ส่องพอร์ตลงทุน กองทุนประกันสังคม ณ ไตรมาส 3/63 เงินลงทุน 2,104,508 ล้านบาท ลดลงราว 1 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ผลตอบแทนการลงทุน ลดลง 15,955 ล้านบาท ปรับแผนลงทุนในหุ้น-กองทุนในประเทศ หันลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น
สำนักงานประกันสังคม รายงานสถานะการบริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ ไตรมาส 3/63 สิ้นสุด 30 กันยายน 2563 มีเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมอยู่ที่ 2,104,508 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,678,291 ล้านบาท คิดเป็น 80%, ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 426,217 ล้านบาท คิดเป็น 20% ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสม ตั้งแต่ปี 2534-ปัจจุบัน จำนวน 659,827 ล้านบาท
ทั้งนี้พบว่า เงินลงทุนประกันสังคม ณ 30 กันยายน 2563 ลดลง 10,267 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 2,114,775 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2534-ปัจจุบัน มีผลตอบแทนลดลง 15,955 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีผลตอบแทนสะสม 675,782 ล้านบาท
หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนกองทุนประกันสังคมเพิ่มขึ้น 49,468 ล้านบาท จาก ณ 30 กันยายน 2562 อยู่ที่ 2,055,044 ล้านบาท โดยผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีผลตอบแทนการลงทุน 646,220 ล้านบาท
สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่รับรู้แล้วของกองทุนประกันสังคม ตั้งแต่ปี 2553 ถึง 30 กันยายน 2563 มีจำนวน 42,089 ล้านบาท แบ่งเป็นดอกเบี้ยและกำไรจาการขายตราสารหนี้และค่าธรรมเนียมการให้ยืมหลักทรัพย์ จำนวน 31,461 ล้านบาท และเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนและหน่วยลงทุน จำนวน 31,461 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 ที่มีผลตอบแทนการลงทุนที่รับรู้แล้ว 85,633 ล้านบาท แบ่งเป็นผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้ 43,978 ล้านบาท และเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนและหน่วยลงทุน 41,655 ล้านบาท
สัดส่วนการลงทุน ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ประกอบด้วย
- ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 1, 423,932 ล้านบาท คิดเป็น 67.66%
- ลงทุนตราสารทุนไทย จำนวน 242,135 ล้านบาท คิดเป็น 11.51%
- ลงทุนหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จำนวน 147,979 ล้านบาท คิดเป็น 7.03%
- หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ จำนวน 96,209 ล้านบาท คิดเป็น 4.57%
- หุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จำนวน 89,271 ล้านบาท คิดเป็น 4.24%
- หน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และทองคำ จำนวน 77,515 ล้านบาท คิดเป็น 3.69%
- ลงทุนเงินฝาก จำนวน 17,109 ล้านบาท คิดเป็น 0.81%
- พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่คลังไม่ค้ำประกัน จำนวน 10,358 ล้านบาท คิดเป็น 0.49%
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
เรียบเรียง: จารุวรรณ เอี่ยมยิ่งพานิช