บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ SMT แจ้งผลประกอบการไตรมาส 2 กำไรสุทธิเติบโต 51% ส่วนรายได้เติบโต 23% สินค้าที่เติบโตสูง คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ OPTICS, PCBA และ IC ขณะที่เป้าหมายทั้งปีนี้ SMT เชื่อว่ารายได้จะเติบโตมากกว่า 30% หรือมีรายได้รวมมากกว่า 2.5 พันล้านบาท รับอานิสงส์ความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตขึ้นทั่วโลก
มั่นใจทั้งปีโตกว่า 30%
วิรัตน์ ผูกไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMT กล่าวว่า ปีนี้บริษัทมั่นใจว่ารายได้รวมจะมากกว่า 2.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตมากกว่า 30% โดยงวด 6 เดือนแรกปีนี้มีรายได้รวมราว 1.16 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรกราว 107 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นการเติบโตตามความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในเทรนด์การเติบโตอย่างมาก คือกลุ่มพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า จุดชาร์จไฟฟ้าต่างๆ, กลุ่มออปติก เช่น สายสัญญาณสื่อสาร และกลุ่ม System Build เช่น ผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์
ขณะที่ภาพรวพอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และมีการเติบโต 5-7% ต่อปี
“ทั้ง 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความต้องการสูงทั่วโลก ซึ่ง SMT ก็มีส่วนร่วมในทุกกลุ่มสินค้าและมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว จึงเชื่อว่าบริษัทยังสามารถเติบโตได้อีกมาก”
ครึ่งปีหลังเน้นงานมาร์จิ้นสูง
วิรัตน์กล่าวว่า แผนธุรกิจในครึ่งปีหลัง SMT เน้นการบริหารจัดการ Capacity อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้สามารถเติมกำลังการผลิตได้อีก 40% โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มขนาดใหญ่อย่างน้อยในช่วง 6-12 เดือนจากนี้ และหากใช้กำลังการผลิตเต็มศักยภาพ SMT สามารถรองรับรายได้ราว 4-5 พันล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าให้กับบริการและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะบริการร่วมออกแบบและพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านระบบต่างๆ ภายใต้แบรนด์ตของลูกค้า ทั้งนี้ เพื่อขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มขนาดกลางที่ต้องการบริการแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย SMT จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ระดับ 20%
“ตอนนี้มีออร์เดอร์ที่ร่วมพัฒนาและออกแบบอยู่แล้ว น่าจะเริ่มวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาได้ในปี 2565” วิรัตน์กล่าว
รุกตลาดยุโรป-เอเชียเพิ่ม กระจายความเสี่ยง
ปัจจุบัน SMT เป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 100% โดยมีตลาดหลักคือสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน 80% ตลาดยุโรป 10% และตลาดเอเชีย (จีนและญี่ปุ่น) 10% โดยบริษัทต้องการกระจายฐานลูกค้าเพื่อให้มีความหลากหลายและลดความเสี่ยง โดยวางเป้าหมายใน 2-3 ปีจากนี้จะมีดส่วนลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกา 30-40% ตลาดยุโรป 40% และตลาดเอเชีย 20%
แย้มเริ่มมีนักลงทุนสถาบันจีบ
วิรัตน์กล่าวเพิ่มว่า หลังจากใช้เวลาปรับภายในองค์กร และสามารถพลิกฟื้นผลประกอบการเป็นบวกในปี 2563 โดยมีกำไรสุทธิ 81.39 ล้านบาท จากปี 2562 ที่ขาดทุนสุทธิ -39.37 ล้านบาท SMT ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนสถาบันเพิ่มมากขึ้น โดยมีนักลงทุนสถาบันเข้าร่วมรับฟังข้อมูลในงานโรดโชว์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ
สำรวจความเคลื่อนไหวราคาหุ้นตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน (4 สิงหาคม) พบว่าราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้น 159.40% โดยราคาหุ้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา
รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีดังนี้
- UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED (สัญชาติสิงคโปร์) 8.99%
- นัทธพงศ์ ไชยกุล 6.97%
- บริษัท ซีกซ์ อีเอ็มเอส (ประเทศไทย) จำกัด (สัญชาติญี่ปุ่น) 4.96%
- พร้อมพงศ์ ไชยกุล 4.49%
- นันทิชา ไชยกุล 4.48%
ผลการดำเนินงานล่าสุด SMT รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/64 มีผลกำไรสุทธิ 56.01 ล้านบาท เพิ่มข้ึน 18.94 ล้านบาท หรือเพิ่มข้ึน 51.10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งมีผลกำไรสุทธิ 37.07 ล้านบาท
ในไตรมาส 2/64 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการจำนวน 606.56 ล้านบาท เพิ่มข้ึน 113.97ล้านบาท หรือเพิ่มข้ึน 23.14% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้เพิ่มข้ึนจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ OPTICS, PCBA และ IC ซึ่งเติบโต 100%, 78% และ 14%YoY ตามลำดับ ท่ามกลางสถานการณ์การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด
ต้นทุนขายและบริการไตรมาส 2/64 มีจำนวน 483.85 ล้านบาท เพิ่มข้ึน 102.02 ล้านบาท หรือเพิ่มข้ึน 26.72% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยต้นทุนเพิ่มข้ึนสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น และบริษัทมีการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ
กำไรขั้นต้นไตรมาส 2/64 อยู่ที่ 122.71ล้านบาท เพิ่มข้ึน 11.96 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มข้ึน 10.80% เป็นผลมาจากการรักษาฐานการเติบโตของยอดขายสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นสูง และการบริหารจัดการต้นทุนที่สอดคล้องตามผลิตภัณฑ์
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารไตรมาส 2/64 ของบริษัทจำนวน 71.25 ล้านบาท ลดลง1.98 ล้านบาท หรือลดลง 2.70% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพได้ดีมากข้ึน