วันนี้ (21 ตุลาคม) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมกับคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2565 โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมด้วย
ชัชชาติกล่าวภายหลังการประชุมว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่นชัดเจน และจากนี้ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น ขณะนี้ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม. ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยและเปิดดำเนินการแล้ว โดยตั้งอยู่ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม อาคารสำนักการโยธา ซึ่งเป็นศูนย์ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ
สิ่งที่ทำในเบื้องต้นคือ การออกตรวจจุดที่มีปัญหาในการก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งในที่ประชุมได้พูดคุยหารือและสรุปว่า เราอาจจะคิดว่า PM2.5 เป็นเรื่องของรถที่ปล่อยควันดำอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะยังมีเรื่องของการเผาชีวมวล ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเกษตรด้วย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบกรุงเทพฯ อาจจะรวมถึงต่างประเทศใกล้เคียง
ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า เรื่องที่จะดำเนินการมี 3 ด้าน คือ 1. รถขนส่ง รถควันดำต่างๆ ที่มีปัญหา ได้ดำเนินการเชิงรุก และกำหนดแผนการตรวจทุกวันตลอดช่วง 2 เดือน โดยความร่วมมือทั้งกรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ ตำรวจ โรงงาน และพยายามไปตรวจที่จุดกำเนิด เช่น ไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กำหนดให้มีรายงานการตรวจทุกวัน และแจ้งผลว่าจำนวนที่ไม่ผ่านมีเท่าไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจอย่างต่อเนื่อง
- โรงงานอุตสาหกรรม ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งว่า ในกรุงเทพฯ มีประมาณ 6,000 โรงงาน โดยมีอยู่ 260 โรงงาน ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงในการเกิด PM2.5 และจะต้องเฝ้าระวังอย่างละเอียด โดยจะแบ่งแต่ละเขต และให้ ผอ.เขต รับทราบโรงงานที่มีความเสี่ยงเหล่านี้
และ 3. การเผาชีวมวล ปี 2564 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการเผาอยู่ 9 จุด กทม. ได้ไปคุยในเบื้องต้นแล้วว่าจะให้เกษตรกรมีแนวทางลดการเผา ซึ่งพื้นที่ปลูกในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีเยอะ ปัญหาจะอยู่นอกพื้นที่ โดย กทม. จะมีการเฝ้าระวัง และดูจุดความร้อนจากการเผาไหม้ต่างๆ
ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กทม. มีระบบการพยากรณ์ โดยกรมควบคุมมลพิษเป็นแม่งานหลักในการแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้า ซึ่งปัจจุบันสามารถแจ้งพยากรณ์ล่วงหน้าได้ประมาณ 7 วัน แต่ความแม่นยำอาจจะใกล้เข้ามาถึง 3 วัน ว่าฝุ่นจะเป็นอย่างไร ทาง กทม. จะใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและนำมาสื่อสารให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมต่อไป
ในส่วนของโรงเรียน ได้มีมาตรการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จัดให้มีกิจกรรมธงคุณภาพอากาศโรงเรียนสังกัด กทม. โดยให้เด็กนักเรียนฝึกอ่านค่าคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่
ชัชชาติกล่าวด้วยว่า เรื่องมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการ เป็นเรื่องที่ต้องเอาจริงเอาจัง ซึ่งเรื่องทั้งหมดเราไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมจริงๆ จะต้องมีการแจ้งผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องว่าทำอะไรบ้าง ต้องสร้างความมั่นใจขึ้นมา
รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนในการแจ้งเหตุในจุดต่างๆ เช่น รถปล่อยควันดำ การเผาชีวมวล โดยใช้ Traffy Fondue เป็นตัวหนึ่งในการช่วยรับแจ้งเหตุต้นตอของมลพิษด้วย