×
SCB Omnibus Fund 2024

รองโฆษกรัฐบาลปัดข่าวนำประเด็น CPTPP เข้าหารือ ครม. เมื่อวานนี้ เผยอาจชงเข้าที่ประชุมกลางเดือน ก.ค.

07.07.2021
  • LOADING...
CPTPP

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อโซเชียลมีเดียเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยว่า ได้มีการนำผลการศึกษาเกี่ยวกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมหรือไม่

 

ขณะเดียวกันยังมีกระแสเรียกร้องให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้นักวิชาการไปศึกษาข้อดี-ข้อเสีย ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ พร้อมกับเชิญชวนให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP มาร่วมลงชื่อเพื่อสนับสนุนการคัดค้าน

 

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ยังไม่มีการพิจารณาเห็นชอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เนื่องจากยังอยู่ในช่วงการขยายระยะเวลาการศึกษาออกไปอีก 50 วันตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จากครั้งแรกที่ให้ไปศึกษา 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดต้องเข้า ครม. อีกครั้งไม่เกินกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อที่จะขอมติ ครม. เห็นชอบในการขอไปเจรจา CPTPP ที่จะเกิดขึ้นราวเดือน สิงหาคม-กันยายน 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อในระดับสูง อาจทำให้ต้องขยับเวลาในการเจรจาออกไปอีก 

 

“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนว่า ครม. จะเห็นชอบให้ไปเจรจาหรือไม่ ถ้า ครม. เห็นชอบก็เดินหน้าเจรจา ขอย้ำว่าเป็นเพียงการไปเจรจาเท่านั้น แต่ถ้า ครม. ไม่เห็นชอบก็จบ ไม่ไปต่อ” 

 

รัชดากล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ไปศึกษาข้อสงวนและข้อกังวลในเรื่องสิทธิบัตรยา พันธุ์พืชและการเยียวยา เพื่อดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้คนไทยได้รับผลกระทบและในกรณีที่เกิดปัญหาจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งแต่ละกระทรวงได้ทำเป็นเช็กลิสต์ เพื่อแสดงถึงจุดยืนในการเจรจา โดยจะนำข้อมูลการศึกษาไปประกอบการเจรจาด้วย

 

“ถ้าถามความเห็นส่วนตัว หากเราไม่เจรจาเลยก็จะเสียโอกาสหลายๆ เรื่อง กว่าจะเจรจาจบต้องใช้เวลาหลายปี และยังต้องเข้ารัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ก่อนลงนามเข้าร่วม CPTPP ส่วนข้อกังวลนั้น วันนี้เราทำการบ้านอยู่ว่าจะขอข้อสงวนอีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีถึงจะมีผลบังคับใช้ได้หรือไม่ โดยแต่ละกระทรวงก็จะทำแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับในเรื่องที่เป็นข้อกังวลจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไร” รัชดา กล่าว

 

แหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) กล่าวกับ  THE STANDARD WEALTH ถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย ในฐานประธาน กนศ. ได้ส่งผลสรุปการศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนจากนี้จึงขึ้นอยู่กับสำนักเลขา ครม. ว่าจะนำเสนอให้ ครม. พิจารณาในการประชุมรอบที่กำลังจะมาถึงนี้หรือไม่

 

เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ได้ทำหนังสือถึง ผยง ศรีวณิช ประธาน กกร. เพื่อขอรายงานการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียหากไทยเข้า CPTPP ที่ กกร. จัดจ้างและขอให้เปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ

 

โดยเนื้อความในจดหมายถึง กกร. ระบุว่า “ด้วยกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประสานงานระหว่างกลุ่มนักวิชาการหลายมหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรภาคประชาชน เพื่อติดตามการเจรจาและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA: Free Trade Agreement) ระหว่างประเทศไทยและประเทศ/กลุ่มประเทศต่างๆ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีความประสงค์ขอข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียของไทยต่อการเข้าร่วมความตกลงครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ที่ทาง กกร. ได้จัดจ้างทีม ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ดร.ทัชมัย ฤกษะสุต และ ดร.ชโยดม สรรพศรี ทำการศึกษา เพื่อเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งของการติดตามตรวจสอบนโยบายสาธารณะของทางกลุ่มฯ

 

ทั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากทาง กกร. จะได้นำรายงานการวิเคราะห์ฉบับเต็มเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ของ กกร. ด้วย”

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising