วันนี้ (10 กรกฎาคม) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งวัฒนะ สนธิญา สวัสดี ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อร้องสอบข้อเท็จจริง กรณีการลงคะแนนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ตำแหน่ง เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อัยการส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้กระบวนการเลือกดังกล่าวเป็นโมฆะ และยุติการปฏิบัติหน้าที่
สนธิญากล่าวว่า การโหวตเลือกประธานสภา และรองประธานสภาทั้ง 2 คน ตนมองว่าผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
ซึ่งในวันดังกล่าว วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานสภาชั่วคราว ได้อ้างข้อบังคับการประชุมสภามาใช้ จากการมีผู้เสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เพียงชื่อเดียว จึงยกให้เป็นประธานสภาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า การรับเป็นประธานสภาจะต้องมีมติจากที่ประชุมโดยชัดเจน ซึ่งต้องได้รับการลงมติจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่วันนั้นกลับไม่มีเลย
นอกจากนี้ สนธิญายังได้ร้องเรียนให้ตรวจสอบ กรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดหลังแถลงข่าวร่วมกับพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ว่าจะมีการเสนอชื่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภา ว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
สนธิญากล่าวว่า การที่พิธาพูดไว้ก่อนเลือกประธานสภาถือเป็นการบังคับ ส.ส. หรือไม่ รวมไปถึงการที่พิธาพูดว่า 8 พรรคร่วมจะโหวตให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ถือว่าเป็นการบังคับ ส.ส. หรือไม่