วันนี้ (7 มกราคม) ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยลาออก 3 คน คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพราะเวลานี้คนที่เป็นรัฐมนตรีมีงานเต็มมือไปหมด จากที่ได้พูดคุยกับทั้ง 3 คน อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในสภา
ส่วนจะมีการพูดคุยกับรัฐมนตรีที่เป็น สส. ทุกคนในพรรคเพื่อไทยถึงกรณีดังกล่าวหรือไม่ ภูมิธรรมระบุว่า เรื่องนี้ได้มีการคุยกันตั้งแต่ต้นอยู่แล้วว่า หากใครมีความสามารถด้านการบริหารก็ให้อยู่ในบัญชีท้าย ไม่ต้องไปแย่งที่ให้ สส. ตกใจ ใครเหมาะสมในการทำงานสภาก็เข้าอยู่ในลำดับต้นๆ
ภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า แต่เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีคนที่มีความสามารถจำนวนมาก และเดิมทีเราคาดการณ์ไว้ว่าจะได้ สส. บัญชีรายชื่อถึง 50 คน แต่การเมืองผลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งทั้ง 3 คนพูดเอง และได้ปรารภกับตนเองว่าจะลาออกเพื่อไปทำงานรัฐบาลให้เต็มที่ จึงขออย่าคิดว่าจะไปอยู่พรรคการเมืองอื่น ตอนนี้ทั้ง 3 คนก็ยังอยากทำงานให้เต็มที่อยู่
คุยประภัตรปมโหวตสวนแล้ว คาดผิดพลาดทางเทคนิค
ภูมิธรรมกล่าวว่าในวันพรุ่งนี้ (8 มกราคม) เวลา 16.00 น. จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่สภา เพื่อเลือกประธาน รองประธาน โฆษก และตำแหน่งต่างๆ
ส่วนที่มี สส. พรรคร่วมรัฐบาลโหวตสวน ไม่เห็นชอบกับงบประมาณนั้น ภูมิธรรมเปิดเผยว่า เท่าที่ทราบมี ประภัตร โพธสุธน สส. พรรคชาติไทยพัฒนา โดยได้พูดคุยกับ นิกร จำนง แกนนำพรรค และวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ซึ่งฝากขอโทษมา และแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้มา ซึ่งไม่ติดใจ คิดว่าอาจเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ไม่น่าจะมีผลสะเทือนอะไรต่อการร่วมมือของพรรคร่วมรัฐบาล
“ตนเองบอกกลับไปไม่เชื่อว่าประภัตรจะโหวตสวน เพราะโดยความสัมพันธ์และเหตุผล ไม่รู้จะโหวตสวนไปเพื่ออะไร ขณะที่ประภัตรโทรมาบอกไม่มีเจตนา ตอนนั้นนั่งอยู่รวมกับ สส. หลายคน ยืนยันกดเห็นด้วยทั้งหมด แต่ไม่แน่ใจว่าทำไมผลถึงออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งเช้าวันจันทร์ประภัตรจะไปยื่นหนังสือถึงสภา ขอตรวจสอบว่ามีข้อบกพร่องหรือไม่” ภูมิธรรมกล่าว
ขณะที่มี สส. ฝ่ายค้านบางส่วนโหวตเห็นด้วยกับงบประมาณ ภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรกับรัฐบาล เพราะการโหวตของแต่ละพรรคในเรื่องของงบประมาณ ไม่จำเป็นว่าจะต้องสนับสนุนหรือคัดค้านหรือแยกฝ่ายกันทีเดียว ขึ้นอยู่กับว่าเป็นอำนาจของ สส. หากเห็นว่าการโหวตงบประมาณเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และพื้นที่ของเขา เขาก็มีสิทธิจะโหวต
แต่ส่วนตัวไม่ได้ไปก้าวล่วง หรือรู้ว่าเขาคิดอย่างไร ไม่มีโอกาสได้หารือกัน หรือเข้าไปแทรกแซงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน