ย้อนกลับไปในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีข่าวดุเดือดไม่แพ้สภาพอากาศเดือนเมษายน เมื่อ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ นักแสดงและนางแบบระดับตำนานได้โพสต์วิดีโอคลิปทางอินสตาแกรมส่วนตัว แสดงทัศนะทางสังคมในประเด็นทางสังคม เมื่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐออกมาเตือนให้ผู้หญิงงดแต่งกายเซ็กซี่ในช่วงสงกรานต์ เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ซินดี้ สิรินยา แสดงความคิดเห็นโดยอ้างอิงถึงกรณีที่ตนเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศทั้งๆ ที่ไม่ได้แต่งกายเซ็กซี่ สำคัญที่สุดในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะแต่งตัวอย่างไรก็ได้ตราบใดที่ไม่อนาจารหรือผิดกฎหมาย ผู้ชายต่างหากที่ควรพิจารณาการกระทำของตนเอง เพราะไม่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไร ผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์มาแตะเนื้อต้องตัว ตราบใดที่ยังไม่ได้รับการยินยอมจากอีกฝ่าย
หลังจากคลิปดังกล่าวถูกโพสต์และส่งต่อกันมากมายทางสังคมออนไลน์ ที่สุดมันได้จุดกระแสให้ผู้คนจำนวนมากออกมาร่วม ‘สนับสนุน’ ความคิดของเธอ จนเกิดเป็นแคมเปญ #DontTellMeHowToDress เธอจึงคิดต่อยอดกระแสให้กลายมาเป็นกิจกรรมซึ่งเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยหวังให้สังคมไทยหันมาตระหนักและมีมุมมองความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ
ล่าสุดวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ได้ร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women), มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพชื่อดัง, บริษัท ดู.ดิด.ดัน จำกัด, บริษัท รพินท์นิภา จำกัด และศูนย์การค้าสยามพารากอน เพื่อจัดนิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ (Social Power Exhibition Against Sexual Assault) ที่ลานแฟชั่น ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น 1
บรรยากาศในพิธีเปิด มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘ถอดประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศ’ โดย แอนนา-คาริน จัตฟอร์ส (Anna-Karin Jatfors) ผู้อำนวยการ UN Women ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้ชี้ให้เห็นว่า การคุกคามทางเพศยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาอย่างยาวนาน และมายาคติที่ว่าผู้หญิงเป็นสาเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะด้วยเครื่องแต่งกาย หรือการพาตัวเองไปอยู่ในสถานที่สุ่มเสี่ยง ยังคงเป็นความเชื่อผิดๆ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยึดถือ
อภิญญา เวชยชัย ประธานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เล่าเสริมอีกว่า จากสถิติที่มูลนิธิได้จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศมีช่วงอายุตั้งแต่ 2-80 ปี ซึ่งขัดกับความคิดของคนส่วนใหญ่ที่เชื่อว่า การล่วงละเมิดทางเพศมักเกิดขึ้นในวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว หรือเสื้อผ้าของเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศซึ่งเป็นเสื้อผ้าปกติ ที่ใช้สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้เซ็กซี่หรือโป๊เปลือยแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความเข้าใจผิดที่สังคมมีต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ
ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหา ประธานมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเสริมว่า “ในความเป็นจริง ผู้ชายจำนวนมากอาจจะถูกสื่อสารด้วยความคิดทางสังคมมายาวนานว่ามีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ทำให้ผู้ชายมักลงโทษผู้หญิงโดยการชี้นิ้ว โดยการบอกว่า เพราะเธอนั่นแหละเลยเป็นแบบนี้ ซึ่งทางแก้คือต้องไปแก้กับระบบการศึกษา ไปแก้ในเรื่องการสร้างความตระหนักในสังคม แก้โดยการทำให้ผู้ชายมองเห็นผู้หญิงทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน และมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน”
ณัฐ ประกอบสันติสุข ช่างภาพเจ้าของผลงานภาพถ่ายในนิทรรศการ กล่าวว่า ตัวนิทรรศการจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นการจัดแสดงเสื้อผ้าของผู้หญิงซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมข้อความบรรยายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และส่วนที่สองเป็นภาพถ่ายของศิลปิน นักแสดง อาทิ สินจัย เปล่งพานิช, เมทินี กิ่งโพยม, อนันดา เอเวอริงแฮม, ปาณิสรา อารยะสกุล พร้อมบทสัมภาษณ์ถึงความเห็นที่มีต่อปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคมไทย
ปิดท้ายด้วยเสวนา ‘ถอดประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศ’ โดยนางสาวธารารัตน์ ปัญญา ซึ่งได้มาเล่าเรื่องราวที่เธอเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยคนสนิท และขั้นตอนการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย ที่ประชาชนทั่วไปสามารถทำได้เมื่อประสบเหตุจริง
ส่วนใครที่สนใจนิทรรศการฯ จะจัดแสดงที่ลานแฟชั่นฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายนถึงวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะย้ายไปจัดแสดงต่อที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 3-15 กรกฎาคมนี้