ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ชื่อของ มาซาโยชิ ซัน ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง SoftBank บริษัทโทรคมนาคมของญี่ปุ่น เป็นที่พูดถึงอย่างมากในวงการสตาร์ทอัพและ Venture Capital ส่วนหนึ่งก็มาจากการก่อตั้ง Vision Fund อภิมหากองทุนที่เคยถูกมองว่าทะเยอทะยานมากที่สุดกองทุนหนึ่งจากการระดมทุนได้ราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมี มาซาโยชิ ซัน เป็นผู้ดูแลกองทุน
ส่วนเป้าหมายของกองทุน Vision Fund คือลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นหลัก เช่นเดียวกับ SoftBank ที่ลงทุนในสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาแม้ชื่อของ มาซาโยชิ ซัน จะไม่เป็นที่พูดถึงในวงกว้างเท่าตอนก่อตั้ง Vision Fund แต่ก็ค่อนข้างเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในวงการนักลงทุน จนหลายๆ คนเรียกกันเล่นๆ ว่าเขาเป็นพ่อมดนักลงทุนแห่งญี่ปุ่น จากวิสัยทัศน์ในเทคโนโลยีแห่งอนาคตและการกว้านลงทุนในบริษัทหรือสตาร์ทอัพที่เจ้าตัวมองเห็นศักยภาพและตอบโจทย์วิสัยทัศน์ตัวเอง ถึงกับเคยมีคำพูดว่า “หาก SoftBank ลงทุนอะไรให้ลงทุนตาม”
อย่างไรก็ตาม SoftBank เปิดเผยผลประกอบการรายไตรมาสล่าสุดออกมา ปรากฏว่าขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี สาเหตุก็มาจากผลประกอบการของบางบริษัทใน Vision Fund (ที่ SoftBank ก็มีหุ้นส่วนในกองทุนอยู่ไม่น้อย) ที่บันทึกผลขาดทุนจนซันเองออกมายอมรับถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจ แต่ก็ยังยืนยันในวิสัยทัศน์ของตัวเอง
คำถามคือความผิดพลาดครั้งนี้เกิดจากอะไร และเราเรียนรู้อะไรจากซันได้บ้าง
วิสัยทัศน์อันยาวไกลกับการเดิมพันในระยะยาว
มาซาโยชิ ซัน เป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ในแง่ของเทคโนโลยีมาตั้งแต่หนุ่มๆ เขาก่อตั้ง SoftBank ขึ้นมาก็ด้วยเหตุผลของการมองเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต รวมถึงการลงทุนใน Yahoo! Japan และ Vodafone Japan ก่อนจะมารวมเป็น SoftBank Mobile ในภายหลัง ซึ่ง SoftBank ค่อนข้างได้รับการยอมรับว่ามีส่วนที่ทำให้ญี่ปุ่นมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในประเทศด้วย
หนึ่งในการลงทุนที่สร้างชื่อให้กับซันมากที่สุดคือการลงทุนและเดิมพันใน Alibaba ในปี 2000 ด้วยเม็ดเงิน 20 ล้านดอลลาร์ในตอนนั้น ก่อนที่ Alibaba จะประสบความสำเร็จอย่างที่เราทราบในทุกวันนี้ ทำเงินให้ซันราวๆ 1 แสนล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาซันก็ยังลงทุนหรือไม่ก็ซื้อบริษัทด้านเทคโนโลยีเข้ามาเป็นบริษัทลูกของ SoftBank อย่างต่อเนื่อง ที่ดังๆ ก็มี ARM Holdings บริษัทผลิตเทคโนโลยีชิปเซตสมาร์ทโฟนที่ครองตลาดโลกอยู่ตอนนี้, Boston Dynamics บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์, Cruise สตาร์ทอัพพัฒนาเทคโนโลยีไร้คนขับที่ General Motors ซื้อไป, ByteDance บริษัทแม่ของแอปฯ TikTok, Slack แอปฯ แชตสำหรับองค์กร, Grab, Uber และ WeWork บริษัทโคเวิร์กกิ้งสเปซ
การลงทุนของซันไม่ว่าจะผ่าน SoftBank หรือ Vision Fund มีเป้าหมายเดียวกันคือเดิมพันกับบริษัทเทคโนโลยีที่อาจจะก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จแบบ Alibaba ได้เป็นรายที่ 2 ในอนาคต
ส่วนในแง่วิสัยทัศน์ ซันมองว่าเทคโนโลยีอย่าง AI จะขึ้นมาครองโลกได้ในอนาคต เขาจึงต้องรีบสร้างเครือข่ายธุรกิจด้านนี้ ซึ่งซันไม่ได้มองแค่กรอบระยะเวลาสั้นๆ แต่มองยาวถึงเทคโนโลยีภายในอีก 30 ปีข้างหน้า รวมถึงมีแผนลงทุนเผื่ออนาคตในอีก 300 ปีข้างหน้าแล้วด้วย
ลงทุนแบบเหวี่ยงแหเพราะไม่อยากพลาด
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเป้าหมายของซันคือการค้นหาบริษัทเทคโนโลยีที่จะขึ้นมาครองตลาดในอนาคตลักษณะเดียวกับที่เขาเคยลงทุนใน Alibaba วิธีการลงทุนของซันจึงค่อนข้างเหวี่ยงแห กว้านลงทุนในหลากหลายบริษัท หลายอุตสาหกรรม
หากนับเฉพาะบริษัทที่ลงทุนผ่าน SoftBank ก็ปาเข้าไปแล้วกว่า 61 บริษัท ผ่าน Vision Fund อีกราว 70 บริษัท ไม่รวมกองทุนต่างๆ อีกจำนวนมากที่ SoftBank ลงเงินไปด้วย เพื่อหวังว่าในอีก 10, 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า บริษัทเหล่านี้จะเป็น Alibaba ขึ้นมาอีก รวมถึงเป็นการกระจายความเสี่ยงในหลายๆ เทคโนโลยีด้วย เพราะซันมองว่าไม่มีเทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจใดที่จะยืนหยัดอยู่ได้นาน
ไม่รวมกรณีที่ซันเคยเล่าว่าเขาเคยพลาดการลงทุนในบริษัทอย่าง Amazon ในช่วงแรกๆ (ก่อนที่ทุกวันนี้จะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก) เพราะตอนนั้นเพิ่งล้มเหลวมาจากการทำธุรกิจบรอดแบรนด์ รวมถึงการตกขบวน ไม่ได้ลงทุนในบริษัทอย่าง Facebook, Google และ eBay ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำให้กับซันว่าเขาไม่ควรตัดสินใจผิดพลาดในลักษณะเช่นนั้นอีกแล้ว
ทว่าในช่วงระยะหลังนี้เองที่การลงทุนของซันเริ่มเป็นประเด็นและถูกตั้งคำถามในแง่ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าจริงๆ หรือไม่ เนื่องจากหลายต่อหลายบริษัทที่ SoftBank และ Vision Fund ลงทุนนั้นไม่สามารถทำกำไรได้ หรือผลประกอบการไม่เป็นที่น่าพอใจ อย่างกรณีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ Uber ที่แม้จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถทำกำไรได้ และมูลค่าลดลงกว่า 31% นับตั้งแต่ IPO และ Slack แอปฯ แชตสายองค์กรที่มูลค่าหุ้นลดลงราว 45% จากราคา IPO
และล่าสุดซึ่งน่าจะร้ายแรงที่สุดก็คือกรณี WeWork สตาร์ทอัพโคเวิร์กกิ้งสเปซที่มูลค่าร่วงจาก 4.7 หมื่นล้านดอลลาร์เหลือเพียงไม่ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ในระยะเวลาเพียงครึ่งปี จากปัญหาธรรมาภิบาลในการบริหารและโมเดลธุรกิจที่ไม่น่าจะทำกำไรในระยะสั้น
ก่อนที่ล่าสุด SoftBank จะต้องอัดฉีดเงินเพิ่มเข้าไปให้ WeWork เพื่อไม่ให้ล้มละลายทั้งในรูปเงินเพิ่มทุนและให้กู้ รวมถึงเข้าไปบริหารงานแทน เท่ากับว่า SoftBank และ Vision Fund ลงทุนใน WeWork รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (มากกว่ามูลค่าบริษัทเสียอีก)
และก็เป็นการขาดทุนของ WeWork รวมถึง Uber นี้เองที่เป็นปัจจัยหลักส่งผลให้ผลประกอบการของ SoftBank ในไตรมาสล่าสุดขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี และนับเป็นการขาดทุนรายไตรมาสที่มากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทด้วย
บทเรียนที่ดีในอดีตไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป
ซันออกมายอมรับความอับอายในครั้งนี้ รวมถึงยอมรับด้วยว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาด อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ไม่นานซันยังคงยืนยันว่าการลงทุนใน WeWork และ Uber เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะมีคนวิจารณ์ แต่เขายังคงเชื่อมั่นว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งคู่น่าจะสร้างกำไรให้ได้เป็นกอบเป็นกำ
ปัญหาของ WeWork ที่มูลค่าลดลงและขาดทุน จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของโมเดลธุรกิจ แต่อีกส่วนก็เกิดจากธรรมาภิบาลของ อดัม นอยมันน์ อดีตซีอีโอและผู้ก่อตั้ง จนทำให้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของ WeWork นำมาสู่การตกฮวบของมูลค่าบริษัท
ซันยอมรับว่าตัวเองมองข้ามปัญหาในตัวนอยมันน์ และมองแต่ด้านดีในตัวเขาว่าเป็นคนมีพลังและมีความมุ่งมั่น ซึ่งซีอีโอ SoftBank ถึงกับเคยเอ่ยปากกับคนสนิทว่าเขาได้สร้างปีศาจขึ้นมาแล้วตัวหนึ่งจากการให้เงิน WeWork โดยไม่สนตัวผู้นำ
การมองข้ามปัญหาและข้อผิดพลาดของซีอีโอบริษัทที่ตัวเองลงทุนและปล่อยให้มีอำนาจเต็มได้กลายเป็นข้อผิดพลาดและบทเรียนครั้งใหญ่ของซัน ที่เจ้าตัวยอมรับว่าหลังจากนี้คงต้องดูผู้นำองค์กรด้วย ไม่ใช่แค่ธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
ที่ซันยึดถือแนวทางเช่นนั้นก็เพราะเขาได้บทเรียนจาก Alibaba อีกเช่นกัน ซันเคยให้สัมภาษณ์ว่าเหตุผลหนึ่งที่ SoftBank ประสบความสำเร็จในการลงทุนกับ Alibaba เพราะ SoftBank ไม่ได้เข้าไปถือหุ้นส่วนใหญ่ (เกิน 51%) ทำให้อำนาจการตัดสินใจยังอยู่กับ แจ็ค หม่า และทีมบริหาร จนทำให้บริษัทประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้นั่นเอง
เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับเหล่านักลงทุน VC ไปด้วยว่าแม้ภาพของโมเดลธุรกิจสตาร์ทอัพจะดูดีแค่ไหน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือผู้บริหารและธรรมาภิบาลของบริษัท ขณะเดียวกันความสำเร็จในอดีตก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าการใช้วิธีเดียวกันนั้นจะนำมาสู่ความสำเร็จในอนาคตเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: