทั้งมีการพิจารณาถอดโฆษณาออกจากรายการดังกล่าวด้วย

     แม้ว่ามติการประชุมคณะผู้บริหารของช่อง 3 จะได้ข้อสรุปว่า ยังคงสนับสนุนนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ให้ทำงานร่วมกับช่องต่อไป หลังร่วมงานกันมานานกว่า 12 ปี โดยให้เหตุผลต่อสังคม ในเวลานั้นว่า กรณีดังกล่าวเกิดก่อนจะมีการร่วมงานกัน อีกทั้งคดียังไม่สิ้นสุด และอยู่ระหว่างการพิสูจน์ในชั้นศาล

     แต่สุดท้ายในวันที่ 3 มีนาคม 2559 สรยุทธก็ได้ออกมาเขียนข้อความผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว ประกาศขอยุติการทำหน้าที่พิธีกร โดยระบุว่า

     “ตั้งแต่เย็นนี้ ผมขอยุติการทำหน้าที่พิธีกร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3 เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ขอบคุณครอบครัวช่อง 3 ขอบคุณแฟนข่าว ขอบคุณทุกกำลังใจ จนกว่าเราจะพบกันใหม่ครับ”

 

 

     การยุติบทบาทของเขาอาจลดแรงกระเพื่อมจากสังคมลงได้ แต่ที่กระทบมากที่สุดก็คือช่อง 3 ในเวลานั้นเรตติ้งลดฮวบ และมีผลต่อธุรกิจ โดยเฉพาะโฆษณาไม่น้อย

 

 

     และหลังจากวันนั้น เราก็ไม่เคยเห็นบทบาทสรยุทธบนหน้าจอทีวีอีกเลย จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในภาคใต้ ทำให้ชื่อของสรยุทธ สุทัศนะจินดา หวนกลับมาอีกครั้ง

     ครั้งนี้ปรากฏบนหน้าจอเช่นเดียวกัน หากแต่เป็นหน้าจอเฟซบุ๊กที่เรียกว่าการ live อันส่งผลสะเทือนจนเป็นปรากฏการณ์แห่ง ‘โลกออนไลน์’ ในวงการสื่อเวลานั้น

      ส่วนวันนี้ เราคงได้รู้คำตอบแล้วว่า ‘สรยุทธ’ อาจจะต้องลาจอไปอีกยาว…

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising