×

Solids by the Seashore ทะเลและอนาคตของฉันกับเธอ

16.12.2023
  • LOADING...
Solids by the Seashore

HIGHLIGHTS

3 min read
  • Solids by the Seashore เป็นหนังที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดาย เพราะนอกจากเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวที่อาศัยอยู่ในครอบครัวมุสลิม กับศิลปินหญิงที่ลงมาจัดงานนิทรรศการในภาคใต้ พื้นหลังของหนังก็คือทะเลและเขตชุมชนที่ในทางหนึ่งกลายเป็นตัวละครที่มีความสำคัญกับเรื่องราวไม่แพ้กัน
  • หนังมีความโดดเด่นมากในแง่ของการบันทึกธรรมชาติ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ในระหว่างทางที่กำลังนำเสนอความสัมพันธ์ของพวกเธอ หนังก็เริ่มเปลี่ยนการเล่าแบบ Narrative มาเป็น Experimental ซึ่งนัยหนึ่งทำให้เรื่องราวทางศาสนา สิ่งแวดล้อม และเพศสภาพ กลืนกลายกันเป็นเนื้อเดียวอย่างแนบเนียน ไม่ต่างจากงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงภายในเรื่อง
  • Solids by the Seashore เป็นหนังที่เหมาะสมและควรค่าแก่การปิดท้ายปีทองของหนังไทย เพราะนอกจากจะนำเสนอเรื่องราวออกมาได้อย่างละเมียดละไม และเปี่ยมไปด้วยหัวใจ หนังยังถ่ายทอดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยใช้ศาสตร์ของภาพยนตร์ได้อย่างมีเสน่ห์ ด้วยการดึงเอาองค์ประกอบเหล่านั้นมาส่งเสริมการเล่าเรื่องของตัวเองอีกที

หากนับแบบเร็วๆ อย่างต่ำปีนี้ก็มีหนังไทยที่ประสบความสำเร็จบนเวทีโลกมากถึง 3 เรื่อง หนึ่งคือ Doi Boy (ดอยบอย) ของ เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล ตรงเข้าฉายใน Netflix โดยไม่ต้องกังวลกับการแข่งขันของตลาดหนังไทยช่วงนี้ สองคือ Arnold is a Model Student (อานนเป็นนักเรียนตัวอย่าง) ของ ยศ-สรยศ ประภาพันธ์ ที่เพิ่งเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไปไม่นาน แต่กระแสตอบรับก็อาจไม่ค่อยสู้ดีนักเมื่อเทียบกับความเห็นบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ดูจะจริงยิ่งกว่า โดยที่ไม่ต้องอธิบายเลยว่าหนังเรื่องนี้มีไว้เพื่ออะไร 

 

และสามคือ Solids by the Seashore (ทะเลของฉันมีคลื่นเล็กน้อยถึงปานกลาง) หนังยาวเรื่องแรกของ อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก ที่คว้ารางวัล LG OLED New Currents Award กับ NETPAC Award มาจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน ครั้งที่ 28 โดยช่วงโค้งสุดท้ายของปีหนังของเขาก็ได้พัดตัวเองกลับขึ้นฝั่งประเทศไทย ด้วยการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์สองแห่งคือ Doc Club & Pub. และ House Samyan ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่างุนงงพอสมควรที่หนังมีพื้นที่ฉายแค่นี้ 

 

Solids by the Seashore

 

โดยเฉพาะเมื่อ Solids by the Seashore เป็นหนังที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดาย เพราะนอกจากเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวที่อาศัยอยู่ในครอบครัวมุสลิม กับศิลปินหญิงที่ลงมาจัดงานนิทรรศการในภาคใต้ พื้นหลังของหนังก็คือทะเลและเขตชุมชนที่ในทางหนึ่งกลายเป็นตัวละครที่มีความสำคัญกับเรื่องราวไม่แพ้กัน

 

ด้วยเหตุนี้หนังเลยมีความโดดเด่นมากในแง่ของการบันทึกธรรมชาติ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ในระหว่างทางที่กำลังนำเสนอความสัมพันธ์ของพวกเธอ หนังก็เริ่มเปลี่ยนการเล่าแบบ Narrative มาเป็น Experimental ซึ่งนัยหนึ่งทำให้เรื่องราวทางศาสนา สิ่งแวดล้อม และเพศสภาพ กลืนกลายกันเป็นเนื้อเดียวอย่างแนบเนียนไม่ต่างจากงานศิลปะที่ถูกจัดแสดงภายในเรื่อง หรือว่าง่ายๆ หากเปรียบเปรยผู้กำกับเป็นศิลปิน คนดูก็คงไม่ต่างอะไรกับคนที่ซื้อบัตรและกำลังนั่งดูนิทรรศการที่ถูกจัดฉายบนจอใหญ่ของเขา

 

Solids by the Seashore

 

การตัดสินใจหันมาใช้วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ ทำให้เห็นถึงความทะเยอทะยาน และความกล้าหาญของคนทำมาก เพราะหากวางน้ำหนักมือพลาดหรือไม่ดีพอ มันย่อมส่งผลให้หนังพังครืนลงมาอย่างง่ายดาย แต่ Solids by the Seashore กลับเป็นหนังที่ใช้กลไกนี้ได้อย่างน่าฉงน จนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นผลงานการกำกับหนังยาวเรื่องแรกของ อิฐ-ปฏิภาณ บุณฑริก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างในหนังของเขาดูเหมือนจะอยู่ถูกที่ถูกทางไปหมด 

 

แต่กระนั้น คนที่ควรจะได้รับคำชมอย่างยิ่งยวดอีกคนก็คือ คาลิล พิศสุวรรณ มือเขียนบทที่ทำงานร่วมกับอิฐในหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะบทสนทนาริมชายหาดของตัวละครที่ทำออกมาได้อย่างรวดร้าวและเป็นธรรมชาติ ด้วยการบ่งบอกถึงสถานะอันชินชาของตัวเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพายก็สามารถสำแดงพลังออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ผ่านภาพของชายหาดที่เริ่มพังทลาย พร้อมกับชีวิตของหญิงสาวที่ถูกกัดเซาะอย่างช้าๆ 

 

Solids by the Seashore

 

ว่าไปแล้ว เรื่องราวของหญิงสาวมุสลิมที่กำลังถูกจับคลุมถุงชนอย่าง ชาตรี ก็เป็นสิ่งที่น่าพูดถึง เมื่อหนังไม่ได้เล่าด้วยท่าทีที่รุนแรง แต่เป็นการเข้าอกเข้าใจเธอที่อยู่ภายใต้กรอบของศาสนา ซึ่งถือว่าค่อนข้างแปลกพอสมควร เพราะหนังที่ว่าด้วยเรื่องแบบนี้มักจะหยิบยกเอา Conflict มาเล่าอย่างไม่ประนีประนอมเสียมากกว่า 

 

และมันก็ยิ่งเด่นชัดเมื่อ ฝน ซึ่งเป็นคนนอกย่างกรายเข้ามาในชีวิตเธอ ทั้งสองไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกันเลย แต่เชื่อมโยงกันผ่านแนวกั้นคลื่นริมชายฝั่ง ที่ในทางหนึ่งมันไม่ได้ตัดสินว่าพวกเธอควรจะทำอย่างไรให้หลุดพ้นจากพันธนาการ แต่เป็นการเฝ้ามองความสัมพันธ์ที่ถูกถักทอขึ้นในช่วงเวลาปัจจุบันเพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งฉากสุดท้ายของหนังก็เป็นเหมือนบทสรุปที่ทั้งทรงพลัง หนักหน่วง และน่าเศร้า เมื่อมันเผยให้เห็นถึงชีวิตหลังจากนั้นของ ชาตรี พร้อมกับตัวเธอที่เดินผ่านชายหาดร่วมกับฝนในเฟรมเดียวกัน

 

Solids by the Seashore

 

โดยปริยาย Solids by the Seashore จึงเป็นหนังที่เหมาะสมและควรค่าแก่การปิดท้ายปีทองของหนังไทย เพราะนอกจากจะนำเสนอเรื่องราวออกมาได้อย่างละเมียดละไม และเปี่ยมไปด้วยหัวใจ หนังยังถ่ายทอดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยใช้ศาสตร์ของภาพยนตร์ได้อย่างมีเสน่ห์ ด้วยการดึงเอาองค์ประกอบเหล่านั้นมาส่งเสริมการเล่าเรื่องของตัวเองอีกที 

 

จนไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงสามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์ปูซานมาได้สองรางวัล เพราะ Solids by the Seashore เป็นหนังไทยที่ชัดเจน เรียบง่าย และซื่อตรงกับแนวทางของตัวเองมากที่สุดเรื่องหนึ่งในปีนี้ ที่สำคัญ มันเป็นอีกครั้งที่ยืนยันว่า หากคนทำหนังอิสระได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและโอกาส ผลงานดีๆ เหล่านี้ก็สามารถเป็นที่เชิดหน้าชูตาให้กับวงการหนังไทยได้ไม่แพ้กับหนังที่อยู่ในระบบสตูดิโอเลยทีเดียว

 

สามารถรับชม Solids by the Seashore ได้แล้ววันนี้ที่ Doc Club & Pub. และ House Samyan 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising