×

ย้อนดูกำแพงภาษี Smoot-Hawley: หนึ่งในสารตั้งต้นยุคเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) ทศวรรษ 1930

08.04.2025
  • LOADING...
กำแพงภาษี

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สุดที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลกคงจะไม่พ้นข่าวที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจเริ่มทำสงครามการค้ากับนานาชาติด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า หรือ Tariff เพื่อเป็นการลดการขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆ และเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลกลางของประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความตื่นตระหนก นักลงทุนต่างกันเทขายหุ้นทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงเป็นหลัก 10% และทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนออกมาพยากรณ์ว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้

 

ซึ่งการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐฯ ตัดสินใจทำสงครามการค้ากับนานาประเทศ ประธานาธิบดีของประเทศคนที่ 31 อย่าง เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ เคยตัดสินใจตั้งกำแพงภาษีนำเข้ามาแล้วในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เพื่อปกป้องภาคธุรกิจการเกษตรภายในประเทศ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือการเกิดเศรษฐกิจถดถอยขนาดหนักหรือ The Great Depression ซึ่งก็เป็นบทเรียนที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ทรัมป์ไม่ได้เรียนรู้และกำลังดำเนินรอยตามอย่างไม่รู้ตัว

 

The Roaring Twenties

 

เศรษฐกิจโลกนั้นฟื้นตัวขึ้นมาอย่างมากภายหลังการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายนปี 1918 ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่โลกกลับมามีสันติภาพ รวมทั้งการมาถึงของเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงไฟฟ้าของคนส่วนใหญ่ในประเทศฝั่งตะวันตก การมาถึงของวิทยุ ภาพยนตร์และรถยนต์ส่วนบุคคล ทำให้เศรษฐกิจของประเทศโลกตะวันตกพุ่งทะยานขึ้นจากการเติบโตของการบริโภคสินค้าสมัยใหม่ และเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมที่ทำให้การผลิตในระบบโรงงานหรือ Mass Production เป็นไปได้ ทำให้สินค้ามีราคาถูกลงอย่างมากจนชนชั้นกลางส่วนใหญ่เข้าถึงผลิตภัณฑ์เหล่านี้ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษ 1920 ทำให้ทศวรรษนี้ถูกขนานนามว่าเป็น The Roaring Twenties

 

อย่างไรก็ตาม มีธุรกิจอยู่หนึ่งเซ็กเตอร์ในสหรัฐอเมริกาที่ไม่ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่ยุโรปกลับมามีสันติภาพ ทำให้สินค้าการเกษตรและปศุสัตว์จากฝั่งยุโรปเข้ามาตีตลาดอเมริกาได้ รวมทั้งเทคโนโลยีการเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้นและการเข้าถึงไฟฟ้าของฟาร์มต่างๆ ทำให้ผลผลิตต่อไร่นั้นเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เกษตรกรในสหรัฐอเมริกายังมีการนำพื้นที่ไร่สวนของตัวเองมาทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่ใช้เป็นอาหารของคนมากขึ้น เนื่องจากความจำเป็นในการใช้พื้นที่เพื่อเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์นั้นลดลง เพราะความต้องการในการใช้ม้าและลาลดลงจากการมาถึงของรถยนต์ที่นั่งส่วนบุคคล ทำให้เกิดภาวะสินค้าการเกษตรล้นตลาดและราคาตกต่ำลง

 

บรรดาสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ สส. ของรัฐที่พึ่งพาธุรกิจการเกษตรเป็นหลักจึงได้พยายามร่วมมือกันผ่านกฎหมายเพื่อตั้งกำแพงภาษี เพื่อป้องกันการนำเข้าของผลผลิตทางการเกษตรจากยุโรปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรที่เป็นฐานเสียงหลักในรัฐของตน 

 

Smoot-Hawley Tariff Act of 1930

 

ตัวตั้งตัวตีของการตั้งกำแพงภาษีในครั้งนี้ประกอบด้วยนักการเมืองของพรรครีพับลิกัน 2 คน คือ สว. รีด สมูต จากรัฐยูทาห์ และ สส. วิลลิส ฮอว์ลีย์ จากรัฐออริกอนซึ่งเป็นรัฐที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลักทั้งคู่

 

อย่างไรก็ดี การที่กฎหมายใดๆ จะผ่านทั้ง 2 สภาได้นั้น จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจาก สส. และ สว. อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ทำให้สมูตและฮอว์ลีย์จำเป็นต้องไปล็อบบี้เพื่อหาคะแนนเสียงจาก สส. และ สว. ของรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นรัฐที่พึ่งพาอุตสาหกรรมหนักด้วย ทำให้สุดท้ายแล้ว พวกเขาจำเป็นที่จะต้องแก้ร่างกฎหมาย เพื่อให้การตั้งกำแพงภาษีครอบคลุมไปถึงสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมหนักของรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย (เพื่อแลกกับเสียงสนับสนุนจาก สส. และ สว. เหล่านั้น) จนทำให้สุดท้ายแล้ว มีสินค้าถึงมากกว่า 20,000 รายการที่ถูกตั้งกำแพงภาษีภายใต้ Smoot-Hawley Tariff Act

 

ฮูเวอร์เอาด้วย

 

ร่างกฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act นี้ถูกต่อต้านอย่างหนักจากนักเศรษฐศาสตร์กว่าพันคนที่ส่งจดหมายไปถึง เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ ประธานาธิบดี (ซึ่งก็เป็นสมาชิกรีพับลิกันเหมือนสมูตและฮอว์ลีย์) รวมถึงเจ้าของธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ อย่างเช่น เฮนรี ฟอร์ด (เจ้าของแบรนด์รถยนต์ Ford) และ โทมัส ลามอนต์ (ผู้บริหารของบริษัทธนาคารข้ามชาติอย่าง JP Morgan) ที่เข้าไปอ้อนวอนฮูเวอร์ด้วยตัวเองที่ทำเนียบขาว เพราะพวกเขามองว่าการตั้งกำแพงภาษีจะนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศ เพราะประเทศต่างๆ คงจะไม่ยอมให้สหรัฐอเมริกากระทำโดยฝ่ายเดียว และจะต้องตั้งกำแพงภาษีคืนเพื่อเป็นการตอบโต้ ซึ่งนั่นจะทำให้การค้าระหว่างประเทศนั้นมีปริมาณลดลง อันจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีการซื้อการขายเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้ประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงจากการที่กลไกตลาดเสรีหรือมือที่มองไม่เห็นทำงานไม่ได้

 

แต่อย่างไรก็ดี ฮูเวอร์ตัดสินใจที่จะเชื่อสมูตและฮอว์ลีย์ และตัดสินใจเซ็นอนุมัติกฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act ในเดือนมิถุนายน ปี 1930 ซึ่งสาเหตุที่เขาตัดสินใจเซ็นอนุมัติกฎหมายนี้ก็เป็นเพราะเขา ต้องการที่จะได้คะแนนเสียงจากกลุ่มเกษตรกรซึ่งยังเป็นกลุ่มคนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจในช่วงปี 1930 ก็ได้เกิดการถดถอยเล็กๆ หลังจากที่เติบโตมาเต็มๆ กว่าหนึ่งทศวรรษ อันเป็นผลมาจากภาวะฟองสบู่แตกในตลาดหุ้น และการปล่อยสินเชื่อแบบไม่ระมัดระวังของธนาคารต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา (ด้วยความที่กฎเกณฑ์การควบคุมธนาคารในยุคนั้นยังหละหลวมอยู่มาก) จนทำให้ธนาคารหลายแห่งเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง และต้องปิดตัวลงไป ทำให้ฮูเวอร์ต้องหามาตรการอะไรสักอย่างมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเขาคิดว่าการตั้งกำแพงภาษีเพื่อปกป้องธุรกิจภายในประเทศ จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้

 

The Great Depression

 

แต่สิ่งที่เกิดตามมาจริงๆ ก็คือ ฮูเวอร์นั้นคิดผิดและสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กว่าพันคนได้เคยเตือนเขาไว้นั้นถูกต้อง กล่าวคือปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างมากภายหลังการตั้งกำแพงภาษีผ่าน Smoot-Hawley Tariff Act โดยที่ปริมาณการนำเข้าและส่งออกของสหรัฐฯ ลดลงกว่า 60% ภายใน 4 ปีหลังจากนั้น ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มซวนเซอยู่แล้วในปี 1930 นั้นยิ่งแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานที่ลดลงเพราะบริษัทต่างๆ ภายในประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศได้ (เพราะโดนกำแพงภาษีที่อีกฝ่ายตั้งไว้กีดกันอยู่) ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งไปถึง 25% ในปี 1932 ทำให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก (The Great Depression) และนั่นก็ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกพังพินาศลงไปด้วย เพราะในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น สหรัฐอเมริกาได้กลายมาเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจโลกแล้ว และประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็มักจะมีสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดหรือเบอร์หนึ่ง

 

ผลจากการที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้ ทำให้พรรครีพับลิกันและฮูเวอร์เสียคะแนนนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปฮูเวอร์ก็พ่ายแพ้คู่แข่งอย่างราบคาบให้กับตัวแทนของพรรคเดโมแครตอย่างแฟรงคลิน เดเลนอร์ โรสต์เวลต์ และทำให้โรสต์เวลต์ได้กลายประธานาธิบดีคนใหม่แทนเขา 

 

นอกจากนี้พรรครีพับลิกันก็เสียคะแนนข้างมากทั้งในวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรให้กับเดโมแครตด้วย (ทั้งสมูตและฮอว์ลีย์ต่างก็แพ้เลือกตั้งในเวลาต่อมาด้วย) สิ่งหนึ่งที่โรสต์เวลต์ได้ทำทันทีภายหลังจากการที่เขาได้เป็นประธานาธิบดีก็คือ เขาผลักดันให้พรรคเดโมแครตที่ครองเสียงข้างมากอยู่ทั้ง 2 สภา ผ่านกฎหมาย Reciprocal Trade Agreement Act เพื่อให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีในการกำหนด Tariff แทนที่จะเป็นรัฐสภา เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายกำแพงภาษี Tariff ถูกนักการเมืองมากคนเกินไปแก้ไขจนยุ่งเหยิงเหมือน Smoot-Hawley Tariff Act อีก ซึ่ง Reciprocal Trade Agreement Act นี้ก็เป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันมีอำนาจในการกำหนดนโยบายกำแพงภาษีเต็มตัว

 

บทเรียนสำหรับศตวรรษที่ 21

 

โลกในศตวรรษที่ 21 นั้น มีความซับซ้อนมากกว่าปี 1930 อย่างมาก เพราะระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกในยุคปัจจุบันนั้นซับซ้อนกว่าสมัยของฮูเวอร์อย่างมาก ด้วยการผลิตที่พึ่งพาความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจากหลายๆ ประเทศ รวมถึงการใช้วัตถุดิบและการประกอบที่ไม่ได้จำกัดอยู่ภายในประเทศเดียวซึ่งมันก็แปลว่าสงครามการค้า ในปี 2025 น่าจะสร้างความเสียหายได้มากกว่า Smoot-Hawley Tariff Act

ภาพ: White House, winnond via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising