×

มาตรการเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือ SMEs แบบใดที่เราควรมี?

11.06.2021
  • LOADING...
SMEs

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศไทย โดยตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2564 หดตัวลงอย่างชัดเจน ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน
  • ในส่วนของภาคธุรกิจก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้นนโยบายที่สำคัญคือ การเร่งให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก
  • แนวทางการให้ความช่วยเหลือต่อธุรกิจขนาดย่อยรูปแบบแรก อาจเป็นการเข้าไปช่วยอุดหนุนเงินเดือน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs ยังคงจ้างงานต่อไปได้
  • อีกมาตรการที่ควรสนับสนุนคือ การอาศัยมาตรการทางภาษีเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ โดยมีเป้าหมายให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงและปานกลางมีการใช้จ่ายในกลุ่มธุรกิจ SMEs เพิ่มมากขึ้น

ถือเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 2 เดือน ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศไทยทั้งในด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ ซึ่งผลของการระบาดนั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เบื้องต้นแสดงว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา มีการหดตัวที่ชัดเจนทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน สอดคล้องกับตัวเลขความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลงอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม การเริ่มฉีดวัคซีนปูพรมทั่วประเทศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากการระดมฉีดวัคซีน ทำให้แนวโน้มปริมาณการฉีดวัคซีนต่อวันมีทิศทางปรับตัวมากขึ้นกว่าในอดีต ช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถลดความสูญเสียและควบคุมการระบาดได้ดี ยิ่งไปกว่านั้น ผลต่อเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การระดมฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างความมั่นใจและส่งผลให้เกิดการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นอีกครั้ง ดังที่เราเห็นในหลายประเทศที่ได้มีการระดมฉีดวัคซีนไปแล้วก่อนหน้านี้

 

อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง คือการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติมภายใต้วงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ที่มีการวางแผนอนุมัติเม็ดเงินกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาผลกระทบแก่ประชาชน และ 1.7 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้ในขณะนี้ร่าง พ.ร.ก. ยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจว่า หากมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เราควรนำงบประมาณเหล่านั้นมาดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

หากเราศึกษาการใช้งบประมาณในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา เม็ดเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้แผนงานโครงการด้านเยียวยาประชาชน จากเดิมที่มีการตั้งวงเงินไว้ 550,000 ล้านบาท แต่ผลกระทบของการระบาดของโควิดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้มีการโยกย้ายปรับวงเงินเพิ่มขึ้นเป็น 685,000 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินส่วนใหญ่นำไปใช้ในโครงการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน, โครงการเราชนะ, โครงการ ม.33 เรารักกัน หรือการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้และกลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการของรัฐ

 

เห็นได้ว่า เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ถูกแจกจ่ายไปยังประชาชน มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพและสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเม็ดเงินสนับสนุนของภาครัฐล้วนแล้วแต่เป็นการกระตุ้นที่เน้นสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนโดยตรง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งหากพิจารณาดัชนีการบริโภคภาคเอกชนจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในทุกครั้ง การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวลดลงต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่ได้ช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถมีกำลังซื้อต่อไปได้ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่หดตัว

 

แนวทางการช่วยเหลือเช่นนี้แน่นอนว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและได้รับความนิยมอย่างสูง จึงทำให้โครงการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นี้ ได้มีการอนุมัติรวม 4 โครงการ ที่จะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม โดยมีแผนเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนการบริโภคในประเทศเช่นเคย

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจ เราจะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือของทางภาครัฐในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ ดังนั้นแนวนโยบายหนึ่งที่สำคัญหากมีเม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม คือการเร่งให้ความช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งสามารถทำได้ทั้งช่วยลดการแบกรับภาระต้นทุนของภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายแก่ธุรกิจ SMEs เพิ่มเติมยิ่งขึ้น

 

ต้องยอมรับว่า ในกลุ่มธุรกิจ SMEs ปัจจัยต้นทุนค่าแรงถือเป็นหนึ่งในต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ธุรกิจจำนวนมากได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องแบกรับภายใต้สถานการณ์รายได้ที่หดตัวลง ธุรกิจ SMEs ถือเป็นรากฐานสำคัญของแรงงานทั้งหมดในระบบประกันสังคมกว่า 52% ดังนั้นหากธุรกิจ SMEs ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้จนต้องปิดตัวลงนั้น อาจนำมาสู่ปัญหาด้านการว่างงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อกำลังซื้อในประเทศที่จะลดลงในอนาคต

 

ดังนั้นแนวทางการให้ความช่วยเหลือต่อธุรกิจขนาดย่อยรูปแบบแรก อาจเป็นการเข้าไปช่วยอุดหนุนเงินเดือน เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs ยังคงจ้างงานลูกจ้างต่อไป ซึ่งอาจจะมีรูปแบบการสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไปได้ตามผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ในกลุ่มธุรกิจภาคบริการร้านอาหารและโรงแรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากทั้งคำสั่งให้หยุดกิจการจากภาครัฐและกำลังซื้อที่หดหายไป อาจได้รับการสนับสนุนเงินเดือนในสัดส่วนที่มากกว่าธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากการระบาด ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นโดยอาศัยฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการจ้างงานผ่านระบบประกันสังคมพบว่า มีธุรกิจ SMEs กว่า 2 แสนราย ที่รัฐสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านการจ้างงานได้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานต่อไปอีกกว่า 3.5 ล้านราย

 

มาตรการอีกรูปแบบที่น่าจะสนับสนุนธุรกิจ SMEs ได้ดี คือการอาศัยมาตรการทางภาษีเพื่อเพิ่มกำลังซื้อ โดยแนวทางนโยบายจะมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้มีรายได้สูงและปานกลางมีการใช้จ่ายในกลุ่มธุรกิจ SMEs เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มผู้มีรายได้สูงและปานกลางยังคงมีกำลังซื้อที่สูง วัดได้จากปริมาณเงินฝากของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา สะท้อนภาพให้เห็นว่ามีเม็ดเงินในกระเป๋าของประชาชนบางกลุ่มที่สามารถนำมาใช้เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจได้

 

ซึ่งมาตรการทางภาษีผ่านการอนุญาตให้นำยอดการซื้อสินค้าและบริการของธุรกิจ SMEs ไปลดหย่อนภาษี ถือเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างแรงจูงใจให้กลุ่มที่มีกำลังซื้อนำเงินจากกระเป๋าออกมาใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเพิ่มรายได้ให้แก่ธุรกิจ SMEs โดยข้อดีของการดำเนินนโยบายลดหย่อนภาษีเช่นนี้คือ ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้ดีกว่าการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ เนื่องจากนโยบายการลดหย่อนภาษีมีเพียงแค่ยอดภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่รัฐสูญเสียไปเท่านั้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเพียง 10-35% ของยอดการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงที่ภาคธุรกิจพึงจะได้รับ

 

โดยสรุปนโยบายทั้งสองที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นเป็นเพียงแค่ตัวอย่างนโยบายที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจ SMEs และแรงงานในภาคธุรกิจ ที่ถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นในระยะถัดไป หากเราต้องการให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นฟูได้ในช่วงครึ่งปีหลัง เราอาจจำเป็นต้องช่วยเพิ่มเติมมาตรการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจ SMEs สามารถฟื้นตัวและสนับสนุนกำลังซื้อของแรงงานในระบบต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X