วันนี้ (10 มีนาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในประเด็น พนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน โดยไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างควรได้รับ เช่น สิทธิการลาป่วย ลาคลอดบุตร ลากิจส่วนตัว และลาพักผ่อน โดยได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา สิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน สิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาล และการนำเงินสมทบของผู้ว่าจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม โดยที่ส่วนราชการต่างๆ ได้จัดจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในรูปแบบของสัญญาจ้างทำของเพื่ออำพรางสัญญาจ้างแรงงาน ส่งผลให้พนักงานจ้างเหมาบริการไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะลูกจ้าง ทั้งที่ในทางปฏิบัติมีลักษณะการทำงานที่ไม่แตกต่างจากข้าราชการ หรือพนักงานราชการ
โดยมีข้อเสนอ 3 ข้อ ควรมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจ้างเหมาบริการพิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของพนักงานจ้างเหมาบริการ โดยระยะสั้น ให้กรมบัญชีกลางจัดทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจกับส่วนราชการให้ดำเนินการจ้างงานให้ถูกต้องตามประเภทการจ้างงาน หากเป็นการจ้างเหมาบริการ (จ้างทำของ) ต้องไม่ดำเนินการในลักษณะการจ้างแรงงาน คือต้องไม่มีลักษณะการควบคุมบังคับบัญชา หรือการลงชื่อปฏิบัติงาน โดยพิจารณาตามวัตถุประสงค์การจ้างงานเป็นสำคัญ สำหรับการจ่ายอัตราค่าจ้าง ให้พิจารณาในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม ต้องไม่จ่ายในอัตราที่ต่ำเกินไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้รับจ้าง
ระยะยาว ให้กระทรวงแรงงานและกรมบัญชีกลางเป็นผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานจ้างเหมาบริการรายบุคคล โดยสำนักงาน ก.พ. จะเป็นผู้ประสานและสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมต่อไป และควรแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงมาพิจารณาแก้ไขปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อพนักงานจ้างเหมาบริการของส่วนราชการทั้งหมด ให้สอดคล้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ลูกจ้างโดยทั่วไปพึงมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม
ซึ่งกรมบัญชีกลางแจ้งว่า การจ้างเหมาบริการ ไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมและไม่มีสิทธิการลา เนื่องจากขัดกับหลักกฎหมาย ต้องป้องกันไม่ให้ส่วนราชการจ้างงานในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีก
กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือซักซ้อมส่วนราชการให้บริหารสัญญาจ้างให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการจ้าง และกรมบัญชีกลางจะซักซ้อมส่วนราชการให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคากลาง และความเหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพนักงานจ้างเหมาบริการรายบุคคล อีกทั้ง การใช้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวทดแทนการจ้างเหมาบริการ อาจไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว และการจ้างลูกจ้างชั่วคราวในปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เฉพาะ 4 ประเภท คือ ลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ ลูกจ้างชั่วคราวตามระเบียบของสถาบันอุดมศึกษา ว่าด้วยการจ้างผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษเป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา ลูกจ้างชั่วคราวอื่นที่มีข้อตกลงพิเศษกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565)
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. จะส่งรายงานสรุปผลการพิจารณาฯ ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์