×

Snowpiercer ชำแหละลำดับชนชั้นบนรถด่วนขบวนสุดท้ายที่ตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของแต่ละชีวิต

24.07.2019
  • LOADING...
Snowpiercer

ก่อนที่ทุกคนจะได้รับชม Snowpiercer เวอร์ชันซีรีส์ ผลงานเรื่องล่าสุดจาก Netflix ที่จะเริ่มออกอากาศในวันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม 2020 

 

THE STANDARDPOP ขอพาทุกคนอุ่นเครื่อง ด้วยการย้อนกลับไปติดตามเรื่องราวบน ‘รถไฟแห่งชนชั้น’ ในเวอร์ชันภาพยนตร์ต้นฉบับ หนึ่งในผลงานสร้างชื่อระดับฮอลลีวูดของบงจุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ ที่เพิ่งสร้างประวัติศาสตร์พาภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) ไปไกลจนสามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ

 

เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทางไปยังโลกอนาคต ในวันที่ทั้งโลกถูกปกคลุมด้วยหิมะ เหลือมนุษย์เพียงหยิบมือที่ต้องใช้ชีวิตบน ‘รถด่วนขบวนสุดท้าย’ ที่ขับเคลื่อนด้วย ‘เครื่องจักรนิรันดร์’ ไม่มีวันดับ 

 

โดยแบ่งลำดับชั้นของผู้คนเป็น 3 ลำดับตามชนิดของตั๋วรถไฟคือ ฟรี, อีโคโนมีคลาส และเฟิร์สคลาส ซึ่งถูกกำหนดหน้าที่ สถานะ และชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันอย่างชัดเจน จนกระทั่ง เคอร์ติส (คริส อีแวนส์) วางแผนรวบรวมคนท้ายขบวนที่ทนไม่ไหวกับความเป็นอยู่แสนอัตคัด ลุกขึ้นมา ‘ปฏิวัติ’ บุกไปล้มล้างโครงสร้างระบบเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในพื้นที่ด้านหน้าขบวนรถไฟ 

 

THE STANDARD POP ได้ชำแหละพื้นที่แต่ละขบวนออกมาเป็นส่วนๆ ที่แสดงให้เห็นถึง ‘สถานะ’ และ ‘หน้าที่’ วิธีการปกครองผู้คนชนชั้นต่างๆ ที่ถูกกำหนดตลอดทุกช่วงของขบวนที่บงจุนโฮจำลองโมเดลสภาพสังคมปัจจุบันเข้าไปในรถไฟขบวนนั้นได้อย่างสมจริง เจ็บแสบ และเต็มไปด้วยการตั้งคำถามที่ควรขบคิดร่วมกัน 

 

Snowpiercer

 

1. ท้ายขบวน ที่อยู่อาศัยของคนถือตั๋วฟรีชนชั้นล่างสุด อยู่กันอย่างแออัด ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง กิน อยู่ ขับถ่าย หลับนอนรวมกัน มีกิจวัตรประจำวันเพียงแค่เข้าแถวนับจำนวนคน รับแท่งโปรตีนสีดำประทังชีวิต วนเวียนซ้ำซาก โดยไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะได้รับแสงอาทิตย์จากโลกภายนอก 

 

อีกสถานะหนึ่งคือสถานที่ผลิต ‘แรงงาน’ มีความสามารถเฉพาะด้าน สามารถสร้างประโยชน์ให้กับส่วนอื่นๆ ของขบวนรถไฟตามที่ขาดแคลน และยังเป็นที่สำเร็จโทษของคนท้ายขบวนที่ทำความผิดด้วยการเปิดช่องแช่แข็งอวัยวะสุดสะเทือนใจ 

 

2. ห้องขังนักโทษ เปลี่ยนจากตู้เก็บของเป็นที่คุมขังนักโทษ ในที่นี้คือ นัมกุงมินซู ผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกระบบรักษาความปลอดภัย และลูกสาวที่สะสมก้อนโครโนล สารเสพติดเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง 

 

3. ที่นอนของทหารและพนักงานทั่วไป ส่วนแรกที่มีหน้าต่างให้แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตที่ช่วยยกระดับสถานะจากคนท้ายขบวนขึ้นมาอีกหนึ่งขั้น 

 

4. เครื่องจักรผลิตแท่งโปรตีน มีอดีตสมาชิกท้ายขบวนที่ถูกยกระดับให้เป็นผู้ควบคุมการผลิตอาหารเพียงหนึ่งเดียว เป็นจุดที่มอบหน้าที่ให้เขาปฏิบัติและยึดถือจนไม่ยอมออกเดินทางไปหน้าขบวนกับเพื่อนเก่า เพราะรู้สึกว่าค้นพบสถานที่ของตัวเองเจอแล้ว 

 

Snowpiercer

 

5. ลานต่อสู้ครั้งสำคัญ ขบวนโล่งๆ ที่ถูกฝ่ายหัวขบวนเปลี่ยนให้เป็นสมรภูมิรบ เป็นพื้นที่ที่นักปฏิวัติท้ายขบวนไม่เคยรู้จัก และต้องพบกับความมืดที่ทำให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เป็นจุดเชื่อมต่อกับส่วนควบคุมน้ำ เปิดโอกาสให้ผู้รอดชีวิตได้ล้างเหงื่อไคลและคราบเลือดให้สะอาดก่อนเข้าสู่พื้นที่ต่อไป 

 

6. ฟาร์มเกษตร พื้นที่แรกของส่วนกลางขบวนที่ถูกดัดแปลงให้เป็นโซนเพาะปลูก ทั้งฉากหลัง ความสว่าง ความรวดเร็วในการดำเนินเรื่องเปลี่ยนจากส่วนท้ายอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนที่ทำงานในฟาร์มใส่ชุดป้องกันเชื้อโรคที่สะอาดสะอ้าน ทุกคนปฏิบัติหน้าท่ีของตัวเองอย่างเคร่งครัด ไม่มีความรู้สึกตกใจกับกลุ่มคนแปลกหน้าที่บุกรุกเข้ามา 

 

Snowpiercer

 

7. อะควาเรียมสุดหรู ที่มีเคาน์เตอร์ทำซูชิเปิดบริการให้กับกลุ่มชนชั้นสูงปีละ 2 ครั้ง ทั้งฟาร์มเกษตรและอะควาเรียมแสดงให้เห็นถึง ‘ระบบนิเวศแบบปิด’ ที่ควบคุมจำนวนและความสมดุลอย่างเคร่งครัดเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของชีวิตอื่นๆ (ยกเว้นคนท้ายขบวน) มาตลอดระยะเวลา 17 ปีบนรถไฟขบวนนี้ 

 

Snowpiercer

 

8. ห้องเรียน เป็นขบวนที่มีความสำคัญที่สุดในการปลูกฝัง ‘ค่านิยม’ ให้กับเด็กๆ ที่จะขึ้นมาเป็น ‘พลเมือง’ ของรถด่วนขบวนนี้ เด็กๆ ไม่มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวอื่นๆ นอกจากคลิปวิดีโอสดุดีคุณประโยชน์ของ มิสเตอร์วิลฟอร์ด ผู้ให้กำเนิดเครื่องจักรนิรันดร์ ไปพร้อมๆ กับสร้างภาพกลุ่มคณะปฏิวัติในอดีตให้มีภาพน่ากลัวราวปีศาจ และให้ร้ายพวกท้ายขบวนว่าเป็นเพียงพวกขี้เกียจ ไม่มีประโยชน์อันใด 

 

9. โซนที่พักของชนชั้นสูง ที่อยู่อาศัยของผู้ถือบัตรระดับเฟิร์สคลาส เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ตั้งแต่พื้นที่จิบชายามบ่าย บาร์ค็อกเทล ที่ทำฟัน ห้องตัดชุดสูท สปาเสริมความงาม ประดับด้วยรูปปั้นและแชนเดอร์เลียสุดหรู 

 

เช่นเดียวกับโซนทำฟาร์มที่ทุกคนในชั้นนี้ไม่มีใครเป็นเดือดเป็นร้อนกับการบุกรุกของกลุ่มผู้ปฏิวัติ ทุกคนยังใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย เฉยชา และราบเรียบ ราวกับไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้มาก่อน และคิดว่าทุกสิ่งล้วนไม่มีผลกระทบใดๆ กับชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองทั้งนั้น 

 

10. โซนปาร์ตี้ ถัดจากโซนที่พักสุดหรูเป็นโซนแฮงเอาต์เมาหลุดโลกที่เต็มไปด้วยแสงสี ดนตรี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด ไม่สนใจสิ่งใดนอกจากสิ่งมึนเมาที่อยู่ตรงหน้า ราวกับเป็นภาพสะท้อนว่าไม่มีวิธีการใดที่จะ ‘ควบคุม’ ความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ในความสงบได้ดีไปกว่าการ ‘มอมเมา’ ด้วยความสุขชั่วคราวจนไร้สติอีกแล้ว 

 

11. สะพานสุดท้าย ที่เชื่อมกับประตูห้องเครื่องจักรนิรันดร์ เป็นทางแยกที่เคอร์ติสได้รับเลือกให้เข้าไปด้านในที่แสนสงบ ส่วนนัมกุงมินซูที่เลือกหาทางออกไปเผชิญชีวิตโลกภายนอกรถไฟยังต้องต่อสู้กับกลุ่มนักล่าและกลุ่มคนบ้าคลั่งขาดสติที่ตามมาทำร้าย 

 

Snowpiercer

 

12. หัวขบวนที่ตั้งเครื่องจักรนิรันดร์ ห้องสีขาวเปิดโล่งที่มิสเตอร์วิลฟอร์ดใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพังกับเครื่องจักรที่ทำงานต่อไปไม่มีวันหยุด พื้นที่ที่หัวหน้าคณะปฏิวัติอย่างเคอร์ติสไม่มีวันจินตนาการภาพออก และเป็นสถานที่ที่ค่อยๆ เปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเคอร์ติส 

 

ว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ขับเคลื่อนเขาอยู่ไม่ใช่อุดมการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งระบบ แต่อาจจะทำทุกอย่างเพียงเพราะต้องการ ‘ยกระดับ’ ชีวิตที่แสนลำบากของตัวเองขึ้นมาไม่ต่างจากคนอื่นๆ จนกระทั่งเขาได้รู้ ‘ความลับ’ และ ‘ความจริง’ อันแสนโหดร้ายของสิ่งที่มิสเตอร์วิลฟอร์ดพยายามพูดย้ำซ้ำๆ ว่า

 

ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับชะตากรรมและหน้าที่บางอย่าง ทุกคนล้วนมีสถานที่ที่ตัวเองควรอยู่ แน่นอนว่าบางเรื่องก็ไร้ความยุติธรรม บางเรื่องก็แสนโหดร้าย และบางเรื่องก็เรียกร้องการเสียสละเพื่อ ‘รักษา’ ภาพรวมให้คงอยู่ต่อไป ในโลกที่ดูเหมือนจะไร้ความหวังมากขึ้นทุกที 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X