×

พิษสุนัขบ้า ภัยระบาดร้ายแรงหรือความตระหนกเกินเหตุ มองมุมต่างเรื่อง Set Zero จากมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย

โดย Soi Dog Foundation
21.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วพบว่า การฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าแก่สุนัขอย่างกว้างขวาง รวมถึงพัฒนาการในการจ่ายยาต้านไวรัส [PEP] พิษสุนัขบ้า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าลดลงมากกว่า 90% จากเมื่อปี 30-40 ปีก่อน
  • กรมป้องกันโรคระบาดเผยว่า ในปี 2523 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 370 คน แต่ในช่วง 10 ปีให้หลัง จำนวนลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 300 คนต่อปี และเมื่อปีที่แล้ว สถิติจากกรมควบคุมโรคเผยว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 11 คน และปีนี้มีจำนวนล่าสุด 6 คน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้ทวีความร้ายแรงขึ้นแต่อย่างใด
  • แนวคิดเรื่อง Set Zero ไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้แต่อย่างใด และหากแนวคิดนี้ได้รับการอนุมัติก็ยังยากที่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เพราะประเทศไทยมีสุนัขจรจัดอย่างน้อย 8 ล้านตัว และคงเป็นไปได้ยากที่จะฆ่าได้ทั้งหมด

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โรคพิษสุนัขบ้ากลายมาเป็นประเด็นร้อนที่มีการพูดถึงและถกเถียงทั้งในสื่อสังคมออนไลน์และสื่อหลักหลายๆ สื่อ รวมทั้งประเด็นที่ตามมาคือ ‘Set Zero’ ที่มีการกล่าวกันว่าเป็นการล้างบางฆ่าสุนัขจรจัดเพื่อให้ผู้คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า



ในเรื่องนี้ มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับสุนัขจรจัดและโรคพิษสุนัขบ้ามากว่า 15 ปีมีความคิดเห็นว่า จริงๆ แล้วสถิติการลดลงของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มดีขึ้นมาก

 

อ้างอิงจากเอกสารขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว กล่าวว่า “จากการดำเนินการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าแก่สุนัขอย่างกว้างขวาง รวมถึงพัฒนาการในการจ่ายยาต้านไวรัส [PEP] พิษสุนัขบ้า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าลดลงมากกว่า 90% จากเมื่อปี 30-40 ปีก่อน”

 

หากถามว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบภัยร้ายแรงจากโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ เมื่อดูจากสัญญาณบ่งชี้ต่างๆ แล้วก็ถือว่าไม่ ทั้งนี้จากบทความของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ตอนหนึ่งระบุว่า กรมป้องกันโรคระบาดเผยว่า ในปี 2523 มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 370 คน แต่ในช่วง 10 ปีให้หลัง จำนวนลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 300 คนต่อปี และเมื่อปีที่แล้ว สถิติจากกรมควบคุมโรคเผยว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวน 11 คน และปีนี้มีจำนวนล่าสุด 6 คน

 

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าไม่ได้ทวีความร้ายแรงขึ้นแต่อย่างใด โรคพิษสุนัขบ้าเป็นเพียงโรคที่ระบาดอยู่ในพื้นที่เฉพาะในจุดต่างๆ ของประเทศ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้คือความตื่นตระหนกที่แพร่ไปทั่วผ่านสื่อสังคมออนไลน์และการรายงานข่าวจากสื่อต่างๆ



เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 6 ราย และหากพวกเขาได้รับวัคซีนต้านไวรัสพิษสุนัขบ้าอย่างทันท่วงทีก็คงไม่เกิดการสูญเสียเช่นนี้

เมื่อใดก็ตามที่ถูกสุนัขหรือแมวกัด ข่วน หรือมีแผลเปิดที่ถูกสัตว์เลีย จะต้องรีบล้างแผลให้สะอาดทันทีด้วยน้ำสบู่และเบตาดีน จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดยาต้านไวรัสพิษสุนัขบ้าทันที

แนวคิดเรื่อง Set Zero ที่จะกำจัดสุนัขจรจัดให้หมดไปนั้นไม่ใช่ทางออกของปัญหานี้แต่อย่างใด และหากแนวคิดนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้เป็นนโยบายอย่างเป็นทางการแล้วก็ยังยากที่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอยู่ดี เพราะประเทศไทยมีสุนัขจรจัดอย่างน้อย 8 ล้านตัว และคงเป็นไปได้ยากที่จะฆ่าได้ทั้งหมด นอกจากนั้นแล้วประเทศไทยคงจะได้รับเสียงคัดค้านจากทั่วโลกในฐานะเมืองพุทธที่ออกนโยบายในการฆ่าสัตว์

หากจะใช้วิธีการกักบริเวณ คำถามที่ตามมาก็คือเราจะสามารถกักสุนัขจำนวนนับล้านและดูแลพวกมันอย่างเหมาะสมจนแก่ตายไปได้อย่างไร

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ กว่า 40% ของสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้านั้นเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ มิใช่สุนัขจรจัดแต่อย่างใด

อ้างอิงจาก นายแพทย์พีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชนไว้เมื่อปี 2558 ว่า 40% ดังกล่าวเกิดจากการที่เจ้าของไม่ใส่ใจพาสุนัขของตนไปฉีดวัคซีน

 

คำกล่าวขององค์การอนามัยโลกที่กล่าวข้างต้นนั้นตีพิมพ์เมื่อครั้งที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จฯ เยือนสำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลกที่กรุงเจนีวา ในการเสด็จฯ เยือนครั้งนี้ได้ทรงมีพระดำรัสไว้ตอนหนึ่ง ความว่า “ในการที่จะกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปนั้นจะต้องให้ความรู้แก่ผู้คน และสอนให้พวกเขารู้ถึงความรับผิดชอบด้วย…”

สิ่งที่ต้องจำไว้เสมอคือนับจากวันที่รับเลี้ยงสุนัขแล้ว สุนัขตัวนั้นๆ คือความรับผิดชอบของผู้เลี้ยง และในฐานะผู้เลี้ยงก็ต้องพาสุนัขไปฉีดวัคซีนให้ครบทั้งหมด รวมถึงดูแลสุขภาพสุนัขเป็นอย่างดี

ในส่วน 60% ที่เหลือที่เป็นสุนัขจรจัดนั้นก็สามารถรับวัคซีนได้เช่นกัน กระบวนการนี้อาจใช้เวลาและอาศัยการให้ความรู้แก่ผู้คน แต่ก็เป็นทางออกที่เห็นผลได้ชัดเจนจากยอดสถิติผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 300 คนในช่วง 20 กว่าปีก่อน มาเป็น 11 คนเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าทั้งหมด

สุนัขตัวเมีย 1 ตัวสามารถให้กำเนิดลูกสุนัขได้ 4-5 ตัวในทุกๆ 6 เดือน หากสุนัขตัวนี้ได้รับอาหาร น้ำดื่ม และที่พักอาศัย สุนัขตัวนี้จะสามารถให้กำเนิดลูกสุนัขที่จะกลายไปเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปอีกไม่รู้จบ และสามารถเพิ่มจำนวนประชากรสุนัขได้เป็นพันๆ ตัวภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี

นี่เป็นตัวเลขที่สูงมาก และหากมองในมุมของการกำจัดสุนัข ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าทิ้งหรือจับไปกักบริเวณไว้ เมื่อสุนัขกลุ่มหนึ่งถูกกำจัดออกไปก็จะมีสุนัขจำนวนใหม่เข้ามาแทนที่บริเวณเดิมในระยะอันสั้นอีก

 

ดังนั้นหากจะทำให้ Set Zero ได้ผล หมายความว่าสุนัขอย่างน้อย 8 ล้านตัวจะต้องถูกกำจัดพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน

 

 

การทำงานที่มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยนั้นยึดหลัก CNVR (Capture, Neuter, Vaccinate and Release) คือการจับสุนัขมาทำหมันเพื่อควบคุมจำนวนประชากร ฉีดวัคซีนเพื่อให้ปลอดภัยทั้งแก่ตัวสุนัขเองและรอบข้าง และปล่อยกลับในอาณาเขตเดิมที่จับมา โดยวิธีการนี้ไม่เพียงแค่อิงหลักมนุษยธรรม แต่ยังได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการควบคุมประชากรสุนัขจรจัดและหยุดยั้งโรคพิษสุนัขบ้าที่ปลอดภัยที่สุด

 

เรื่องนี้สามารถพิสูจน์ได้จากพื้นที่ต้นแบบอย่างจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางมูลนิธิฯ สามารถลดจำนวนประชากรสุนัขจรจัดจากประมาณ 80,000 ตัวในปี 2546 เป็น 4-6 พันตัวในขณะนี้ และผลจากการฉีดวัคซีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม CNVR ทำให้จังหวัดภูเก็ตได้รับการประกาศจากทางราชการว่าเป็นจังหวัดปลอดเชื้อพิษสุนัขบ้าเพียงจังหวัดเดียวในประเทศ

 

แนวคิดนี้ไม่ใช่เพียงแนวคิดของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยเท่านั้น แต่องค์กรชั้นนำทั่วโลก รวมถึงองค์การอนามัยโลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์กรเพื่อการรณรงค์ควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าโลก และองค์กรอื่นๆ อีกมากมายได้ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าการฉีดวัคซีนแก่สุนัขเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในคน

 

การฉีดวัคซีนให้กับประชากรสุนัขมากถึง 70% จะช่วยกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่นั้นๆ ได้ โดยสุนัขที่ได้รับวัคซีนจะป้องกันอาณาเขตของตนเอง

ปัญหาสำคัญอีกประการที่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าคือการที่ผู้มีอำนาจอนุญาตให้มีการนำเข้าลูกสุนัขจากฟาร์มสุนัขที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระบาดของโรคเพื่อนำมาขายในตลาดและร้านขายสัตว์เลี้ยง ไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่ภูเก็ตที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ลูกสุนัขที่ขายไม่ออกจะถูกทิ้งให้กลายเป็นสุนัขจรจัดต่อไป

เจ้าของสุนัขและแมวสามารถนำสัตว์เลี้ยงของตนเข้ารับวัคซีนต้านพิษสุนัขบ้าได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ทุกจังหวัด และในบางพื้นที่ ทางราชการก็มีการทำหมันฟรี หรืออาจเสียค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากเจ้าของสุนัขหรือแมวท่านใดที่อาศัยอยู่ใกล้ที่ทำการของมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา เกาะสมุย และกรุงเทพมหานคร สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาทำหมันและฉีดวัคซีนได้ฟรี โดยสามารถติดตามตารางการทำงานของหน่วยเคลื่อนที่ได้ที่เฟซบุ๊คเพจ @SoiDogInThai ซึ่งจะมีการรวบรวมและอัปเดตข้อมูลพื้นที่ต่างๆ ที่หน่วยเดินทางไป

สุดท้ายนี้ การฉีดวัคซีน การทำหมัน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายสัตว์จากจังหวัดหนึ่งไปยังอีกจังหวัดหนึ่งจะเป็นทางออกของปัญหานี้ได้

Set Zero นั้น นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่โหดร้ายทารุณแล้วยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดอีกด้วย

 

นอกจากนี้ จอห์น ดัลลีย์ ประธานมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย ยังให้ความเห็นในประเด็นการวางยาสุนัขในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชที่วัดเขาปรีดี และหน้าโรงเรียนเทศบาลวัดโคกสะท้อน ในอำเภอทุ่งสง โดยเรียกร้องให้มีการยุติการกระทำดังกล่าว

 

นอกจากนั้นในวันนี้ วราภรณ์ จิตตานนท์ ผู้อำนวยการด้านสวัสดิภาพสัตว์ของมูลนิธิฯ ยังได้เข้าประชุมกับทางกรมปศุสัตว์เพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

 

สุดท้ายนี้ นอกจากสุนัขที่แสดงอาการติดเชื้อแล้ว สุนัขอื่นๆ โดยทั่วไปไม่ควรถูกฆ่าไม่ว่าโดยวิธีการใดๆ ก็ตาม ส่วนสุนัขที่ติดเชื้อนั้นควรได้รับการปฏิบัติให้จบชีวิตลงอย่างเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การวางยาอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X