ทุกวันนี้แทบจะไม่ต้องอธิบายเลยว่า Podcast (พอดแคสต์) หรือสื่อเสียงประเภทนี้คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไร เนื่องจากพอดแคสต์กำลังเป็นที่นิยมในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ THE STANDARD Podcast เองที่มีพอดแคสต์ในเครือกว่า 20 รายการ ซึ่งแม้ว่ารายการส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของความรู้หรือการพัฒนาตัวเอง แต่ในความเป็นจริงสื่อเสียงมีหน้าที่มากกว่านั้น เพราะนอกจากจะให้ความรู้อย่างเป็นขั้นตอน พอดแคสต์ยังทำหน้าที่ให้ความสุขไม่ต่างกับการดูภาพยนตร์หรือฟังเพลงได้เช่นกัน โดยเฉพาะพอดแคสต์ที่ทำหน้าที่เป็น ‘ผู้เล่าเรื่อง’ บางเรื่อง และเรื่องนั้นเกิดขึ้นจากชีวิตจริง มักเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์ น่าสนใจ และให้แง่คิดอยู่เสมอ
THE STANDARD Podcast จึงสร้างโจทย์ใหม่ว่าถ้าหากพอดแคสต์ทำหน้าที่เดียวกับภาพยนตร์ เล่าเรื่องชีวิตของคน และมีเพียงเสียงเพื่อเล่าเรื่องจะออกมาเป็นอย่างไร ทำให้นึกถึงผู้กำกับภาพยนตร์หลายคนที่คร่ำหวอดในวงการ น่าจะมีใครที่เคยฟังพอดแคสต์มาบ้างและนึกสนุกกับโปรเจกต์นี้ ใช้เวลาพูดคุยต่อรองกันเป็นเวลานานจนได้ผู้กำกับภาพยนตร์ทั้งหมด 6 คนที่ยอมรับความท้าทายและสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ทุกคนมองเห็นเป็นอย่างเดียวกันว่า ‘เรื่องเล่า’ มีอานุภาพที่ทำให้คนฟังคล้อยตามได้ และยิ่งมีเพียงเสียงให้คอยเกาะความสนใจ จึงเป็นความท้าทายที่ต้องทิ้งภาพ โฟกัสไปที่เสียง และเปิดพื้นที่ให้คนฟังได้นำประสบการณ์ส่วนตัวมาเติมเต็มความรู้สึก
เรื่องเล่าทั้งหมดถูกผูกโยงด้วยคำหนึ่ง คือคำว่า ‘บ้าน’
บ้านซึ่งไม่ได้หมายถึงโครงสร้างอาคารหรือความพร้อมหน้าพร้อมตาของสมาชิก แต่กินความไปถึงความผูกโยงของมนุษย์กับสถานที่ ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน รวมไปถึงความทรงจำที่เป็นส่วนผลักดันชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้า อาจประกอบด้วยบาดแผล ร่องรอยน้ำตา หรือรอยยิ้ม
“ผมนึกออกเลยว่าอยากเล่าเป็นละครวิทยุ” โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ (แสงกระสือ) กล่าวขึ้นทันทีที่ได้รับโจทย์ สัมผัสได้ว่าช่วงแรกเขาตื่นเต้นดีใจที่ได้ลองอะไรใหม่ๆ แต่เมื่อผ่านไปไม่นาน “พอ 5 นาทีผ่านไปเท่านั้นแหละ จะทำได้หรือเปล่าวะ เพราะปกติทำแต่หนังที่มีภาพด้วย คราวนี้เราทำแค่เสียงอย่างเดียว ก็ถามตัวเองว่าต้องเล่ายังไง ตกใจอยู่เหมือนกันว่าเราจะทำได้หรือเปล่า
“ผมได้รับมอบหมายให้กำกับชีวิตของ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ถ้าพูดในแง่ตัวละคร เขาก็เป็นตัวละครผู้หญิงที่มีชีวิตน่าสนใจ มีมุมมองของชีวิตตัวเอง ต่อคนอื่น ต่อโลก ที่โดยรวมน่าสนใจมาก จากนั้นผมก็ไปรีเสิร์ชว่าเขาเคยอยู่ในวัง เคยแต่งงานและไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว จนสุดท้ายเริ่มต้นชีวิตใหม่ วิธีที่เขาเปลี่ยนมุมมองชีวิตยิ่งทำให้ผมสนใจมากว่าอยากจะลองเล่าเรื่องชีวิตดูว่า เวลาเรานึกถึงคนที่มีนามสกุลหรือมีคำนำหน้าว่า ‘หม่อมหลวง’ นำหน้านามสกุลเทวกุล ผมนึกถึงวัง ชีวิตเขาต้องสวยหรูเหมือนนิยายใช่ไหม เราก็มักจะนึกว่าชีวิตของเธอก็คงสวยหรูไม่ต่างจากนั้น แต่จริงๆ เท่าที่ได้คุยก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันจึงเกิดเป็นไอเดียว่าอยากจะลองทำเป็นเหมือนละครวิทยุที่เปรียบเทียบระหว่างชีวิตนางเอกที่อยู่ในนิยายที่คนฟังรับรู้ว่าเรื่องราวประมาณนี้กับชีวิตจริงของคนที่ไม่เหมือนในนิยาย มันจะเหมือนหรือต่างกันยังไง ผมจึงทำเป็นพอดแคสต์ตอน วิมานขวัญทิพย์ นี้ดู”
วรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ (Wish Us Luck, Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ) แม้จะเคยเขียนบทซีรีส์จนอยู่มือ กำกับซีรีส์จนได้รับความนิยม แต่พอดแคสต์ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ของทั้งสองคน ยิ่งเป็นการเล่าชีวิตของคนจริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อน “เราเลือกครอบครัวของพี่โลเล ซึ่งได้แก่ พี่โลเล พี่แพร แล้วก็ลูก 2 คนก็คือโรมันกับนินจา คือตอนแรกเราชอบอยู่แล้ว เพราะติดตามในอินสตาแกรม ความคิดว่าการมีเสียงเด็กคงจะน่ารักดี แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะเล่ายังไง เสียงพ่อแม่เล่านิทานกับลูกมันน่าจะน่ารัก แต่ตอนเลือกก็หวั่นๆ เพราะว่าเราเข้ากับเด็กยาก แต่ก็เอาวะ เลือกที่ชอบแล้วกัน (หัวเราะ)”
ในแง่ความเป็นภาพยนตร์พอดแคสต์กึ่งสารคดีที่มีเรื่องราวจากชีวิตจริง วรรณแววและแวววรรณใช้เวลาสัมภาษณ์ครอบครัวนี้อยู่หลายครั้ง ใช้เวลาเก็บรายละเอียดเสียงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อความสมจริง และเพื่อให้คนฟังได้เห็นภาพอย่างที่เธอสองคนไปเห็นและสัมผัสมา ซึ่งต่างจากการกำกับซีรีส์ที่คุ้นเคย “เราว่ามันต่างกันมากอยู่เหมือนกัน เพราะบางทีเชิงภาพ เราก็จะมีสไตล์ภาพที่ชอบแบบนี้ เฟรมแบบนี้ แต่พอมันมีแค่เสียง เราก็เลยไม่แน่ใจว่าสไตล์ของเราจะออกมาแค่ไหน แต่คิดว่าเราจะทุ่มเทโฟกัสไปที่ตัวซับเจกต์ทั้งหมด คือมู้ดแอนด์โทนที่ออกมาก็จะเป็นในแบบที่เขาเป็น มันเลยน่าจะไม่ค่อยประดิษฐ์ มีชีวิตชีวา และเพลินๆ ในแบบที่เขาเป็น เพราะมันเป็นการนำเสนอชีวิตจริง แล้วก็อยากให้มันเป็นเหมือนความจริงที่สุด อยากให้คนฟังได้สัมผัสในสิ่งที่เราไปสัมผัสมาให้มันตรงความจริงที่สุด”
ความคิดของแวววรรณและวรรณแววไม่ต่างจาก ไก่-ณฐพล บุญประกอบ (2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว) ผู้กำกับคนที่ 3 ของโปรเจกต์นี้เท่าไรนัก “ทีแรกก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ต่างกันมากหรอก คนก็มักจะบอกว่าเสียงมักซัพพอร์ตภาพ แต่พอมันมาเป็นมีเดียที่มีแต่เสียงในการนำเรื่อง วิธีการต่างๆ ที่เราเคยใช้กับการทำภาพยนตร์มันใช้ไม่ได้อีก ในพอดแคสต์มันมีความต่างกันออกไป แต่ว่าก็มีเทคนิคที่เราสามารถนำมาใช้ได้ เช่น การใช้ภาพที่ขัดแย้งกับเสียง หรือว่าการกระโดดข้ามเวลาในหนัง คือผมว่าการเล่าเรื่องด้วยเสียงเพียงอย่างเดียวมันต้องมีการชักจูงคนฟังบางอย่าง มันต้องบอกคนฟังนิดหนึ่งว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหน ก้อนไอเดียที่เราพยายามจะถ่ายทอดคืออะไร วิธีการถ่ายทอดความรู้สึกบางอย่างที่ผมคิดว่ามันไม่ใช่คำว่าง่ายกว่านะครับ คือเป็นคนละวิธี ในขณะเดียวกันมันก็ท้าทายกับผมมากพอสมควร กับคนที่พึ่งพาภาพมาตลอดชีวิตอย่างผม”
ไก่เลือกเล่าชีวิตของคนที่ ‘กลับบ้าน’ อันหมายถึงถิ่นฐานบ้านเกิด หลังจากโลดแล่นในต่างถิ่นจนรู้สึกอิ่มกับชีวิต เขาเลือกเล่าชีวิตของ อุรุดา โควินท์ นักเขียนหญิงผู้เคยมีผลงานเข้าชิงรางวัลซีไรต์ หลังจากที่อดีตสามีของเธอเสียชีวิตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เธอจึงเริ่มความสัมพันธ์บทใหม่ในชีวิตที่จังหวัดเชียงราย พร้อมเปิดโฮมสเตย์เล็กๆ ในชื่อสมิงพระราหู จะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อนใกล้ตัวของไก่อย่าง เอ็ม-ยศวัศ สิทธิวงค์ ศิลปินนักแต่งเพลงผู้มีหลายองค์ประกอบในชีวิตใกล้เคียงกับอุรุดาอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการอยู่ร่วมชายคาเดียวกับศิลปินคนรัก หรือการเป็นคนจังหวัดเชียงรายเหมือนกัน ในฐานะผู้กำกับ ไก่จึงเลือกเอ็มมาเป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้คนฟัง
“ผมอยากจะชวนคนมาฟังและนั่งคิด และสุดท้ายมันก็กลับมาที่คำนี้แหละ Somewhere I Belong คือที่ไหนที่เราเรียกว่าเป็นบ้านของเรา ส่วนประกอบไหนที่มันสร้างแบบนี้ในชีวิตเรา ผมคิดว่าแต่ละคนมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไป แล้วอย่างน้อยที่สุด ถ้าเรื่องเล่าที่ออกมาแล้วทุกคนได้ฟัง มันจะช่วยให้ทุกคนกลับไปคิดส่วนประกอบเล็กๆ ในชีวิตเหล่านี้ได้”
“งง โคตรยาก!” คือคำพูดแรกของ เบ๊น-ธนชาติ ศิริภัทราชัย ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาและนักเขียนหนังสือขายดีอย่าง New York 1st Time “เอาจริงๆ ถ้าโปรเจกต์นี้อยู่ปลายปีก็จะบอกว่ามันยากที่สุดในปีนี้เลย เพราะว่าเราถนัดกับการเล่าเรื่องด้วยภาพ มีคัตติ้ง มีเพลงบิลด์ มีแสง มีแอ็กติ้งนักแสดง ซึ่งทุกปัจจัยตรงนี้มันหายไปหมดเลยตอนทำพอดแคสต์ เราต้องเลือกวีธีเล่าเรื่องใหม่ว่าถ้าเหลือแค่เสียงอย่างเดียว มันจะดิ้นไปทางไหนได้บ้าง โอเค ยากมันก็ยากแหละ ในขณะเดียวกันมันก็ท้าทาย เหมือนชอบอยู่บนบก อยู่ดีๆ โดนหย่อนลงมาในน้ำ ดูว่าจะกระเสือกกระสนว่ายน้ำมายังไง จะรอดไหม แต่โชคดีที่เคยเห็นคนว่ายน้ำมาก่อนบ้าง ชอบฟังพอดแคสต์อยู่แล้วทุกเช้า มันก็เลยพอจะรู้แนวบ้าง แต่พอลงมาทำจริงแล้วยากว่ะ กระทั่งแค่ตอนเขียนบทยังนึกภาพไม่ออกเลยนะ เวลาเขียนบทจะนึกภาพตลอดเลย ถ้าเป็นหนังจะทำอย่างนี้ จะตัดเข้าแค่ตัวละคร ตัดมาอีกทีเป็นภาพกว้างที่เห็นพ่อแม่ครบอะไรแบบนี้ พอมาพอดแคสต์ปุ๊บ ไม่มีเลย โคตรยาก โคตรไม่ถนัด โคตรไม่คุ้นเคย แต่ดีไหม ดี”
เบ๊นเลือกถ่ายทอดชีวิตจริงของชายหนุ่มที่ใกล้เคียงกับตัวเอง 3 คน ลึกๆ คือเพื่อเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัวในการขับตัวเองให้มีบ้านเป็นของตัวเองเสียที และสิ่งที่เขาพบก็ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจ “เอาจริงๆ แต่ละคนมีมุมที่เซอร์ไพรส์อยู่แล้วล่ะ แค่ฟังจากป๊อปปี้ยังแบบ เฮ้ย เด็กอายุเท่านี้เขาคิดถึงการมีบ้านแล้วเหรอวะ ตอนอายุ 26 ผมก็ยังคิดอยู่เลยว่าจะต่อใต้ดิน ต่อรถไฟฟ้ายังไง ต้องบอกว่าก่อนสัมภาษณ์ทุกคน เราก็ประเมินไว้ว่าก่อนแล้วว่ามันจะประมาณนี้ การมีบ้านของตัวเอง มีพื้นที่ของตัวเอง ยังไงมันก็มีความสุข แต่มันดีตรงที่พอไปฟังเขาเล่าเรื่องจริงแล้วมันมีรายละเอียดเชิงลึกที่เป็นเหตุผลว่าทำไมมุมต่างๆ ที่บ้านเขาเป็นอย่างนี้ กระทั่งชักโครกเขาเลื่อนไปด้านซ้ายก็ต้องมีอะไรที่จะทำให้เขามีความสุข”
จีน-คำขวัญ ดวงมณี คือผู้กำกับคนที่ 5 ที่ร่วมในโปรเจกต์นี้ แต่เพราะทำภาพยนตร์โฆษณาคอมเมอร์เชียลและมิวสิกวิดีโอเป็นส่วนใหญ่ บวกกับความท้าทายที่เลือกเล่าเรื่องชีวิตคู่ของ LGBT “จีนอยากทำเป็นพอดแคสต์รูปแบบใหม่” เธอกล่าว
“จริงๆ คิดอยู่หลายไอเดียเหมือนกัน แต่เราอยากทำพอดแคสต์ที่คนฟังสามารถมีส่วนร่วมได้ จึงเป็นที่มาของคอนเซปต์การเอาเกมโชว์มาทำเป็นพอดแคสต์ มีแขกรับเชิญมานั่งคุยกัน แล้วมันจะมีช่วงหยุดที่ทำให้คนฟังสามารถคิดตามได้ว่าตัวละครจะตัดสินใจเป็น A หรือ B แล้วผู้ดำเนินรายการค่อยมาเฉลยว่าเรื่องราวต่อไปจะเป็นอย่างไร จีนทำเรื่อง LGBT ค่ะ จริงๆ แล้วรวมไปถึงคอมมูนิตี้และการรวมเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์และความสนใจเหมือนกันด้วย แต่ในเรื่องชีวิตคู่ จีนมองว่าจริงๆ แล้วการใช้ชีวิตคู่ของ LGBT ก็เหมือนคนทั่วไป แต่ยังไม่ได้เป็นที่รับรู้เท่าไร ถามว่ามีคู่รักที่ออกมาอยู่ด้วยกันเยอะไหม จีนว่ามีเยอะมาก แต่ชีวิตเขาไม่ได้ถูกพูดถึง จีนจึงอยากให้ชีวิตของพี่โจ้ แทรชเชอร์ และพี่คิลิน เป็นแรงบันดาลใจให้กับคู่อื่นๆ ถ้ามีความพร้อมก้าวออกมามีพื้นที่เป็นของตัวเอง มันก็สามารถซัพพอร์ตความรู้สึกทางใจให้เราได้”
“ชื่อมันใกล้กับหนังเรื่องล่าสุดของผมมาก” คงเดช จาตุรันต์รัศมี (เฉิ่ม, กอด, ตั้งวง) พูดถึงชื่อโปรเจกต์ที่มีความใกล้เคียงกับชื่อหนังเรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Where We Belong “มันเหมือนหนังของผมเลยตรงที่เราชอบเอาชีวิตของคนธรรมดาๆ มาทำเป็นหนัง ตัวละครมักจะไม่ได้เป็นคนที่มีความพิเศษ แต่มักจะเป็นคนเล็กๆ ในสังคม ตอนอื่นเขาทำเป็นสัมภาษณ์ เราก็แทงสวนไปนิดหนึ่งว่าเราจะเอาชีวิตของคนธรรมดาที่สุดมาทำให้เป็นหนังไปเลย แต่เป็นหนังทางเสียง ใช้ฟังเอา ผมรู้สึกว่าเป็นวิธีที่เรียบง่ายดี ฟังไปก็รู้สึกเหมือนได้ดูหนังสั้นเรื่องหนึ่งไป โดยมี ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย มาถ่ายทอด เอาจริงๆ ก่อนหน้านี้เราก็ไม่รู้จักเขา เพราะเราขาดการดูละครมานานมากแล้ว แต่พอเจอใบเฟิร์นแล้วไปรีเสิร์ชเสียง เราพบว่าเขามีเสียงที่น่าฟัง ฟังแล้วมีความรู้สึกดี ตอนที่อัดก็เลยมีความเซอร์ไพรส์ที่มันมีอารมณ์ค่อนข้างสูงมาก สำคัญมากที่จะพาคนฟังไปได้ตลอดทั้งเรื่อง”
คงเดชเลือกเล่าเรื่องชีวิตจริงของคนใกล้ตัวอย่างน้องสะใภ้ที่ทำงานทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ท้าทายชีวิตด้วยงาน แต่ลึกๆ แล้วกลับรู้สึกไม่ได้เป็นคนของที่ไหนสักที่ ซึ่งน่าจะเป็นมวลรวมความรู้สึกของคนสมัยนี้บ้างไม่มากก็น้อย “เราว่าเพราะตัวละครเป็นคนธรรมดา ไม่อะไรก็อะไรสักอย่าง เราคิดว่าน่าจะทำให้คนฟังรู้สึกเชื่อมโยงได้ไม่ยาก อย่างที่สอง เราพยายามจะนิยามคำว่าบ้าน คำว่าที่ที่เป็นของเราผ่านความรู้สึกของตัวละคร เพราะตัวผมอายุขนาดนี้ก็รู้สึกว่าเรื่องบ้านมันอาจไม่ได้เป็นรูปธรรมเท่าไร แต่มันเป็นเรื่องของความรู้สึกและช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งที่คนได้ปฏิสัมพันธ์กัน แล้วในที่สุดเมื่อได้นั่งคุยกับเหมี่ยวที่เป็นเจ้าของเรื่อง ซึ่งเขาเป็นคนธรรมดา แต่ตอนนี้เขาก็ผ่านช่วงเวลาการกลับไปกลับมาจนมันคลี่คลายไปแล้ว แล้วรู้ว่าอะไรบ้างที่แท้จริง เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันน่าจะเป็นสารที่ส่งต่อไปให้คนฟังได้ดี อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมันอยู่ต่อไปได้
“เราก็พูดถึงเรื่องนี้ในหนัง Where We Belong ที่เราทำ ซึ่งอันนั้นมันจะเป็นเรื่องของตัวละครที่ไม่เจอที่ทางของตัวเอง ซึ่งเราว่ามันค่อนข้างจะเป็นชีวิตที่เจ็บปวดหน่อย แต่เราว่าการได้เจอที่ไหนสักที่ที่มัน Belong มันอาจจะเป็นคน สัตว์ หรือช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งก็ได้ เรารู้สึกว่าความ Belong กับบางสิ่งมันทำให้เรามีชีวิตต่อไปได้”
พบกับภาพยนตร์พอดแคสต์ Somewhere I Belong ที่นี่ที่ของเรา ได้ทางเว็บไซต์ THE STANDARD, SoundCloud, YouTube, Spotify และทุก Podcast Player เริ่มตอนแรก วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายนนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์