×

ขายหมดเกลี้ยง หุ้น IPO ของ AWC ในเครือเจ้าสัวเจริญ มูลค่า 4.8 หมื่นล้าน ขึ้นแท่นสูงสุดเท่าที่เคยมีมาในไทย

27.09.2019
  • LOADING...

เสร็จสิ้นลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับเปิดจองซื้อหุ้นสำมัญสำหรับนักลงทุนรายย่อยในประเทศไทยระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน ของ ‘บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)’ หรือ AWC ซึ่งในธุรกิจของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีลูกสาวคนที่สอง วัลลภา ไตรโสรัส ดูแลอยู่ในวันนี้เป็นวันสุดท้าย ผลปรากฏว่ามีนักลงทุนรายย่อยจองซื้อมูลค่า 7,000-8,000 ล้านบาท ถือเป็นขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับการ IPO ของหุ้นทั่วๆ ไป

 

ในภาพรวม AWC ได้จัดสรรหุ้นทั้ง 8,000 ล้านหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนักลงทุนรายย่อยในประเทศ โดยสัดส่วนระหว่างนักลงทุนในต่างประเทศและนักลงทุนในประเทศคิดเป็น 53% และ 47% ตามลำดับ โดยมีมูลค่าจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท

 

การเสนอขายหุ้น IPO ของ AWC ในครั้งนี้ถูกระบุว่า เป็นการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และด้วยมูลค่าเสนอขายดังกล่าว เป็นผลให้ AWC มีโอกาสได้รับการจัดเข้าไปรวมอยู่ในดัชนี SET50 ด้วยเกณฑ์ในแบบ FastTrack ขณะนี้ได้กำหนดวันเข้าสู่ตลาดครั้งแรกช่วงต้นเดือนตุลาคม

 

สำหรับเงินที่ได้มาทั้งหมด 48,000 ล้านบาท จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ส่วนแรก 25,000 ล้านบาท ลงทุนโครงการใหม่อีก 20,000 ล้านบาท ใช้สำหรับการปรับปรุงโครงการเดิม และที่เหลืออีก 3,000 ล้านบาท เก็บไว้เป็นกระแสเงินสดสำหรับการบริการงานของบริษัท

 

อย่างไรก็ตาม วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ได้ตอบคำถามเรื่องที่กำไรลดลงเรื่อยมาในช่วง 3 ปีมานี้ แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยในปี 2559 รายได้ 9,411.25 ล้านบาท กำไร 2,890.73 ล้านบาท, ปี 2550 รายได้ 11,207.55 ล้านบาท กำไร 1,372.07 ล้านบาท และปี 2561 รายได้ 12,415.64 ล้านบาท กำไร 489.04 ล้านบาท

 

วัลลภาระบุว่า หากดูในส่วนของรายได้และกระแสเงินสดในช่วง 3 ปีมานี้ เติบโตมากกว่า 30% ส่วนที่กำไรลดลงนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทเป็นธุรกิจในครอบครัว จนจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ จึงได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ และยังไม่ได้เพิ่มทุน ซึ่งในอดีตเงินกู้มาจากผู้ถือหุ้น พอมีการปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 9,000 ล้านบาท เป็น 24,000 ล้านบาท จึงส่งผลกระทบต่อกำไรอันเกิดจากดอกเบี้ย

 

แต่เชื่อว่าในอนาคต AWC จะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงจากโครงการใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคตภายใน 5 ปีต่อจากนี้ ซึ่งจะเน้นพัฒนาเองเป็นหลัก ทั้งในกลุ่มโรงแรมจะเพิ่มจากประมาณ 4,400 ห้อง เป็น 8,500 ห้อง และกลุ่มรีเทลจาก 160,000 ตารางเมตร เป็น 410,000 ตารางเมตร ซึ่งบางส่วนจะมีรายได้เข้ามาหนุนกระแสเงินสดของบริษัททันที

 

ขณะเดียวกันรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการปรับอัตราค่าเช่า โดยในส่วนของโรงแรมในเมืองมีอันตราการเข้าพัก 92-95% เมืองไทยเองยังเป็นจุดหมายลำกับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ ราคาของห้องหักจึงสามารถปรับตัวขึ้นได้อีกก้าวกระโดด ส่วนรีเทลกำลังเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์เข้าไป ทั้งร้านอาหารและกิจกรรมต่างๆ สุดท้ายอาคารสำนักงานให้เช่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีก เพราะผลสำรวจล่าสุดภาพรวมของตลาดในไตรมาส 1 อาคารสำนักงานให้เช่าเกรด 1 ซึ่งเป็นพอร์ตของ AWC มีอัตราว่าง 5.8% ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 28 ปีเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้ แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.0 ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติตามงบการเงินรวมของบริษัทฯ หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหลังหักเงินสำรองต่างๆ ตามที่กฎหมายและบริษัทฯ กำหนดไว้ในแต่ละปี โดยเงินปันผลที่จ่ายจะไม่เกินกว่ากำไรสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising