ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผย ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.6 จากระดับ 46.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แล้ว โดยครัวเรือนยังกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ยังไม่นับรวมภาระหนี้สินที่มีอยู่ โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วบางส่วนจากการจองที่พัก จองตั๋วเครื่องบิน หรือซื้อโปรแกรมทัวร์ เป็นต้น ประกอบกับเป็นช่วงปิดภาคเรียนของบุตรหลาน ค่าใช้จ่ายช่วงวันหยุดจึงสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับขึ้นราคาในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึง 3 ครั้ง จึงสะท้อนมุมมองที่มีต่อระดับราคาพลังงานในประเทศ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการสำคัญ เช่น อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ยางพาราสุกร ฯลฯ มีแนวโน้มราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา จึงยังเป็นปัจจัยกดดันรายได้ของเกษตรกรซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ผู้บริโภคยังกังวลเรื่องการใช้จ่าย แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับช่วงวันหยุดยาวอย่างเทศกาลสงกรานต์ 2561 จากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 1,222 คนจากทั่วประเทศ คาดการณ์ว่าเงินสะพัดจะสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท และเมื่อพิจารณาอันดับของฝากยอดนิยมที่มอบให้แก่กันได้ข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
- ให้เงินสด คิดเป็น 35.8%
- อาหาร 17.1%
- หัตถกรรมไทย 16.9%
- ผลไม้ 14.3%
- เครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ 7.3%
- สินค้า OTOP 7.1%
- สินค้าคงทน (เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์) 0.8%
- สินค้าหรูหรา (เครื่องประดับ ทอง) 0.5%
- ดอกไม้ 0.2%
เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาสำคัญของครอบครัว การซื้อของฝากหรือมอบเงินให้กับบุคคลที่รักเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความมั่นคงของรายได้และหน้าที่การงาน สิ่งที่น่ากังวลคือ การกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาบริโภคในช่วงเทศกาลนี้ ซึ่งต้องจับตาดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงเกือบ 80% ของ GDP นี้ต่อไป
อ้างอิง:
- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย