นายกรัฐมนตรีรับปากช่วย 7 สายการบิน เตรียมออกซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้านบาทในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมขยายเวลาลดค่าธรรมเนียมถึงเดือนมีนาคม 2565 โบรกเกอร์มองบวกต่อ AAV แต่อาจกระทบ AOT เหตุรายได้หด ด้านคลังจัดหนัก THAI แฉเหตุขาดทุนหนัก-มีทุจริต
นายกฯ พร้อมช่วยสายการบิน วอนอย่าปลดคน-งดแข่งตัดราคา
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหลังรับหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทยเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จากคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทยว่า ภาครัฐจะพิจารณาข้อเสนอจากภาคธุรกิจการบินและหาวิธีการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด
โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทยที่เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นหนังสือฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์, สายการบินไทยเวียตเจ็ท, สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส
ทั้งนี้ รัฐบาลโดย ศบค. กำลังหามาตรการผ่อนปรนในหลายเรื่อง ทั้งการหาแนวทางปลดล็อกเรื่องการบิน รวมทั้งกำลังเร่งผ่อนคลายเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศ โดยต้องพิจารณาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศด้วย โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ภาคธุรกิจการบินร่วมมือกันให้มากขึ้น ลดการแข่งขันด้านราคา โดยให้แข่งขันกันด้านบริการ ให้จัดระเบียบการดำเนินงานให้ดี ให้คงสภาพการดำเนินงานโดยไม่ให้มีหนี้สินเพิ่ม และไม่ลดการจ้างพนักงาน โดยรัฐบาลจะหามาตรการเสริมต่างๆ ช่วยโดยเร็วต่อไป
รัฐบาลจัดซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้านบาทเพื่อช่วยเหลือในเดือนตุลาคมนี้
ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) หรือสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ รับปากจะพิจารณาจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่สายการบินในประเทศ ซึ่งตรงกับข้อเสนอที่ทางกลุ่มได้ร้องขอไป
สำหรับข้อเสนอของ 7 สายการบินต่อรัฐบาลอีก 2 ประเด็นคือ ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น รวมถึงการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน เช่น การขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Fee) ที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee)
ขยายเวลาช่วยค่าธรรมเนียมถึงเดือนมีนาคม 2565
ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่ากระทรวงการคลังได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินนั้นสามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ออกไปถึงเดือนมีนาคม 2565
ขณะที่เรื่องการขอให้คงภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินนั้นจะยังคงไว้ตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
โบรกเกอร์มั่นใจ 2.4 หมื่นล้านบาทเพียงพอ แต่หวั่นกระทบ AOT
บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KTBST เปิดเผยว่าจากกรณีภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการสายการบินเป็นบวกต่อกลุ่มการบิน การขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบินและการขยายเวลาลดค่าบริการ Landing และ Parking จะได้ประโยชน์มากขึ้นจากการออกมาตรการก่อนหน้านี้ จากจำนวนเที่ยวบินปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่จำนวนเที่ยวบินน้อยลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19
ขณะที่การขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดความกดดันต่อปัญหาด้านสภาพคล่องต่อผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งจะเป็นบวกระยะสั้น โดยประเมินว่าสินเชื่อจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาทจะเพียงพอต่อการเยียวยา 7 สายการบิน เนื่องจากเป็นการคำนวณของทั้ง 7 สายการบินแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากรวมการบินไทยด้วย ประเมินว่าสินเชื่อจำนวน 2.4 หมื่นล้านบาทจะไม่เพียงพอเยียวยาผู้ประกอบการสายการบิน เนื่องจากสายการบินไทยมีหนี้สินอยู่ในระดับสูง คาดว่าหากภาครัฐจะช่วยเหลือสายการบินไทยจะแยกช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะไม่รวมอยู่กับกลุ่มสายการบิน ขณะที่การปิดให้ผู้ประกอบการสายการบินสามารถจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินได้ จึงมองว่าผลกระทบยังไม่มาก
ทั้งนี้ประเมินว่า AAV จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว เนื่องจากมีการกลับมาเปิดให้บริการเที่ยวบินเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งแนะนำ ‘ถือ’ โดยมีราคาเป้าหมาย 2.00 บาท และคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะเป็นบวกระยะสั้นต่อราคาหุ้น AAV เท่านั้น
ขณะเดียวกัน มาตรการดังกล่าวจะเป็นปัจจัยลบต่อ AOT ที่ยังคงต้องมีมาตรการให้ส่วนลดต่อสายการบินอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ AOT ได้ให้ส่วนลดต่างๆ กับสายการบินไปมากแล้ว ซึ่งทำให้ผลประกอบการของ AOT ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนตัวลง แนะนำ ‘ถือ’ โดยมีราคาเป้าหมาย 59.00 บาท
‘ถาวร’ จัดหนัก แฉ 3 เหตุ THAI ขาดทุนหนัก-ทุจริต
ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบการขาดทุนว่ามีเวลาทำงาน 43 วัน โดยจะต้องรายงานผลการตรวจสอบให้กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง
โดยจุดเริ่มต้นของการขาดทุนต้องย้อนไปในปี 2551 ซึ่งนับเป็นเวลา 3 ปีจากเที่ยวบิน A340 เริ่มทำการบิน การบินไทยขาดทุนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมา 60 ปี เป็นมูลค่า 21,450 ล้านบาท ต้องแก้ปัญหาด้วยการออกหุ้นกู้เป็นครั้งแรก รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจำนวนมหาศาลที่เป็นการใช้เงินแบบไม่สมเหตุสมผล มีการเสียเงินแบบไม่น่าเสีย และส่อไปในทางทุจริต
คณะทำงานฯ พบว่าปัญหาการขาดทุนของการบินไทยจำนวนไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาทมาจากการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำนั้น เป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการคือ
1. การบินไทยไม่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
2. ปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานการบินไทย วงเงินกว่า 254 ล้านบาท ในการเอื้อประโยชน์ให้มีการจัดซื้อเครื่องยนต์อะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย (Total Care Agreement)
3. มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ
ตะลึง พบค่าโอทีฝ่ายช่างสูงกว่า 2 พันล้านบาท
ด้าน พล.ต.ท. ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตัวแทนคณะทำงานตรวจสอบ กล่าวว่าหลังจากตรวจสอบรายงานการประชุมของคณะกรรมการชุดต่างๆ ของ THAI ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2560-2562 จนกระทั่งการบินไทยพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563
พบว่าการใช้จ่ายของ THAI ที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุลส่อให้เกิดการทุจริต ซึ่งเกี่ยวพันกับการทำสัญญาต่างๆ และการบริหารงานที่เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองและพวกพ้อง คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบช่วงปี 2560-2562 ซึ่งการบินไทยขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก
โดยพบว่าค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ของฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท โดยตรวจพบพนักงาน 1 คนทำโอทีสูงสุดได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำโอทีถึง 419 วัน ทั้งที่ 1 ปีมีเพียง 365 วัน มีการจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำแบบเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละลำมีราคาไม่เท่ากัน มีส่วนต่างของราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน มีการจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท
ขณะที่ผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 2 แสนบาท ผ่านไป 9 เดือนเพิ่มเป็น 6 แสนบาท โดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา และยังมีอีกมากมายในหลายๆ แผนก ทั้งการขายตั๋ว การโฆษณา การจัดซื้ออุปกรณ์บนเครื่อง ครัวการบินไทย น้ำมันเชื้อเพลิง
เรียบเรียง: ประน้อม บุญร่วม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์