×

สงกรานต์ 2564 กับโควิด-19 ต้องไปต่อ…หรือพอแค่นี้?

08.04.2021
  • LOADING...
สงกรานต์ 2564 กับโควิด-19

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • หลายคนเตรียมจองที่พักและวางแผนที่เที่ยวช่วงสงกรานต์กันไว้แล้ว แต่กลับเกิด ‘คลัสเตอร์สถานบันเทิง’ ในกรุงเทพฯ ขึ้นมาก่อน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นวันละหลักร้อยราย และกระจายไปหลายจังหวัดอีกครั้ง ความโกรธและความท้อแท้เกิดขึ้นในใจ หลายคนกำลังคิดอยู่ว่าต้องไปต่อหรือพอแค่นี้?
  • “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 7 เมษายน “เพราะเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก ซึ่งต้องหาทางแก้ไข และเป็นช่วงของการกลับภูมิลำเนา แต่ละจังหวัดก็มีมาตรการคัดกรอง กักตัว ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการ”
  • ไม่ว่าสงกรานต์ 2564 จะ ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ล้วนมีข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าเห็นด้วยว่า ‘มนุษย์’ จะต้องปรับตัวให้เข้ากับ ‘ไวรัส’ มากขึ้น และมากกว่าที่จะกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นจนส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้นมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสมคือ ‘ไปต่อ’ แบบลดความเสี่ยงลงให้ ‘พอแค่นี้’ พบกันครึ่งทาง (#คนละครึ่ง เหมือนนโยบายของรัฐบาล) 

อีกเพียง 1 วันก็จะถึงวันหยุดสงกรานต์ 2564 ซึ่งปีนี้จะได้หยุดติดต่อกันอย่างน้อย 6 วัน หลายคนเตรียมกลับภูมิลำเนาไปเจอญาติสนิทมิตรสหายที่ไม่ได้เจอกันมานาน บางคนอาจร่วม 2 ปี เพราะปีที่แล้วไม่มีวันหยุดสงกรานต์ ส่วนปีใหม่ปีนี้ก็เพิ่งมีการระบาดที่สมุทรสาคร

 

หลายคนเตรียมจองที่พักและวางแผนที่เที่ยวกันไว้แล้ว แต่กลับเกิด ‘คลัสเตอร์สถานบันเทิง’ ในกรุงเทพฯ ขึ้นมาก่อน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นวันละหลักร้อยราย และกระจายไปหลายจังหวัดอีกครั้ง ความโกรธและความท้อแท้เกิดขึ้นในใจ หลายคนกำลังคิดอยู่ว่าต้องไปต่อหรือพอแค่นี้?

 

โรคจาก ‘ไวรัส’ อาจไม่น่ากังวลเท่ามาตรการจาก ‘มนุษย์’

ความกังวลของมนุษย์ที่มีต่อโควิด-19 มี 2 อย่างคือ ความสามารถในการติดต่อกันได้ง่าย ผู้ป่วย 1 รายสามารถแพร่เชื้อต่อได้ 2-3 คน และในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ไม่ดีอาจทำให้เกิดเหตุการณ์การแพร่กระจายเชื้อมากเป็นพิเศษ (Superspreading Event) เช่น สถานบันเทิง สนามมวย

 

และอีกอย่างคือความรุนแรง ตัวเลขในช่วงแรกที่จีนคือ 80-15-5 หมายถึง 80% อาการไม่รุนแรง 15% อาการหนัก และ 5% อาการวิกฤตถึงขั้นเสียชีวิต แต่จากกรณีเรือสำราญที่ญี่ปุ่นคือ 95-4-1 หมายถึง 95% อาการไม่รุนแรง (เกินครึ่งหนึ่งไม่แสดงอาการ) 4% อาการรุนแรง และเสียชีวิตเพียง 1% 

 

ในช่วงหลังความรุนแรงของโรคยังมีแนวโน้มลดลง โดยอัตราป่วยเสียชีวิตทั่วโลกลดลงเหลือประมาณ 2% ส่วนไทยในการระบาดระลอกสอง ผู้ป่วยส่วนมากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ทำให้อัตราป่วยเสียชีวิตลดลงเหลือ 0.3% โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว

 

ดังนั้นถ้าผู้ป่วยไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข และโรงพยาบาลยังมีอุปกรณ์หรือเครื่องมือ รวมถึงบุคลากรเพียงพอกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยทุกรายก็จะได้รับการดูแลรักษาจนหายจากโรคได้ ส่วนการเสียชีวิตเป็นธรรมชาติของการดำเนินโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

 

ในขณะที่มาตรการจาก ‘มนุษย์’ อาจมีความน่ากังวลมากกว่า เพราะจีนเริ่มต้นด้วยการล็อกดาวน์ ปิดเมืองไม่ให้คนเดินทางเข้าออก หลายประเทศใช้เป็นต้นแบบ ซึ่งบางที่ควบคุมการระบาดได้ดี แต่บางที่ก็ทำได้เพียงชะลอการระบาดออกไป แลกกับกิจการ/กิจกรรมที่ต้องหยุดชะงักลงไปด้วย

 

ไทยเคยประกาศเคอร์ฟิวทั้งประเทศ ห้ามออกนอกบ้าน 22.00-04.00 น. ในช่วงเมษายนปีที่แล้ว กว่าจะค่อยๆ ลดเวลาลงจนเลิกประกาศก็อีก 2 เดือนถัดมา (3 เมษายน ถึง 15 มิถุนายน 2563) การระบาดของโควิด-19 ได้ถูกผูกเงื่อนไขไว้กับมาตรการที่รุนแรงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนับตั้งแต่ตอนนั้น 

 

ถึงแม้ในการระบาดระลอกใหม่ที่สมุทรสาคร ศบค. จะใช้ ‘มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ’ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 สี ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แต่ก็ย่อมหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อทั้งผู้ที่จำเป็นต้องเดินทาง เช่น ผู้ที่มีที่พักอยู่คนละจังหวัดกับที่ทำงาน พ่อค้า/แม่ค้าคนกลาง ผู้ป่วยที่ต้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และทั้งผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขายหรือการท่องเที่ยวภายในจังหวัด เพราะไม่มีผู้เดินทางเข้ามา อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการไปทั้งหมด 4 รอบในวันที่ 1, 22 กุมภาพันธ์ และ1, 17 มีนาคม

 

แต่ไม่นานหลังจากที่สมุทรสาครได้รับการลดระดับลงเป็นพื้นที่สีส้ม ก็เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นอีกครั้งในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ซึ่ง ณ วันที่ 7 เมษายน 2564 พบผู้ติดเชื้อกว่า 300 รายแล้ว และ ศบค. ยังสงวนท่าทีที่จะใช้ ‘ยาแรง’ โดยคงระดับสีของแต่ละจังหวัดเหมือนเดิมไปก่อน 

 

ทว่ากระทรวงสาธารณสุขได้แถลงการปรับสีพื้นที่ไปก่อนหน้านั้นแล้วในวันที่ 5 เมษายน ส่วนต่างจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ สกลนคร ก็เริ่มทยอยประกาศให้ผู้ที่เดินทางมาจาก ‘พื้นที่สีแดง’ (ซึ่งยังไม่ประกาศใช้จริง) ต้องกักตัว 14 วัน ยกเว้นมีผลการตรวจ Rapid Test เป็นลบ

 

ส่วนจังหวัดนครราชสีมา (รูปที่ 1) และประจวบคีรีขันธ์ ถ้าเข้าไปอ่านประกาศของจังหวัดจะพบว่า ไม่ได้กักตัวผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดงทุกคน แต่ให้เจ้าหน้าที่ซักประวัติว่ามีความเสี่ยงจากการเดินทางไปในสถานที่และเวลาเดียวกับผู้ป่วยหรือไม่ หากไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว

 

โควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่เมื่อปีที่แล้ว เกิดจาก ‘ไวรัส’ ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อและความรุนแรง แต่เมื่อผ่านไป 1 ปีโรคนี้ก็ยังคงระบาดอยู่ ‘มนุษย์’ จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับไวรัสมากขึ้น และมากกว่าที่จะกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นจนส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยกันเอง

 

ทั้งนี้ องค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ก็พัฒนามากขึ้นด้วยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่มียาต้านไวรัสที่เฉพาะเจาะจงกับไวรัสชนิดนี้ แต่ก็มีแนวทางการรักษาที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้ อีกทั้งการพัฒนาวัคซีนก็มีความรวดเร็วมากกว่าการคิดค้นวัคซีนอื่นที่ผ่านมา

 

 

สงกรานต์ 2564 กับโควิด-19

รูปที่ 1 แนวทางคัดกรองและกักตัวผู้เดินทางมาจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลของจังหวัดนครราชสีมา *ผู้ที่วางแผนจะเดินทางไปจังหวัดใดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ต้องตรวจสอบมาตรการกับจังหวัดปลายทางก่อน

 

สงกรานต์ 2564 ต้องไปต่อ…

ผมสังเกตว่านโยบายของ ศบค. มีทิศทางไปในเชิงผ่อนคลายมากขึ้น ตั้งการ์ด-ฟุตเวิร์กหยั่งเชิงกับคลัสเตอร์ใหม่อยู่ หมัดแย็บที่ออกมาในวันที่ 5 เมษายน คือแนวทางการปิดสถานบันเทิงตามสถานการณ์ คือปิดเฉพาะร้านที่พบผู้ป่วย, ปิดเป็นโซนถ้าพบผู้ป่วยหลายร้าน และปิดทั้งจังหวัดถ้าควบคุมไม่อยู่

 

“อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 7 เมษายน “เพราะเป็นเรื่องของคนจำนวนมาก ซึ่งต้องหาทางแก้ไข และเป็นช่วงของการกลับภูมิลำเนา แต่ละจังหวัดก็มีมาตรการคัดกรอง กักตัว ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการ”

 

ขณะเดียวกันเพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 ก็ยังคงประชาสัมพันธ์แนวคิดการจัดประเพณีสงกรานต์แบบ New Normal ‘ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ’ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยอยู่ พร้อมกับขอความร่วมมือให้ประชาชนเคร่งครัดมาตรการ DMHTT 

 

ล่าสุดวันที่ 8 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้แถลงว่า ศบค. จะไม่มีการเปลี่ยนระดับสีของพื้นที่ แต่จะปิดสถานบันเทิง ได้แก่ ผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ใน 41 จังหวัด ซึ่งมีรายงานผู้ป่วยหรือมีความเสี่ยงจากลักษณะเมืองทางผ่านหรือเมืองใหญ่ เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันแทน 

 

ส่วนกิจกรรมที่สามารถจัดได้ คือ 

(1) การจัดพิธีสรงน้ำพระ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา 

(2) การจัดพิธีรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ตามประเพณีนิยมหรือรูปแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด 

(3) การเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด สามารถดำเนินการได้ทุกที่

 

ดังนั้นสงกรานต์ปี 2564 นี้จึง ‘ได้ไปต่อ’ จาก ศบค. ผู้ที่เตรียมตัวกลับภูมิลำเนาสามารถเดินทางกลับได้ ผู้ที่เตรียมตัวไปเที่ยวสามารถไปเที่ยวได้อย่างสบายใจ แต่ต้องติดตามประกาศของแต่ละจังหวัดที่อ้างอิงพื้นที่สีแดงก่อนหน้านี้ว่าจะยกเลิกหรือไม่ หรือ ศบค. จะ ‘ยืมมือ’ จังหวัดในการจำกัดการเดินทางแทน

 

สงกรานต์ 2564 กับโควิด-19

รูปที่ 2 แนวคิดการจัดงานประเพณีสงกรานต์แบบ New Normal

 

…หรือพอแค่นี้?

สถานการณ์การระบาดที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ณ วันที่ 8 เมษายน มีผู้ป่วยทั้งหมด 504 ราย กระจายใน 20 จังหวัด (รูปที่ 3) ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ (70.6%) หลายคนจึงกังวลว่าถ้าไม่ยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ หรือจำกัดการเดินทาง จะทำให้ผู้ติดเชื้อเดินทางออกต่างจังหวัด ซึ่งจังหวัดปลายทางก็น่าจะครบทุกจังหวัด เมื่อไปคลุกคลีกับญาติสนิทมิตรสหายจะเกิดแพร่เชื้อและการระบาดขึ้นมาในจังหวัดนั้นๆ หลังช่วงเทศกาลได้ เมื่อนั้นสถานการณ์ก็จะยิ่งแย่จนยากต่อการควบคุม และต้องเลื่อนแผนการเปิดประเทศออกไป

 

ซึ่งในการแถลงข่าววันที่ 7 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้นำเสนอแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ว่าการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1.3-100 เท่า โดยเฉพาะถ้าไม่มีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ 

 

ส่วน นพ.ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ได้ให้ความเห็นว่า จำนวนผู้ป่วยในปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว 10 เท่า x มาตรการควบคุมโรคในปีนี้ห่างจากปีที่แล้ว 10 เท่า x เชื้อสายพันธุ์อังกฤษที่แพร่กระจายเร็วขึ้น 1.7 เท่า = การระบาดในปีนี้จึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็น 170 เท่า 

 

ตัวเลขค่อนข้างน่าตกใจ แต่ นพ.โอภาส ต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญของความร่วมมือของประชาชน ส่วน นพ.ยง แนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ ใครที่ไม่มีความจำเป็นก็ลดการเดินทางให้น้อยที่สุด แต่ใครจำเป็นต้องมีมาตรการเคร่งครัดตั้งแต่ออกจากบ้าน ซึ่งก็คือประชาชนควร ‘พอแค่นี้’ 

 

แต่ถ้ามองสถานการณ์ผ่านกรอบที่เคยใช้แบ่งการระบาดออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) ผู้ป่วยเดินทางมาจากต่างพื้นที่ (2) การระบาดเป็นวงจำกัด (3) การระบาดเป็นวงกว้าง จะพบว่าหลายจังหวัดยังอยู่ในระยะที่ 1 คือติดเชื้อมาจากกรุงเทพฯ การตรวจพบผู้ป่วยในระยะนี้ถือเป็นเรื่องดี เพราะตรวจพบได้เร็ว

 

ส่วนกรุงเทพฯ น่าจะเป็นระยะที่ 3 แล้ว เพราะตรวจพบเพิ่มอีกหลายคลัสเตอร์พร้อมๆ กัน แต่ถ้าซูมลงไปในระดับเขตจะพบว่าไม่ได้อยู่ในระยะที่ 3 เหมือนกันทั้ง 50 เขต โดยเขตที่มีรายงานผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ วัฒนา 50 ราย, บางแค (36) และสวนหลวง (33) 

 

มาตรการที่เหมารวมทั้งจังหวัด เช่น การประกาศกักตัว 14 วันในผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่สีแดง (ย้ำอีกรอบว่ายังไม่ประกาศใช้จริง) ย่อมทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนอื่นๆ อีกระดับล้านคนที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถ้าสำนักอนามัย/สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกได้มากขึ้น และสอบสวนโรคได้ครอบคลุมก็น่าจะทำให้ ‘ตีวง’ การระบาดได้ชัดเจนขึ้นว่ากว้างแค่ไหน แต่ปัญหาตอนนี้น่าจะอยู่ที่ว่ากำลังคนของหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว

 

ส่วนถ้าจะมีการประกาศยกระดับสีของพื้นที่ขึ้นมาก็ต้องย้อนกลับไปถึงวัตถุประสงค์ของการกำหนดสีว่าเป็น ‘แผนที่มาตรการ’ ไว้ออกคำสั่งควบคุมโรค ไม่ได้เป็น ‘แผนที่สถานการณ์’ ซึ่งการระบาดในพื้นที่อาจน้อยหรือมากกว่าที่ ศบค. กำหนดได้ จึงต้องติดตามข้อมูลของแต่ละจังหวัดอีกที

 

สงกรานต์ 2564 กับโควิด-19

รูปที่ 3 การกระจายของผู้ป่วยในคลัสเตอร์สถานบันเทิงรายจังหวัด

 

#คนละครึ่ง สงกรานต์ 2564

ไม่ว่าสงกรานต์ปี 2564 จะ ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ ล้วนมีข้อดีและข้อเสีย วันหยุดติดต่อกันอย่างน้อย 6 วัน หลายคนคงเตรียมตัวเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด หรือต่างจังหวัด-ต่างจังหวัด คงไม่มีใครต้องการกักตัว 14 วันเมื่อเดินทางไปถึง

 

แต่ถ้าเห็นด้วยว่า ‘มนุษย์’ จะต้องปรับตัวให้เข้ากับ ‘ไวรัส’ มากขึ้น และมากกว่าที่จะกำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นจนส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้นมาตรการควบคุมโรคที่เหมาะสมคือ ‘ไปต่อ’ แบบลดความเสี่ยงลงให้ ‘พอแค่นี้’ พบกันครึ่งทาง (#คนละครึ่ง เหมือนนโยบายของรัฐบาล) โดยมีเป้าหมายว่าจำนวนผู้ป่วยจะไม่เพิ่มจนเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข

 

การลดความเสี่ยงลงสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับ ‘บุคคล’ คือเว้นระยะห่าง (D) สวมหน้ากาก (M) ล้างมือ (H) และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศระบายได้ไม่ดี ยกตัวอย่างการเว้นระยะห่างภายในบ้าน เช่น การแยกรับประทานอาหาร การไม่กอด/หอม/จูบ แต่ถ้าต้องการเข้าไปรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ก็ให้สวมหน้ากากทั้งสองฝ่ายแทน ส่วนการกินเลี้ยงกับญาติหรือเพื่อนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดควรเป็นกลุ่มเล็กๆ ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก (มีความเสี่ยงน้อยกว่าในห้องปรับอากาศ) และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนขาดสติ

 

หากมีอาการป่วย ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ควรเข้าไปร่วมงานในชุมชน และถ้ามีประวัติเสี่ยงในไทม์ไลน์เดียวกันกับผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ ส่วนถ้าสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรกักตัว 14 วันทันทีเมื่อทราบข่าว และตรวจหาเชื้อหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วยในวันที่ 5 ขึ้นไป

 

ในขณะที่การลดความเสี่ยงระดับ ‘ชุมชน’ ได้แก่ การงดจัดงานที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก หรือจำกัดจำนวนคนไม่ให้แออัด (1 คนต่อ 1-2 ตารางเมตร) รวมถึงเพิ่มการระบายอากาศในสถานที่นั้นๆ เช่น โบสถ์/วิหารที่จะมีการรวมตัวกันไปทำบุญควรเปิดหน้าต่างและติดตั้งพัดลมดูดอากาศเพิ่มเติม เป็นต้น ส่วนกรณีสถานบันเทิง ซึ่งเป็นสถานที่แออัดและอากาศระบายได้ไม่ดี ความเสี่ยงสูงที่จะมีผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ เข้าไปใช้บริการ กระทรวงสาธารณสุขได้ตัดสินใจแล้วว่าจะเสนอให้ ศบค. สั่งปิดไปก่อนในช่วงเทศกาล

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X