ในยุคที่การใช้ชีวิตเปลี่ยนไป พลังของ ‘คนโสด’ ได้กลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างทรงพลัง The 1 Insight เผยบทวิเคราะห์ Solo Economy ชี้ว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มตลาดเฉพาะอีกต่อไป แต่คือกลุ่มผู้ซื้อหลักที่ครองสัดส่วนการใช้จ่ายกว่า 2 ใน 3 ของตลาดทั้งหมด
ปรากฏการณ์นี้ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด ‘Self Splurge’ หรือการเปย์หนักเพราะรักตัวเอง ซึ่งเป็นการลงทุนกับความสุขและการยกระดับคุณภาพชีวิตส่วนบุคคล และกำลังสร้างโอกาสมหาศาลให้กับธุรกิจที่เข้าใจผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างแท้จริง
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2566 ระบุว่า คนไทยถึง 25% อยู่ในสถานะโสด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีสัดส่วนคนโสดสูงถึง 50% ของประชากรทั้งหมด และที่น่าสนใจคือ 75% ของคนโสดในไทยเป็นเพศหญิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยุค ‘คนโสด’ ครองเมือง ปรากฏการณ์ใหม่ทำอัตราเกิดดิ่งเหว เมื่อคนใช้ชีวิตลำพังพุ่งสูงขึ้น
- Tinder เผยเทรนด์หาคู่ปี 2025 คนโสดต้องการคู่เดตไทป์โกลเดนมากสุด! พร้อมให้สถานะและรักจริงหวังแต่ง
- เลิกเพ้อเจ้อ! สาว 99% เทใจให้ ‘เจ้าของธุรกิจ’ ส่วนหนุ่มๆ แค่มีงานทำก็พอ เผยสเปกจริงคนโสดไทย 2567
เทรนด์การใช้ชีวิตโสดยังเด่นชัดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ยิ่งอายุน้อยลง สัดส่วนคนโสดยิ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของค่านิยมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับอิสระและการสร้างความสุขด้วยตัวเอง โดยไม่ยึดติดกับกรอบครอบครัวแบบเดิม
หัวใจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจคนโสดเติบโตอย่างต่อเนื่องคือ ‘วัตถุประสงค์ในการใช้จ่าย’ ที่แตกต่างจากคนมีครอบครัวอย่างสิ้นเชิง ในขณะที่ครอบครัวต้องแบ่งงบประมาณกว่าครึ่งเพื่อของใช้จำเป็นส่วนรวม คนโสดกลับมีอิสระในการใช้จ่าย ‘เพื่อตัวเอง’ เป็นหลัก ทำให้คนโสดกล้าที่จะลงทุนกับคุณภาพชีวิตและการแสดงออกถึงตัวตนอย่างเต็มที่ พฤติกรรมนี้สะท้อนผ่านตัวเลขที่น่าสนใจ โดยคนโสดใช้จ่ายในหมวดแฟชั่นและความงามสูงถึง 30% ของการใช้จ่ายทั้งหมด
การ ‘เปย์หนักเพราะรักตัวเอง’ ยังแสดงออกผ่านการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และสุขภาพ โดยคนโสดนิยมสินค้ากลุ่มกีฬามากกว่าคนมีครอบครัว 3 เท่า ทานอาหารนอกบ้านบ่อยกว่า 3 เท่า และสนใจสินค้าลักชัวรีมากกว่า 2 เท่า
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังพร้อมจ่ายหนักเพื่อ ‘ประสบการณ์’ ที่เติมเต็มชีวิต โดยใช้จ่ายกับกิจกรรมยามว่างอย่างเวิร์กช็อปทำอาหาร จัดดอกไม้ คอนเสิร์ต หรือการท่องเที่ยวมากกว่าคนมีครอบครัวถึง 2 เท่า
ขณะเดียวกันบริบทของพื้นที่อยู่อาศัยก็ส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายเช่นกัน โดยคนโสดในเมืองมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงกว่าคนโสดในต่างจังหวัดราว 1.2 เท่า และเน้นการใช้จ่ายไปกับหมวด ‘Beauty & Premium Lifestyle’ เป็นหลัก ขณะที่คนโสดในต่างจังหวัดกลับมีแนวโน้มใช้จ่ายในหมวด ‘Home & Appliance’ มากกว่า ซึ่งสะท้อนบริบทและลำดับความสำคัญในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
เมื่อมองลึกลงไปในหมวดสินค้าที่ครองใจคนโสดจะพบข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มหลักที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลุ่มแรกคือ ‘บิวตี้’ ที่คนโสดใช้จ่ายมากกว่าถึง 4 เท่า ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอย่างเซรั่มหรือครีมกันแดด ไปจนถึงหัตถการในคลินิกเสริมความงาม ตามมาด้วยกลุ่ม ‘แฟชั่น’ ที่ใช้จ่ายมากกว่า 3 เท่า โดยมองว่าการดูแลภาพลักษณ์ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับ ไปจนถึงนาฬิกาหรู คือการลงทุนอย่างหนึ่ง
แต่หมวดที่น่าประหลาดใจที่สุดคือ ‘ของตกแต่งบ้าน’ ซึ่งคนโสดใช้จ่ายมากกว่าคนมีครอบครัวถึง 4.5 เท่า เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการตกแต่งที่พักอาศัยทั้งหมดไม่มี ‘ตัวหาร’ เหมือนคนมีครอบครัว ขณะเดียวกัน คนโสดก็มีอิสระเต็มที่ในการเลือกสรรเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่สะท้อนรสนิยมของตัวเองโดยไม่ต้องประนีประนอมกับใคร ทำให้กล้าลงทุนกับสินค้าดีไซน์ที่มีคุณภาพเพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสุขของตนเองอย่างแท้จริง
หมดนี้บ่งชี้ว่า ‘คนโสด’ คือกลุ่มผู้บริโภคที่มีคุณภาพ มีกำลังซื้อสูง และใช้จ่ายอย่างมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขและความพึงพอใจให้กับตนเอง ผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ได้รอให้ใครมาเติมเต็ม แต่พร้อมที่จะเปย์หนักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ธุรกิจใดที่สามารถออกแบบสินค้า บริการ หรือประสบการณ์ที่ตอบโจทย์แนวคิด ‘รักตัวเอง’ ได้อย่างแม่นยำ ก็จะสามารถคว้าโอกาสจากขุมทรัพย์ใหม่ที่เรียกว่า Solo Economy นี้ไปครองได้
แฟ้มภาพ: เซ็นทรัลพัฒนา