×

ผ่าดีลการเมือง จุดตายพลังชล พรรคท้องถิ่นนิยมขายไม่ได้ สนธยาต้องจับมือร่วมงาน คสช.

19.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สองพี่น้อง ‘สนธยา-อิทธิพล’ แห่งตระกูลคุณปลื้ม หัวเรือใหญ่พรรคพลังชล ประกาศร่วมงานกับรัฐบาล คสช.
  • มี 3 เงื่อนไขให้มองถึงการตัดสินใจแบบนั้น แต่ยามนี้โจทย์ใหญ่คือ อำนาจ และฐานที่มั่นที่ต้องรักษา และแน่นอน ‘พลังชล’ ในฐานะพรรคท้องถิ่นนิยมขายไม่ได้ในการเมืองระดับชาติต่างพื้นที่

จังหวะการเมืองเวลานี้เรียกว่าเปิดหน้ารุก ตั้งเกมรับ ชนิดที่เรียกว่า ‘ไม่ไว้หน้า’ กันเลยทีเดียว ด้วยเหตุฉับพลันทางการเมืองที่ไม่ทันตั้งตัว แต่ตั้งใจไว้แน่นอนมาล่วงหน้าแล้วก็คือกรณีที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เซ็นแต่งตั้งสองพี่น้องตระกูล ‘คุณปลื้ม’ เข้ามาทำงานร่วมรัฐบาล คสช. โดยมีพี่ชาย สนธยา คุณปลื้ม เป็นที่ปรึกษานายกฯ ส่วนน้องชาย อิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา รั้งตำแหน่ง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

 

หลายคนไม่สงสัยในเกมรุกที่ขยับจังหวะนี้ ด้วยมีเสียงเซ็งแซ่หนาหูมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้แล้วว่า นายกฯ ได้ส่งเทียบเชิญชวนสนธยามาร่วมงานด้วยกันเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ ความชัดเจนมากที่สุดก็คือเหตุการณ์หลังพบกันคราว ครม. สัญจรที่จันทบุรี เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ ครั้งนั้นสนธยาบอกปัด ปฏิเสธเสียงแข็งว่า “ไม่มีดีลทางการเมือง” กับทหารอย่างแน่นอน แต่แล้วก็ล่อนจ้อนให้เห็นอย่างที่สื่อหลายสำนักเทหน้าตักรายงานเป็นข่าวใหญ่จากทำเนียบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

 

Photo: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ประยุทธ์-สนธยา คนละเรื่องเดียวกัน

หากให้วิเคราะห์ท่าทีและเกมหมากกระดานนี้ ว่าเหตุไฉนสองพี่น้องตระกูลคุณปลื้ม กลุ่มการเมืองที่มีอิทธิพลในชลบุรีและภาคตะวันออก ซึ่งเคยแต่งตัวเป็นพรรคท้องถิ่นนิยมในนาม ‘พลังชล’ จึงตกปากรับคำเทียบเชิญนี้ ก็ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองยามนี้หนักหนา และ ‘อนาคต’ ย่อมสำคัญ ทั้งอำนาจและกลิ่นกรุ่นเก้าอี้เสนาบดีช่างหอมหวน

 

พลันที่ข่าวนี้ตกถึงมือสื่อ ได้มีการต่อสายตรงไปยังสนธยาในทันที ได้คำตอบว่า “ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นการเมือง และไม่ใช่เรื่องเงื่อนไขที่เป็นข้อตกลงทางการเมืองแต่อย่างใด สำหรับเรื่องนี้ได้พูดคุยกับรองนายกฯ สมคิด ซึ่งสืบเนื่องมาจากเรื่องอีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้ร่วมทำมาตั้งแต่เริ่มต้น” นั่นคือคำตอบจากปากคนถูกส่งเทียบเชิญ

 

ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามสื่อเรื่องนี้ว่า “ผมจำเป็นต้องมีคนเหล่านี้มาบ้าง เพื่อมาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายความว่าเอาคนนี้มาเพื่อเป็นประโยชน์ของผม วันนี้กำลังจะเดินหน้าไปสู่ตรงนั้น ผมก็ต้องมีคนที่รู้ในเรื่องเหล่านี้มาให้คำปรึกษา เพราะผมก็ไม่รู้ว่าการเมืองมันทำกันมาอย่างไร ผมก็ต้องรู้บ้าง”

 

การตอบคำถามจากคนทาบและคนตอบตกลงที่เหมือนจะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน เพราะคำตอบถึงการเข้ามาช่วยงานเรื่อง ‘อีอีซี’ ดูจะเป็นสูตรสำเร็จ หรือให้บังเอิญไปประจวบเหมาะตรงกับคำตอบคราวที่ สกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่ได้เข้ามาพบรองนายกฯ สมคิด ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่ามาด้วยเรื่องอีอีซีเช่นเดียวกัน จนสุดท้ายก็ไปนั่งกินตำแหน่ง ‘รองผู้ว่า กทม.’ โบกมือลาสมาชิกพรรคการเมืองเก่าแก่ของไทย ท่ามกลางกระแสเตรียมร่วมพรรค คสช. ที่ยังไม่มีชื่อทางการ แต่มีตึกบัญชาการอยู่ที่ไหนใครๆ ก็แลเห็นอยู่

 

 

3 ปัจจัยส่งให้พลังชลไปต่อกับ คสช.

เหตุปัจจัยที่พอจะให้มองจากนอกไปใน ถึงการตัดสินใจจังหวะนี้ทางการเมืองของ สนธยาจึงเป็นเรื่องที่ต้องชวนตั้งข้อสังเกตและจับชีพจรที่เต้นตามแรงดูดได้ดังนี้

 

1. พลังชล พรรคท้องถิ่นนิยม ขายได้แต่ในชลบุรี: ก่อนการเมืองเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 มีการก่อตั้งพรรคพลังชลขึ้น หวังหลีกกระแสการเมืองเหลือง-แดง ที่ร้อนแรงมาก่อนหน้า จึงกระชับพื้นที่ฐานเสียงตัวเองในจังหวัดชลบุรี หวังกินรวบ ส.ส. ในบ้านและภาคตะวันออกบางส่วนมาไว้ในกำมือ เพื่อแปลงคะแนนเสียงผู้แทนในสังกัดเป็นเก้าอี้รัฐมนตรี นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้น ‘พรรคท้องถิ่นนิยม’ ที่ชื่อพลังชลผ่านเลือกตั้งใหญ่เวลานั้นกวาด ส.ส. มาได้ 7 คน และร่วมกับเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้เก้าอี้ รมว. วัฒนธรรม

 

แต่ทว่าคราวนี้ไม่ง่าย เพราะกติกายากขึ้น ยิ่งส่งผู้แทนน้อยโอกาส ปาร์ตี้ลิสต์ หรือสัดส่วนยิ่งไม่เห็นทาง แถมชื่อพลังชลกลายเป็น ‘จุดตาย’ สำคัญ เพราะสร้างมาเพื่อโกยคะแนนในบ้าน แต่นอกบ้านขาดพลังที่จะขยายต่อ ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า เพียง พรรคพลังชลมาหาเสียงที่ระยองก็ดูจะเชื่อได้ยากแล้ว เพราะพลังชลไม่อิน หรือไม่สามารถกลายเป็นพลังระยองได้อย่างน่าเชื่อถือ ยังไม่นับจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องตกที่นั่งเหมือนกัน

 

นี่จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญของพรรคท้องถิ่นนิยมในแง่สถาบัน ที่หากพูดตรงๆ ไปไกลกว่าวาทกรรมทางการเมืองที่จะดูแลแต่เขตที่เลือกผู้แทนจากพรรคตนเองเท่านั้น หากแต่รูปแบบนี้ พรรคได้เลือกทางมาตั้งแต่ก่อรูป จึงเป็นเหตุใหญ่ที่ต้องเปลี่ยน ‘จุดตาย’ ให้เป็น ‘จุดฟื้นคืนชีพ’ ทางการเมืองต่อไปให้ได้

 

นิตยสาร ผู้นำท้องถิ่น ปีที่ 2 ฉบับวันที่ 24 พฤศจิกายน 2545

 

2. กำนันเป๊าะ นักเลงเรียกพี่ รัฐมนตรีเรียกพ่อ: สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ตำนานเจ้าพ่อเมืองชลผู้โด่งดัง คือบิดาของสนธยา อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่ยามนี้ต้องโทษและป่วยหนักจนต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และในรัฐบาลนี้ เมื่อ ธันวาคม ปี 2560 พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ และ รมว. ยุติธรรม ได้เซ็นอนุมัติพักโทษกรณีพิเศษให้ กำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลื้ม ในวัย 80 เป็นผู้ต้องขังเข้าหลักเกณฑ์พิเศษ หลังป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายและอายุเกิน 70 ปี ระบุเป็นการดำเนินการตามหลักมนุษยธรรม ให้โอกาสกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัว ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และนี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกที่จะนำตัวกำนันเป๊าะออกมารักษาตัวนอกเรือนจำ ก่อนหน้านี้ก็เคยดำเนินการมาแล้ว

 

 

3. ขุมข่ายการเมืองท้องถิ่นที่ต้องรักษา: อย่างที่รู้กันในแวดวงการเมืองว่า 5 พี่น้อง แห่งตระกูลคุณปลื้ม 4 ลูกชายของกำนันเป๊าะเดินเข้าสู่ถนนการเมืองหมด เหลือเพียง 1 ลูกสาวคุมธุรกิจครอบครัว แน่นอนว่าหัวหาดการเมืองท้องถิ่นหลักๆ ในจังหวัดชลบุรีล้วนเป็นตระกูลคุณปลื้มที่ยึดครอง และแผ่ขยายอาณาจักรในรูปเครือข่ายไปในพื้นที่ชลบุรีแทบทั้งจังหวัด นับแต่บุตรชายคนโต สนธยา คุณปลื้ม เป็น ส.ส. ชลบุรี จนได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นหัวเรือใหญ่ของพี่น้องในทางการเมืองและเรื่องอื่นๆ แทนพ่อในยามนี้ ถัดมาคือ วิทยา คุณปลื้ม นั่งตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ส่วน อิทธิพล คุณปลื้ม เคยเป็นนายกเมืองพัทยา ก่อนหลุดเก้าอี้ เนื่องจากหมดวาระ และน้องชายคนสุดท้อง ณรงค์ชัย คุณปลื้ม ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแสนสุข

 

ขุมข่ายการเมืองในจังหวัดชลบุรี แม้จะเรียกว่า ‘แข็งแรง’ มาแต่ไหนแต่ไร ยากที่ใครจะท้าชน ล้มยักษ์ให้หงายท้องได้ง่าย แต่ยามนี้ ยามที่ ‘การเมืองท้องถิ่น’ ถูกสั่นคลอน ในหลายจังหวัด ขุมข่ายต้องหยุดชะงัก จึงจำเป็นที่จะต้องหาฐานยึดให้มั่น หลายตระกูลหลายกลุ่มก้อนการเมืองถูกตรวจสอบ ถูกทาบทามเข้ามาร่วมงาน มีรายงานข่าวอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น ‘สะสมทรัพย์’ แห่งนครปฐม รวมถึงพื้นที่อื่นๆในภูมิภาคต่างๆ จึงไม่น่าเป็นเรื่องเกินคาดหมาย หากจะมีเหตุผลเพื่อรักษา ‘อำนาจ’ ฐานรากที่มั่นคง เป็นเหตุผลในการตัดสินใจทางเลือกนี้

 

 

โมเดลการเมือง เมื่อสนธยาขยับ กลุ่มอื่นอาจตัดสินใจง่ายขึ้น

แน่นอนว่าการตัดสินใจใดๆ ย่อมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย การขยับของนักการเมืองแบบสนธยาย่อมไม่ใช่เหตุบังเอิญ และไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง ที่นักการเมืองพร้อมจะย้ายข้าง สลับขั้ว เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองที่ลงตัว

 

หากแต่ที่ผ่านมา คสช. เป็นผู้ประกาศปูทางปฏิรูปการเมือง ไม่เอาอีกแล้วการเมืองแบบเดิมๆ แบบที่ได้นักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง แต่การประกาศจับมือดึงนักการเมืองขั้วเก่าเข้ามาร่วมงานจึงเป็นคำถามใหญ่ว่า ต้องการปูทางไปสู่ฤดูกาลเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงหรือไม่…และไม่ใช่แต่เพียงค่ายพลังชล ปฏิบัติการดูด ดึงว่ากันว่าเดินเครื่องเต็มสูบมาพักใหญ่แล้ว แต่ ‘เลือกตั้ง’ ยังกลับไปกลับมา ไม่ชัดเจนเหมือนจังหวะนี้

 

ถึงจุดนี้พลังชลอาจมีแต้มต่อ เพราะไม่รู้เลือกตั้งที่ว่าเลื่อนรอบที่ 5 แล้วจะได้หย่อนบัตรกันเมื่อไร แต่มีการันตีจาก คสช. ให้อยู่นานไปพร้อมกันได้ แถมมีอำนาจในมือ ได้ทำงานเพื่อชาติไปอีกระยะ อาจจะเป็นโมเดลให้กลุ่มการเมืองที่ยังไม่ตัดสินใจลองประเมินหรือดูเป็นตัวอย่างก็ได้

 

นับแต่นาทีนี้ การเมืองใกล้ตัวประชาชนเข้ามายิ่งนัก ความคึกคักเริ่มขยับปริมณฑลเข้าใกล้จุดพีก…นอกจากต้องจับตาความเคลื่อนไหว อ่านให้ออก มองให้เห็น ช่วยกันดูแล้วต้องมาประเมินกันว่า ‘อีอีซี’ ที่ได้มือดีอย่างสนธยาเข้ามาเดินงานจะไปได้สวยขนาดไหน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X