×

สมรภูมิเดือด! อีคอมเมิร์ซไทยโตแรง (ก็จริง) แต่ผู้ขาย SMEs ‘ยิ่งขายยิ่งขาดทุน’ ยิ่งทุกข์หนักเมื่อทุนจีนทะลัก ท้าชนทุกแพลตฟอร์ม

22.08.2024
  • LOADING...

ท่ามกลางการเติบโตอย่างร้อนแรงของตลาดอีคอมเมิร์ซไทย ที่คาดว่าจะแตะมูลค่า 6.94 แสนล้านบาทในปี 2567 แต่ภายใต้ตัวเลขสวยหรูนี้กลับซ่อน ‘ระเบิดเวลา’ ที่พร้อมจะระเบิดขึ้นทุกเมื่อ!

 

ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอีคอมเมิร์ซไทยมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม และซีอีโอของเพย์โซลูชั่น ออกมาส่งสัญญาณเตือนถึง ‘ความจริงอันโหดร้าย’ ที่ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแข่งขันอันดุเดือดจากธุรกิจจีนที่กำลังรุกคืบเข้ามาในทุกช่องทาง ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

 

แม้ว่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ได้หมายความว่าผู้ประกอบการไทยจะเติบโตตามไปด้วย! ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยถูกครอบครองโดยแพลตฟอร์มต่างชาติ โดยเฉพาะ Shopee และ Lazada ที่มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 79% ที่เหลือก็เป็น TikTok ที่กำลังมาแรงเป็นอย่างมาก และหายใจรดต้นคอ Lazada มาเรื่อยๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้ประกอบการไทยต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติเหล่านี้เป็นหลัก ยังทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับ ‘ภาวะหลังพิงฝา’ เมื่อแพลตฟอร์มเหล่านี้ขึ้นราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง

 

โดยเฉพาะ Lazada ที่ขึ้นราคาค่าบริการสูงถึง 300% ภายในระยะเวลาเพียงปีครึ่ง! นอกจากนี้ ผู้ขายยังต้องแบกรับค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มที่สูงถึง 7-10% ซึ่งเป็นตัวบั่นทอนกำไรอย่างมาก ที่น่าสังเกตคือ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่มีใครเข้ามา ‘ควบคุม’ ได้

 

เมื่อ ‘สงครามราคา’ บังตา แถมเจอทุนจีนทะลัก!

 

การแข่งขันอันดุเดือดในตลาดอีคอมเมิร์ซ ทำให้ผู้ขายต้องงัด ‘สงครามราคา’ และ ‘โปรโมชัน’ มาเป็นเครื่องมือในการดึงดูดลูกค้า แต่กลยุทธ์นี้กลับกลายเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่บั่นทอนกำไรของผู้ขายเอง เพราะยิ่งลดราคา ยิ่งจัดโปรโมชัน ก็ยิ่งขาดทุน!

 

นอกจากนี้ การที่แพลตฟอร์มต่างชาติปิดกั้นข้อมูลลูกค้า ยังทำให้ผู้ขายไม่สามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจลูกค้าของตนเองได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และรักษาลูกค้าในระยะยาว

 

นอกจากปัญหาจากแพลตฟอร์มต่างชาติแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับการรุกคืบของธุรกิจจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยอย่างหนักหน่วง ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะสินค้าจีนที่มีราคาถูกและหลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยยากจะแข่งขันได้

 

ภาษีอีคอมเมิร์ซ ‘ตัวเร่ง’ ปัญหา

 

ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน กรมสรรพากรยังเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้านค้าออนไลน์อย่างเข้มงวด ซึ่งยิ่งเพิ่มภาระให้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็กที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น

 

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยจะปรับตัวอย่างไร? จะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างไร? จะสร้างโอกาสในการเติบโตท่ามกลางสมรภูมิอันดุเดือดนี้ได้อย่างไร?

 

ภาวุธให้คำแนะนำเบื้องต้นว่า ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวโดยการสร้างแบรนด์ของตนเอง หาช่องทางการขายใหม่ๆ และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งมองว่าภาคธุรกิจและภาครัฐต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น

 

โดยเฉพาะภาครัฐที่ควรคุมเข้มการนำเข้าสินค้าให้มากกว่านี้ ทั้งคุณภาพของสินค้า การจัดตั้งบริษัท ตลอดจนการปรับเกณฑ์ให้คุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน

 

เพย์โซลูชั่น ‘ตัวช่วย’ ผู้ประกอบการไทย

 

ในมุมของเพย์โซลูชั่น ภาวุธชี้ว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะเป็น ‘ผู้ช่วย’ ให้ผู้ประกอบการไทยสามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้ โดยการนำเสนอโซลูชันการชำระเงินที่ครบวงจร ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ พร้อมทั้งเครื่องมือและบริการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

 

นอกจากนี้ เพย์โซลูชั่นยังพัฒนานวัตกรรมที่ตอบรับกับพฤติกรรมการชำระของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และพัฒนาช่องทางรับชำระเงินใหม่ๆ เช่น การจัดทำ Sandbox เพื่อรองรับคริปโตเคอร์เรนซี

 

“เป็นที่น่ายินดีที่ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ นำระบบชำระเงินมาใช้มากขึ้น จากข้อมูลของเพย์โซลูชั่นจะเห็นว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมามียอดการใช้บริการจากเพย์โซลูชั่นเพิ่มถึง 36.84% ช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ พร้อมเพย์และบัตรเครดิต และเรายังสามารถดึงเงินตราต่างประเทศเข้าไทยได้ถึง 465 ล้านบาท” ภาวุธกล่าว

 

ปัจจุบันเพย์โซลูชั่นมีลูกค้ากว่า 20,000 ราย และตั้งเป้าหมาย Transactions ปีนี้ไว้ที่ 7.8 พันล้านบาท จาก 4 พันล้านในปีที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขที่เพิ่มขึ้นก็คาดว่าจะมาพร้อมกับรายได้ 160 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย ‘เติบโต’’ ได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางสมรภูมิธุรกิจที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X