ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2562 เกิดอุบัติเหตุ 567 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้บาดเจ็บ 598 คน รวม 4 วัน (11-14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุ 2,232 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 237 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,322 คน สั่งการจังหวัดเน้นการเรียกตรวจของด่านชุมชน กวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงให้จังหวัดบูรณาการเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรเพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชน
พลตำรวจโท ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เปิดเผยว่าศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ ‘ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร’ เกิดอุบัติเหตุ 567 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้บาดเจ็บ 598 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ 42.86% และขับรถเร็ว 25.40%
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 78.31%
ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง 67.55% บนถนนใน อบต. หรือหมู่บ้าน 37.74% ถนนกรมทางหลวง 37.39%
ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. อยู่ที่ 29.10%
ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป 22.22%
ทั้งนี้ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,039 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,337 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,072,767 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 238,111 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 65,349 ราย ไม่มีใบขับขี่ 58,950 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (21 ครั้ง)
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย และร้อยเอ็ด (20 คน)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (11-14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุ 2,232 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 237 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,322 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 12 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ตราด นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พังงา แม่ฮ่องสอน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุโขทัย อ่างทอง และอำนาจเจริญ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (81 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และอุดรธานี (11 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (82 คน)
พลตำรวจโท ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่าถนนสายรองและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากหลายพื้นที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์และเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ารถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงมีสาเหตุหลักจากการขับรถเร็วและดื่มแล้วขับ ประกอบกับในวันนี้หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์ ทางศูนย์ฯ จึงได้กำชับให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเน้นการเรียกตรวจของด่านชุมชนเพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงดูแลความปลอดภัยในบริเวณสถานที่เล่นน้ำสงกรานต์และบริเวณจัดงานรื่นเริง และดูแลการเปิด-ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง โดยกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่าวันนี้ประชาชนบางส่วนยังคงท่องเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ ในขณะที่บางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ จึงขอให้จังหวัดบูรณาการเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้เกิดความคล่องตัว รวมถึงจัดเตรียมจุดบริการ จุดพักรถ และระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอในการรองรับการเดินทางกลับของประชาชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่เตรียมความพร้อมในการเดินทางผ่านทุกช่องทางสื่อ ทั้งการเตรียมร่างกาย ตรวจสอบสภาพรถ และวางแผนการใช้เส้นทางอย่างเหมาะสม เพื่อให้การเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่าจากการตรวจสอบสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 15-16 เมษายน 2562 พื้นที่ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนในลักษณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ทำให้สภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดี จึงขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางเป็นพิเศษ ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ จึงได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครมีความเข้มข้นในการดูแลเส้นทางที่มีจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวเพื่อป้องกันการหลับใน ท้ายนี้ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนว่า ไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เพื่อความปลอดภัย ควรหยุดพักรถทุก 1-2 ชั่วโมง รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์