สภาพัฒน์แนะภาครัฐเร่งหามาตรการดูแลเกษตรกร หลังราคาปุ๋ยตลาดโลกพุ่ง กดดันต้นทุนการผลิตเพิ่ม เผยราคาขายในประเทศช่วงไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 148% จี้ป้องกันการกักตุน พร้อมส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพด้วยตัวเอง
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยแพร่รายงาน ‘ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตภาคเกษตร’ โดยระบุว่า ปัจจุบันราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ‘ปุ๋ยเคมี’ ซึ่งถือเป็น ต้นทุนการผลิตที่สำคัญของภาคการเกษตรของไทย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชมคลิป: ‘สภาพัฒน์’ เตือนรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอแรง แนะรัดเข็มขัด | Morning Wealth 18 พ.ค. 2565
- ชมคลิป: จับตาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สัญญาณเตือน Wage Price Spiral
- รถติด น้ำมันแพง แย่งกันใช้ชีวิต ค่าครองชีพแพง ค่าแรงยังเท่าเดิม
จากข้อมูลโครงสร้างมูลค่าปัจจัยการผลิตขั้นกลางพบว่า ปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช มีสัดส่วน 42.16% บริการทางการเกษตร 8.01% ผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช กิ่งพันธุ์ 6.98% น้ำมันเชื้อเพลิง 6.46% และปัจจัยอื่นๆ 36.39%
ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกของปี 2565 ราคาปุ๋ยไนโตรเจน (Nitrogen: N) สำเร็จรูป ในตลาดโลกอยู่ที่ 832.81 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น 162.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เนื่องจาก
- ข้อจำกัดทางด้านอุปทานการผลิตและการส่งออก โดยเป็นผลจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนรายใหญ่ของโลกมีการจำกัดการส่งออก เช่น จีน (นโยบายความมั่นคงทางอาหาร) และรัสเซีย (สถานการณ์ความขัดแย้งและการคว่ำบาตร) รวมทั้งการกักตุนปุ๋ยไนโตรเจนในบางประเทศ
- ต้นทุนการผลิตปุ๋ยไนโตรเจนปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบหลัก ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของค่าขนส่งและค่าระวางเรือ โดยการเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ยในตลาดโลกส่งผลให้ราคาปุ๋ยในประเทศเพิ่มขึ้น
โดยในไตรมาสแรกของปี 2565 ราคาปุ๋ยไนโตรเจนขายส่งกรุงเทพฯ อยู่ที่ 20,185 บาทต่อตัน (เพิ่มขึ้น 148.7% ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ปลูกพืชเกษตรชนิดต่างๆ โดยเฉพาะที่มีสัดส่วนการใช้ปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน, ข้าวเปลือก, กลุ่มไม้ผล, ยางพารา, อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ภายใต้สถานการณ์ต้นทุนปุ๋ยเคมีที่เพิ่มขึ้น ปริมาณปุ๋ยเคมีภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง โดยเมื่อพิจารณาการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย พบว่าในไตรมาสแรกของปี 2565 ไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมีจำนวน 671,604 ตัน ลดลง 22.1% แบ่งเป็น
- แม่ปุ๋ยเคมี (สัดส่วน 71.34%) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมสาขาปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 479,105 ตัน ลดลง 24.2%
- ปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป ซึ่งผ่านการผสมมาแล้วโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการผลิตอีกครั้ง (สัดส่วน 28.66%) มีปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 479,105 ตัน เพิ่มขึ้น 16.4%
ขณะเดียวกัน สถานการณ์สต๊อกปุ๋ยเคมีในไตรมาสแรกของปี 2565 มีปริมาณการผลิตและปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ที่ 231,889 ตัน ลดลง 18.1% ปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 109,563 ตัน ลดลง 32.2% และดัชนีปุ๋ยเคมีสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 45.97 ลดลง 26.2%
ดังนั้น แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อลดผลกระทบในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ภาครัฐควรเร่งดำเนินการมาตรการต่างๆ เช่น การดูแลการป้องกันการกักตุนปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตของผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ การส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกชนิด ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา และถูกวิธี ตามสโลแกนของสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย และการส่งเสริมให้เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพได้ด้วยตนเอง และลดการพึ่งพิงการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP