การทำ Social Distancing เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่เราต้องระวังอย่าให้ ‘ความห่างทางสังคม’ สร้าง ‘รอยร้าวในสังคม’
อย่าให้ Social Distancing กลายเป็น Social Inequality
- Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน เรียนจากบ้าน การหลีกเลี่ยงผู้คน ฯลฯ ที่กำลังพยายามผลักดันกันนั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อจำกัดการระบาดของไวรัสโคโรนา และ Flatten the Curve เพื่อชะลอการระบาด
- แต่ความสามารถในการทำ Social Distancing นั้นแตกต่างกันมาก หลายคนทำ Social Distancing ยาก เพราะลักษณะของอาชีพ (เช่น อาชีพขับรถแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์)
- บางคนทำไม่ได้ เพราะขาดการเข้าถึงหรือเข้าใจการใช้เทคโนโลยี (เช่น การประชุม การเรียน การทำธุรกิจออนไลน์) นี่เป็นประเด็นสำคัญมากในประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
- บางคนทำไม่ได้เพราะ ‘สายป่านสั้น’ ต้องหาเช้ากินค่ำ และทุกวันที่ต้องหยุดงานเพราะ Social Distancing หรือกักตัวก็ตาม คือการเสียรายได้ที่จำเป็นในการเลี้ยงครอบครัว ทั้งยังมีหนี้ที่ต้องแบกไว้อีก การทำ Social Distancing จึงอาจตอกย้ำปัญหาหนี้และความเหลื่อมล้ำ
- เรื่องการเรียนจากที่บ้านก็เช่นกัน บางครั้งนักเรียนขาดอุปกรณ์หรืออินเทอร์เน็ตสัญญาณดีพอที่จะทำให้เรียนออนไลน์ได้ บางครอบครัวที่ปกติให้ลูกทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนก็จะต้องหาซื้อเอง
- หากนโยบาย Social Distancing ไม่ได้คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ อาจก่อให้เกิดอย่างน้อย 2 ปัญหา
- หนึ่ง การเว้นระยะห่างอาจสร้างรอยร้าวในสังคม สร้างความไม่เท่าเทียมระหว่างคนสายป่านยาวและสายป่านสั้น ความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรุ่นดิจิทัลและคนยุคอนาล็อก ความไม่เท่าเทียมระหว่างอาชีพ โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อาจไม่ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการรัฐ
- สอง การเว้นระยะห่างอาจไม่ได้ผล เพราะคนไม่ปฏิบัติตาม เนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคทำให้เขาไม่สามารถทำได้ และหากอาชีพของคนกลุ่มนี้มีการต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่เขาจะติดเชื้อและแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อ
- บทความในหนังสือพิมพ์ New York Times ทำข้อมูลออกมาชี้ให้เห็นว่า อาชีพใดบ้างที่มีความเสี่ยงที่จะติดไวรัสและมีโอกาสแพร่เชื้อต่อผู้อื่น ผมไม่แน่ใจว่าเรามีฐานข้อมูลแบบนี้ไหมในประเทศไทย แต่น่าจะมีประโยชน์มากถ้าทำได้
- ในเมื่อ Social Distancing เป็นสิ่งจำเป็น ผมว่ารัฐบาลควรทำความเข้าใจว่า กลุ่มคนใดบ้างที่อาจไม่สามารถทำ Social Distancing ได้ เพราะอะไร และพอมีทางช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
- ยกตัวอย่าง รัฐบาลอาจต้องมีมาตราการ #การคลังหยุดเชื้อเพื่อชาติ มาคู่กับ #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
เช่น ชดเชยทางการเงินช่วยเหลือกลุ่มคนที่:
หนึ่ง สายป่านสั้น
สอง ต้องทำงานที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อสูง
สาม มีโอกาสแพร่เชื้อต่อคนอื่นสูง เพื่อให้เขาไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานในช่วง Social Distancing
- มองด้านหนึ่งนี่เป็นนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อีกในด้านหนึ่งมันทำได้มากกว่ากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นอย่างเดียว ทั้งได้ช่วยคนที่มีข้อจำกัดเรื่องการเงินจริงๆ (ช่วยเรื่องความเหลื่อมล้ำ) ได้ช่วยคนกลุ่มที่เสี่ยงติดโรค โดยการไม่ทำให้สถานการณ์บีบบังคับให้เขาต้องออกไปทำงาน อีกทั้งได้ลดความเสี่ยงที่คนกลุ่มนี้จะออกไปแพร่เชื้อต่อในชุมชนหากเขาติดเชื้อ เท่ากับว่ายิงนัดเดียวได้นกหลายตัว
- สรุป การผลักดัน Social Distancing เป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องทำอย่าง ‘มีหัวใจ’ คือเข้าใจในบริบทและหัวอกผู้ต้องปฏิบัติ
ต้องรู้จักใช้เครื่องมือทางนโยบายต่างๆ มาช่วยแก้ปัญหา (เช่น นโยบาย #การคลังหยุดเชื้อเพื่อชาติ ในตัวอย่างที่ผมยกข้างบน)
เพราะหาก Social Distancing ไม่เวิร์กสำหรับคนบางกลุ่ม มันก็จะไม่ได้ผลสำหรับสังคมโดยรวมเช่นกัน
อย่าให้ความห่างทางสังคมสร้างรอยร้าวในสังคม
อย่าให้ Social Distancing กลายเป็น Social Inequality
มาทำให้ ‘Social Distancing มีหัวใจ’ สอดคล้องกับแนวคิดแบบ ‘ทุนนิยมมีหัวใจ’ กันเถอะ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: