“คุณปู่ถูกฝังทั้งอย่างนั้น ไม่มีพิธีการ ไม่มีญาติ มีเพียงแต่คำให้ศีลของนักบวชเท่านั้น”
หญิงสาวชาวอิตาลีซึ่งต้องกักตัวอยู่ที่บ้านจึงไม่สามารถไปร่วมงานศพได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยคุณปู่ของเธอติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เสียชีวิตในวัย 83 ปี ท่ามกลางยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอิตาลีที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 800 รายภายในวันเดียวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (21 มีนาคม 2563) ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป หรือคนวัยปู่ย่าตายายของเรานั่นเอง
คล้ายว่าจะเป็นวันหยุดสงกรานต์
เทศกาลสงกรานต์ของทุกปีเป็นช่วงที่นักศึกษาหรือคนวัยทำงานที่กรุงเทพฯ ตั้งหน้าตั้งตารอคอยจะกลับไปรวมญาติพี่น้องกันที่ภูมิลำเนาของตัวเอง โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน
ในขณะเดียวกันปู่ยาตายายหรือ ‘ป้ออุ๊ยแม่อุ๊ย’ (ภาษาถิ่นเหนือ) ที่บ้านต่างก็เฝ้ารอการกลับมาของลูกหลานเช่นกัน รวมถึงช่วงนั้นจะมีการพบปะสังสรรค์ของเพื่อนร่วมรุ่น เพื่อรดน้ำดำหัวครูบาอาจารย์ และจัดผ้าป่าบริจาคทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนที่เรียนจบมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่ต่างจังหวัดครึกครื้นมากที่สุดของปีเลยทีเดียว แต่ทว่าปีนี้วันหยุดสงกรานต์คล้ายว่าจะเริ่มต้นเร็วกว่ากำหนด
ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-15 เมษายนออกไปก่อน เพื่อหยุดการเคลื่อนย้ายคนจำนวนมากออกต่างจังหวัด แต่ต่อมาวันที่ 21 มีนาคม ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กลับมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เสี่ยง เช่น ห้างสรรพสินค้า (ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา และร้านอาหาร-เฉพาะซื้อกลับบ้าน) สถานบันเทิง ร้านสปา ร้านอาบอบนวด สนามกีฬา ฟิตเนส ฯลฯ รวม 26 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม ถึง 12 เมษายน เพราะเป็นสถานที่ที่มีผู้คนแออัด ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ (แต่หลังจากเกิดการระบาดสถานที่เหล่านี้ก็มีผู้คนเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด)
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการ 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร และสมุทรปราการ ยังได้ประกาศปิดสถานที่เสี่ยงในทำนองเดียวกับกับกรุงเทพฯ ด้วย แต่ระยะเวลาสั้นกว่า เช่น นนทบุรี ประกาศปิดสถานที่ทั้งหมด 30 ประเภท ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ถึง 12 เมาายน ส่วนนครปฐมปิดเฉพาะ 14 ประเภทระหว่างวันที่ 22-31 มีนาคม เป็นต้น
ส่งผลให้คนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องหยุดงานไปโดยปริยาย ภาพสถานีขนส่งและสถานีรถไฟในวันที่ 22 มีนาคม จึงแน่นขนัดไปด้วยผู้ที่ต้องการเดินทางกลับต่างจังหวัดช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ยังลังเลว่าจะกลับหรือไม่กลับดี
“ขอให้ผู้ที่โดยสารรถ…จากสถานีขนส่งหมอชิตถึง…มารายงานตัวที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด…เนื่องจากมีผู้โดยสารป่วยเป็นโควิด-19”
คำสั่งปิดสถานที่แออัดของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ทำให้เกิดสถานที่แออัดแห่งใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งก็คือสถานีขนส่งสาธารณะ เหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นและมีโอกาสเป็นไปได้คือ ถ้าหากผู้โดยสารที่เบียดเสียดกันอยู่นั้นป่วยเป็นโควิด-19 ไอจามขึ้นมาโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย คนรอบข้างจำนวนมากก็มีโอกาสติดเชื้อตามไปด้วย หรือถ้าเขานั่งบนรถทัวร์ซึ่งอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ก็จะทำให้ผู้โดยสารทั้งคันกลายเป็น ‘ผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง’
ดังนั้นสำหรับผู้ที่ต้องหยุดงานแล้วยังลังเลอยู่ว่าจะกลับหรือไม่กลับบ้านที่ต่างจังหวัดดี จะมีทางเลือก 2 ทางคือ
- ทยอยเดินทางกลับ เพื่อหลีกเลี่ยงความพลุกพล่านของสถานีขนส่ง หรือ
- ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ ยังไม่เดินทางกลับในช่วงนี้ แต่หยุดสังเกตอาการอยู่ที่หอพักหรือห้องเช่าปัจจุบันจนครบ 14 วันก่อน ถึงค่อยกลับบ้าน ซึ่งจะยังพอมีเวลาเหลืออีก 1 สัปดาห์ ก่อนจะถึงกำหนดเปิดสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ เพราะเจตนาของการประกาศปิดสถานที่ก็คือการหยุดวงจรการระบาด หากมีคนใดคนหนึ่งได้รับเชื้อในช่วงก่อนหน้านี้ไปแล้วก็จะได้ไม่ออกไปแพร่เชื้อต่อ
(ขออนุญาตหมายเหตุไว้สักเล็กน้อยว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับคำขวัญ ‘เพื่อชาติ’ นี้สักเท่าไรหรอกนะครับ เพราะเป็นการผลักให้คนที่ไม่หยุดอยู่บ้านกลายเป็น ‘คนไม่รักชาติ’ ไปโดยไม่ตั้งใจ ทั้งที่เขาอาจมีความจำเป็นบางอย่าง เช่น ค่าครองชีพ จึงทำให้เขาไม่สามารถหยุดอยู่บ้านได้ และ ‘ชาติ’ ซึ่งก็คือรัฐบาลที่ต้องช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้)
โควิด-19 มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5 วัน และนานที่สุด 14 วัน แต่สามารถตรวจพบเชื้อในทางเดินหายใจได้ก่อน 1-2 วัน ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อก่อนที่จะมีไข้ ไอ เจ็บคอได้
ส่วนผู้ที่เดินทางกลับถึงบ้านแล้ว
“คุณตาวัย 88 ปีต้องเสียชีวิตลงที่บ้าน หลังจากป่วยเป็นไข้เพียงไม่กี่วัน ฉันไม่มีทางเรียกรถฉุกเฉินได้เลย เพราะสายด่วนไม่ว่างตลอดเวลา” คำบอกเล่าของชาวอิตาลีสะท้อนสถานการณ์ที่เลวร้ายจากการบาดของโควิด-19 ส่วนที่โรงพยาบาลก็ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ทั้งหมด แม้กระทั่งเมื่อเสียชีวิตแล้วก็ยังต้องเก็บศพไว้ในห้องเย็นรอจนกว่าจะหาโลงได้ เพราะโลงศพไม่เพียงพอ ภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นในต่างจังหวัดของประเทศไทยหรือไม่ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า?
เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีแหล่งการระบาด 2 แห่งหลัก คือ สนามมวยลุมพินี (ขยายการสอบสวนโรคออกไปจากกรณี แมทธิว ดีน) และสถานบันเทิงย่านทองหล่อ (ขยายการสอบสวนโรคออกไปจากกลุ่มเพื่อน 15 คน) ทำให้อาจมีการระบาดของโควิด-19 ในชุมชนมาระยะหนึ่งแล้ว
ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ จึงอาจได้รับเชื้อไปแล้ว แต่ยังไม่แสดงอาการ เพราะยังอยู่ในระยะฟักตัว ดังนั้นผู้ที่เดินทางกลับในภูมิลำเนาในช่วงนี้จะต้องแยกตัวสังเกตอาการจนครบ 14 วันก่อนที่จะไปใกล้ชิดกับญาติผู้ใหญ่ หรือพบปะสังสรรค์พี่น้องและเพื่อนฝูง
จากข้อค้นพบจากประเทศจีนพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 8 ใน 10 คนจะมีอาการน้อย และสามารถรักษาหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาต้านเชื้อไวรัส ส่วนอีก 2 คนจะมีอาการรุนแรง ซึ่งมักเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคถุงลมโป่งพอง (สูบบุหรี่) โรคไตเรื้อรัง โรคตับแข็ง (ดื่มเหล้า) หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากใครมีกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ในครอบครัวจะต้องเว้นระยะห่างจากพวกเขา 1-2 เมตร
ที่สำคัญผู้ป่วยบางคนไม่แสดงอาการ เช่น นักมวยที่ติดเชื้อ คือมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ร่างกายแข็งแรง ก็อาจเป็นพาหะแพร่เชื้อต่อให้กับคนใกล้ชิดที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันได้
‘โรงพยาบาลหรือโรงฆ่าสัตว์’ หลายคนที่เคยไปเยี่ยมผู้ป่วยอาจเคยเปรียบเปรยด้วยสภาพความแออัดของสถานที่ ผู้ป่วยใหม่ต้องนอนเตียงเสริมตามระเบียงทางเดิน หรือตอนที่ผมเคยทำงานที่โรงพยาบาลศูนย์บางช่วงต้องเสริมเตียงถึงหน้าลิฟต์ก็มี
ในขณะที่แพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เกิดความล่าช้าในการให้บริการ จนเกิดความขุ่นข้องหมองใจระหว่างกันหลายต่อหลายครั้ง ยังไม่นับถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เครื่องช่วยหายใจ ที่ในภาวะปกติก็แทบหมุนเวียนใช้ไม่ทัน หากเกิดภาวะโควิด-19 แทรกซ้อนขึ้นมาอีก โรงพยาบาลคงโกลาหลมาก
ทุกคนคงไม่อยากให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศอิตาลีแห่งที่ 2
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องอยู่ห่างจากผู้อื่นหลังกลับภูมิลำเนาของตัวเอง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-rites-insight/there-are-no-funerals-death-in-quarantine-leaves-nowhere-to-grieve-idUSKBN2161ZM
- www.theguardian.com/world/2020/mar/19/generation-has-died-italian-province-struggles-bury-coronavirus-dead
- thestandard.co/bangkok-closed-coronavirus-risk-places/
- www.ecdc.europa.eu/sites/default/files/documents/RRA-sixth-update-Outbreak-of-novel-coronavirus-disease-2019-COVID-19.pdf
- www.who.int/docs/default-source/coronaviruse/who-china-joint-mission-on-covid-19-final-report.pdf