×

เงินฝากพุ่งสูง ฉุดแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

12.02.2021
  • LOADING...
เงินฝาก

วิกฤตโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายในระบบการเงินการธนาคาร มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ถือเป็นอีกประเด็นสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการบริโภคในประเทศและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต  

 

หากเราจะพูดถึงสาเหตุการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากในช่วงปีที่ผ่านมา คงต้องเริ่มย้อนภาพกลับไปตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างทั่วโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา การระบาดของเชื้อไวรัสที่กระจายอย่างแพร่หลายก่อให้เกิดความกังวลต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในอนาคต ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ทั่วโลกรวมถึงการเทขายสินทรัพย์ในประเทศไทย 

 

โดยยอดสินทรัพย์ในกองทุนรวมทั่วโลกมีการขายสินทรัพย์สุทธิกว่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับในตลาดทุนไทยเอง ยอดสินทรัพย์รวมของกองทุนรวมไทยลดลง 7.14 แสนล้านบาท หรือลดลง 13.5% มาอยู่ที่ระดับ 4.57 ล้านล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการเทขายกองทุนหุ้นและกองทุนตราสารหนี้กว่า 6.3 แสนล้านบาท 

 

เมื่อผู้คนเลือกขายสินทรัพย์จากตลาดที่มีความเสี่ยง สินทรัพย์ที่แปรรูปเป็นเงินสดที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าจึงไหลเข้าสู่ที่พักเงินอย่างบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2563 เพียงเดือนเดียวเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นสูงกว่า 8 แสนล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และยิ่งไปกว่านั้น แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยจะปรับตัวดีขึ้น แต่แนวโน้มเงินฝากนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ก็มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ยอดเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ระดับ 14.9 ล้านล้านบาท ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 

 

เมื่อเราเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบประเด็นที่น่าสนใจว่า การเพิ่มขึ้นของเงินฝากในช่วงปีที่ผ่านมานี้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างสูงของจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในขณะที่ปริมาณเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำลดลง 

 

จากข้อมูลพบว่า ในปี 2563 ปริมาณเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มสูงกว่า 1.96 ล้านล้านบาท คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 25% ในขณะที่ยอดเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำมีการหดตัวลง 5.8 แสนล้าน คิดเป็นการปรับตัวลดลง 11% ซึ่งลักษณะการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้นในทั้งบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดาและเงินฝากภาคธุรกิจ 

 

ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นที่เมืองไทยเท่านั้น เนื่องจากสถิติยอดเงินฝากในช่วงปีที่แล้ว ของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในกลุ่ม OCED (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) ก็มีการเพิ่มขึ้นของเงินฝากอย่างมีนัยสำคัญ การเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝากนำโดยสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินผ่านธนาคารกลางและผ่านการแจกเช็คเงินช่วยเหลือ ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในครัวเรือนกว่า 14%  ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเงินฝากในประเทศสหรัฐอเมริกาเติบโตเพียงแค่ 2% ต่อปีเท่านั้น 

 

สาเหตุการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในช่วงปีที่ผ่านมา สามารถวิเคราะห์ได้ในหลากหลายแง่มุม แต่ประเด็นที่สำคัญคงเป็นเหตุผลมาจากการสำรองเงินสดเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต (Precautionary Saving) ที่ทั้งทางภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนต่างมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงวิกฤต ในฝั่งภาคธุรกิจเมื่อมีความผันผวนและความไม่แน่นอนสูงในช่วงแรกของการระบาด ก็มีการปรับเปลี่ยนสินทรัพย์มาอยู่ในรูปแบบเงินสดที่มีสภาพคล่องสูง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ จึงทำให้หลากหลายธุรกิจต้องชะลอแผนการลงทุนต่างๆ ออกไป 

 

ในส่วนของภาคครัวเรือน การเพิ่มขึ้นของเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ นอกเหนือจากการเก็บเงินสดเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตแล้ว การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในช่วงปีที่ผ่านมาก็มีผลกระทบที่ทำให้การบริโภคสินค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างเช่น ที่อยู่อาศัยหรือรถยนต์มีการชะลอตัวลง หรือจากผลของการระบาด ก็ทำให้การใช้จ่ายในต่างประเทศมีการปรับตัวลดลงมากในปีที่ผ่านมาเช่นกัน ดังนั้นเมื่อการบริโภคลดลง ภาคครัวเรือนจึงมีเงินเก็บในรูปแบบของเงินฝากที่เพิ่มมากขึ้น

 

จะเห็นได้ว่าสาเหตุการเพิ่มขึ้นของเงินฝากทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากยอดเงินฝากที่เพิ่มขึ้น เป็นการลดการหมุนเวียนของเงินในระบบและทำให้ไม่มีปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และสนับสนุนการบริโภคในภาคครัวเรือนให้กลับมาเติบโตในระดับสูง จึงเป็นประเด็นที่สำคัญที่ทางภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในปีนี้ เนื่องด้วยเรายังขาดปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยอย่างการท่องเที่ยวจากต่างชาติ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรต้องพิจารณาหาแรงกระตุ้น ให้เกิดการใช้จ่ายของเงินฝากที่มีอยู่ในระดับสูง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต่อไป 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X