×

คำว่า ‘Soft Power’ ใช้จนเกร่อไปหรือเปล่า?

07.12.2023
  • LOADING...
Soft Power

HIGHLIGHTS

  • Joseph Nye ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Harvard University นำเสนอแนวคิด Soft Power ช่วงปลายยุค 80 โดย Cambridge Dictionary ได้ให้นิยามของ Soft Power ไว้ว่า เป็นการใช้วัฒนธรรมและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวใจให้ประเทศอื่นๆ ทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยปราศจากการใช้กำลังทางการทหาร
  • เราเห็นจากปรากฏการณ์ Hallyu หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านซีรีส์และวง K-Pop หรือ Japan Cool ของญี่ปุ่น ผ่านวัฒนธรรม MAG (Manga, Anime และ Games) ซึ่งไทยก็ตั้งใจไปในแนวทางนี้ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นประเทศที่อุดมด้วยวัฒนธรรม ซึ่งมีทักษะสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ถือเป็นความตั้งใจดีที่รัฐบาลไทยหันมาใส่ใจเรื่องของศิลปวัฒนธรรม (เสียที) พร้อมกับผลักดันให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและตั้งหมุดหมายสร้างรายได้กว่า 4 ล้านล้านบาทในระยะเวลา 4 ปี โดยเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า Soft Power ซึ่งจริงๆ คำนี้มีความหมายกว้างกว่านั้นมาก

 

Joseph Nye ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จาก Harvard University นำเสนอแนวคิด Soft Power ช่วงปลายยุค 80 โดย Cambridge Dictionary ได้ให้นิยามของ Soft Power ไว้ว่า เป็นการใช้วัฒนธรรมและอิทธิพลทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวใจให้ประเทศอื่นๆ ทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยปราศจากการใช้กำลังทางการทหาร โดยมี 3 เสาหลัก คือ วัฒนธรรม คุณค่าทางการเมือง / อุดมการณ์ประชาธิปไตย และนโยบายการต่างประเทศ

 

หลายประเทศผลักดัน Soft Power ของตัวเองผ่านทั้งการทูตเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และทูตวัฒนธรรมเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารทางวัฒนธรรมหรือแม้แต่โฆษณาชวนเชื่อ โดยความสำเร็จของ Soft Power ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของประเทศนั้นๆ ในชุมชนโลก โดยมีวัฒนธรรมป๊อป (Pop Culture) และสื่อสารมวลชนเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

 

Soft Power

 

หากมองในมุมนี้ก็จะเห็นว่า Soft Power มีทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วยกัน ในขณะที่การจัดอันดับ Soft Power ของแต่ละสำนักก็มีเกณฑ์ที่ต่างกันไป ซึ่งประเทศที่มักจะติดโผท็อป 5 ในหลายสำนักก็คือ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เพราะค่อนข้างมีครบทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสอดแทรกแนวคิดไปในวัฒนธรรมป๊อปไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์จากฮอลลีวูดที่ใส่แนวคิดเสรีนิยมและผู้นำของโลกเข้าไปด้วย หรืออังกฤษกับความเป็นต้นแบบของระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งยังเด่นเรื่องวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่รวมถึงการกีฬาอย่างฟุตบอล 

 

นอกจากนี้การที่ทั้งสองประเทศมีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ก็เหมือนเป็นการสอดแทรกแนวคิดให้กับนักศึกษาจากนานาชาติที่เข้าเรียนไปด้วยในตัว

 

Soft Power

 

ในขณะที่ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้โดดเด่นในมิติทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมผ่านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ อย่างที่เราเห็นจากปรากฏการณ์ Hallyu หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านซีรีส์และวง K-Pop หรือ Japan Cool ของญี่ปุ่น ผ่านวัฒนธรรม MAG (Manga, Anime และ Games) ซึ่งไทยก็ตั้งใจไปในแนวทางนี้ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นประเทศที่อุดมด้วยวัฒนธรรม ซึ่งมีทักษะสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 

 

Soft Power

 

ก่อนหน้านี้ไทยก็มีอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการอย่างเป็นระบบ จึงออกนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ (One Family One Soft Power: OFOS) โดยมุ่งเน้นพัฒนาคนในระดับครัวเรือน พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้อง และส่งออกไปสู่สายตาชาวโลก ครอบคลุม 8 อุตสาหกรรม ทั้งศิลปะร่วมสมัย, งานออกแบบ, การท่องเที่ยว, กีฬา, อาหาร, ภาพยนตร์, หนังสือ รวมทั้งดนตรีและเทศกาล และเพราะครอบคลุมวงกว้างขนาดนี้เราจึงได้ยินคำว่า Soft Power บ่อยมาก

 

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ปัญหาเท่ากับความรู้สึกสะเปะสะปะ มองไม่เห็นภาพ และไม่รู้ว่าอะไรคือเรือธง จนทำให้รู้สึกว่า Soft Power ถูกใช้จนเกร่อ และยิ่งผนวกเข้ากับการให้นิยามคำนี้กับสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้คิดว่าเป็นเพียงศัพท์มาร์เก็ตติ้งเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วนี่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและคำนี้ถูกนำมาใช้เร็วเกินไปด้วยวิธีสื่อสารที่ไม่ดีพอ 

 

 

 

ถ้าให้เปรียบเทียบตัวอย่างคลื่นวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ ทุกอย่างถูกวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่คลื่นลูกแรกคือ การส่งออกภาพยนตร์และซีรีส์ต่างๆ จากนั้นก็สร้างแนวดนตรี K-Pop ให้กลายเป็นคลื่นลูกที่ 2 ถัดมาจึงเป็นการส่งออกไลฟ์สไตล์ของเกาหลี ทั้งแฟชั่น เครื่องสำอาง รถยนต์ ไปจนถึงมือถือ เป็นคลื่นลูกที่ 3 แล้วจึงกลายเป็น Soft Power ในคลื่นลูกที่ 4 ที่ทำให้คนคล้อยตามและชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลีไปทั่วโลก  

 

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นคือ การพัฒนาคน ส่งเสริมหลักสูตรสร้างภาพยนตร์ มีการทำระบบโควตาภาพยนตร์เพื่อพัฒนาคุณภาพ ตั้งเป้าให้ภาพยนตร์ท้องถิ่นเข้าฉาย 40% ของทั้งปี ยกเว้นภาษี มีการสนับสนุนเงินทุนสร้างและผลักดันการส่งออกภาพยนตร์เกาหลี รวมทั้งการจัดตั้ง Korea Creative Content Agency (KOCCA) เป็นฟันเฟืองหลักในการสนับสนุนและดูแลการส่งออกคอนเทนต์และวัฒนธรรมเกาหลีให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ 

 

 

พอย้อนกลับมาดูนโยบายของรัฐไทยก็แทบจะไม่ต่างกัน อย่างเช่น นโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ ก็คือการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งการก่อตั้ง THACCA (Thailand Creative Content Agency) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและงบประมาณสร้างระบบนิเวศทั้งหมด รวมทั้งส่งเสริมการส่งออกเพื่อสร้าง 8 อุตสาหกรรม Soft Power ไทยให้ทรงพลัง โดยมีแผนจะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เป็นปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งปลดล็อกเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ตีกรอบความคิดสร้างสรรค์เร็วๆ นี้ (เขาว่าอย่างนั้น) เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางที่คล้ายกับเกาหลีใต้ ขาดก็แต่เราก็ยังนึกไม่ออกว่าอะไรจะเป็นอุตสาหกรรมทะลวงฟันให้บรรลุเป้าหมายแรกได้ 

 

อย่างที่เห็นกันว่าเกาหลีใต้เลือกใช้วัฒนธรรมป๊อปผ่านซีรีส์ ภาพยนตร์ และเพลง แล้วจึงสอดแทรกส่วนอื่นๆ เข้าไป อย่างเช่น การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่น ความงาม และไลฟ์สไตล์ ขณะที่ไทยเท่าที่สังเกตก็ยังมุ่งไปที่การท่องเที่ยวและสินค้าทางวัฒนธรรม อย่างเช่น โครงการเทศกาลประจำเดือน นัยว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ง่ายต่อการพัฒนา แต่ขณะเดียวกันก็เหมือนไม่ได้สร้างสรรค์อะไรใหม่นอกจากชื่อใหม่ว่า ‘Soft Power’ 

 

 

ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ยังไม่มีอะไรออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ณ จุดนี้ก็พอจะเข้าใจว่านโยบายเพิ่งเริ่มต้น ก็คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะมีอะไรใหม่เกิดขึ้นอีกบ้าง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่อาจตีความคำว่า ‘ ไทย’ ไม่ตรงกับฝ่ายอนุรักษนิยม อย่างเช่น ศิลปะร่วมสมัย, การออกแบบและแฟชั่น, ดนตรี หรือภาพยนตร์และซีรีส์ เมื่อดูในนโยบายของพรรคเพื่อไทยก็มีจุดที่คล้ายๆ กันคือ การเพิ่มช่องทางเข้าถึงกองทุน อำนวยความสะดวก แก้กฎหมาย และให้อิสระทางความคิดสร้างสรรค์  

 

สรุปแล้วก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สอดแทรกคุณค่าทางวัฒนธรรมและการค้าเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ใช้กำลังทางทหารน้อยกว่าพลังทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกับ Soft Power ที่แท้จริงของประเทศโดยตรง และกว่าที่เราจะทรงพลังขนาดนั้นอาจต้องขอให้หาคำอื่นๆ มาใช้บ้าง ไม่อย่างนั้นเราคงสับสนและเบื่อคำว่า Soft Power ไปเสียก่อน

 

 

อ้างอิง:

FYI
  • ผลการจัดอันดับความสามารถด้าน Soft Power ของโลก (Global Soft Power Index) โดย Brand Finance ในปี 2022 ไทยอยู่ในอันดับ 35 จาก 120 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นอันดับ 6 ของเอเชีย รองจากจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และอินเดีย
  • การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก (Premier League) สร้าง GDP มากถึง 7.6 พันล้านปอนด์ และ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีกยังสร้างงานมากถึง 10,000 ตำแหน่ง 
  • One Piece ถูกตีพิมพ์กว่า 60 ล้านเล่ม และจำหน่ายมากกว่า 35 ประเทศ รวมถึงแอนิเมชันฉายใน 40 ประเทศ ส่วน Naruto ถูกตีพิมพ์มากกว่า 75 ล้านเล่มใน 35 ประเทศทั่วโลก เวอร์ชันแอนิเมชันฉายในประเทศต่างๆ กว่า 80 ประเทศ 
  • ในปี 2020 ยอดส่งออกเครื่องสำอางของเกาหลีใต้พุ่งขึ้นถึง 16.1% เมื่อเทียบกับปี 2019 อยู่ที่ 7,570 ล้านดอลลาร์ ทำให้เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องสำอางรายใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา 
  • เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในฝรั่งเศสทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 6 แสนตำแหน่ง คิดเป็นกว่า 2% ของ GDP ของประเทศ 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X