×

เสียงสะท้อนจาก SMEs ปี 2024 ยังเหนื่อย! เร่งปรับตัวตามเทรนด์-บริหาร Cash Flow ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจและกำลังซื้อหดตัว

18.01.2024
  • LOADING...

แม้ปี 2024 จะเป็นปีที่หลายๆ ธุรกิจเริ่มมองเห็นความหวังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่สถานการณ์โดยรวมของโลกยังต้องเจอกับเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนเร็ว กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของธุรกิจ SMEs ที่ต้องตั้งรับและฝ่าวิกฤตไปให้รอด 

 

THE STANDARD WEALTH พาเปิดมุมมอง เสียงสะท้อน และการปรับตัวของบรรดาธุรกิจ SMEs ในปี 2024 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ปี 2024 ธุรกิจ SMEs เจออุปสรรครอบด้าน

 

มารุต ชุ่มขุนทด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เจ้าของร้านกาแฟ CLASS Cafe ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปีนี้การทำธุรกิจของระดับ SMEs ถือว่ายากมากและมีอุปสรรคเต็มไปหมด เนื่องจากตอนนี้ปริมาณกำลังซื้อหดตัวอย่างมาก แม้ก่อนหน้านี้จะมีข่าวว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยหลายล้านคน ก็จะไปกระจุกตัวอยู่ไม่กี่จังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ซึ่งเม็ดเงินกระจายเข้ามาไม่ถึงเมืองรองที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยว

 

ขณะเดียวกันธุรกิจ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในต่างจังหวัดเริ่มยอดขายลดลง โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ ที่จากเดิมแล้วจะเป็นช่วงเทศกาลการจับจ่าย หลายๆ ร้านก็คาดหวังจากตรงนี้ แต่ปรากฏว่าบรรยากาศการซื้อสินค้าเงียบมาก เพราะคนระมัดระวังการจับจ่าย อีกด้านหนึ่งก็หันไปซื้อสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูง ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีร้านค้าและร้านอาหารรายเล็กๆ หันมาจำหน่ายสินค้าราคาถูก หรือแม้แต่ร้านอาหารบุฟเฟต์ที่ตั้งราคาสูงๆ ก็เริ่มหั่นราคา เพื่อรองรับกำลังซื้อของคนที่ลดลง 

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ ธุรกิจ SMEs ก็ได้รับผลกระทบ เริ่มตั้งแต่การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน นั่นแปลว่ากู้ใหม่มาทำก็ไม่ได้ จ่ายหนี้ก็ไม่ไหว ธนาคารไม่อนุมัติ และมีความเข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น 

 

“ในชีวิตจริงของคนที่ทำธุรกิจตอนนี้ต้องยอมรับว่าเหนื่อยมากๆ ในกรณีที่ต้องผ่อนช้า 15 วัน ฝ่ายติดตามหนี้สินโทรตาม ผ่านไป 2 เดือนโดนฟ้อง ใครไม่ไหวก็นำรถยนต์ไปเข้าไฟแนนซ์ SMEs และไม่กังวลเรื่องดอกเบี้ย เพราะถ้ากู้ได้ก็ยังมีโอกาสทำให้ธุรกิจรอด” มารุต ชุ่มขุนทด ย้ำ 

 

ธุรกิจจะรอดหรือไม่? ขึ้นอยู่กับ Cash Flow 

 

ปัจจุบันวิธีคิด SMEs จะอยู่ด้วย Cash Flow พร้อมต้องเจอความท้าทาย ทั้งจากซัพพลายเออร์ เจ้าของพื้นที่เช่า เริ่มอยากขึ้นราคา แต่บางพื้นที่ก็ขึ้นไม่ได้ เพราะผู้เช่าไม่สามารถจ่ายไหว ดังนั้นจะเห็นร้านอาหาร ร้านค้า ในต่างจังหวัดติดป้ายเซ้งหรือเปิดให้เช่าเต็มไปหมด หรือแม้แต่สยาม ทำเลทองใจกลางกรุงเทพ ในปีนี้จะเริ่มเห็นร้านใหม่ๆ มาเปิด ส่วนร้านเก่าก็ต้องปิดไป แบกรับต้นทุนค่าเช่าและต้นทุนที่รวมกว่า 50% ไม่ไหว

 

เรียกได้ว่าตอนนี้หนี้เสียจากกลุ่ม SMEs พุ่งขึ้นไม่หยุด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ต้องมีโครงการพักช่วยเรื่องดอกเบี้ย เพราะตอนนี้ผ่านโควิดมาธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว กำลังซื้อน้อยแล้วมาเจออัตราดอกเบี้ยธนาคารเข้าพร้อมๆ กัน SMEs จะตายกันหมด 

 

สำหรับ CLASS Cafe ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีทั้งหมด 18 สาขา ธุรกิจร้านกาแฟแข่งขันสูงมากและขึ้นราคายาก ทำให้ปี 1-2 ปีจากนี้บริษัทเน้นรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง และหยุดลงทุน พยายามทำตัวให้เล็กที่สุดเพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤต 1-2 ปีนี้ไปให้ได้ก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง 

 

แนะ SMEs ปรับตัวตามเทรนด์-รัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย

 

เช่นเดียวกับ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แบรนด์ วี ฟู้ดส์ และ วี ฟาร์ม กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งเศรษฐกิจโลกและในประเทศยังชะลอตัว ประกอบกับปัจจุบันอัตราหนี้เสียค่อนข้างมาก ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้คนจำกัดมากขึ้น 

 

แม้อีกมุมหนึ่งหลังจากผ่านพ้นสถานการณ์โควิดมา หลายๆ คนก็อยากออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน เราจะเห็นว่าค้าปลีก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจเหล่านี้เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนบรรยากาศให้ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ในแง่ของการจับจ่ายใช้สอยก็ยังมีการระมัดระวังกันอยู่

 

เมื่อย้อนมาดูที่บริษัท SMEs ที่มีข้อจำกัดเมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ๆ ที่แข็งแรงกว่า ต้องปรับตัวธุรกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องสำคัญที่สุดต้องบริหารจัดการกระแสเงินสด ถ้าสินค้าเริ่มขายได้น้อยลงก็จะส่งผลให้รายได้ลดลง ดังนั้น ต้องมาลดต้นทุนการผลิต ลดค่าใช้จ่าย เพราะการที่จะกู้ธนาคารเพิ่มเป็นเรื่องค่อนข้างยากมาก 

 

สำหรับ วี ฟู้ดส์ ได้ปรับตัวตามเทรนด์ผู้บริโภค ที่ผ่านมามีการขยายไลน์สินค้ามาต่อเนื่อง และในปีนี้จะมีการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ ทั้งจากแบรนด์เดิมที่มีอยู่แล้วและแบรนด์ใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ปัจจุบันบริษัทมีสินค้า 4 แบรนด์ และมีสินค้าอยู่ประมาณ 20 รายการ ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด 

 

“อย่างไรก็ตามปี 2024 ยังคงท้าทายอยู่ บริษัทก็ยังคงต้องระมัดระวังในเรื่องการจัดสรรงบการตลาด รวมไปถึงต้นทุนที่อาจจะเกิดการผันผวนอยู่อย่างต่อเนื่อง”

 

ตั้งรับและปรับตัวสู้การแข่งขันจากรายใหญ่ 

 

สุภัค หมื่นนิกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ จำกัด ผู้บริหารร้านแฮมเบอร์เกอร์ Siam Steak และไส้กรอกพรีเมี่ยมอีซี่ส์ กล่าวต่อไปว่า สภาพเศรษฐกิจปีนี้ยังไม่กลับมาฟื้นตัวดีเท่าช่วงก่อนโควิดได้ เพราะล้มมาตั้งแต่โควิด แล้วช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังจะฟื้น 

 

ในแง่ของนักท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมา 100% ส่วนทิศทางภาครัฐก็อยู่ในช่วงเริ่มต้นนโยบายต่างๆ เราจึงมองว่าปีนี้ธุรกิจไม่ว่าจะรายใหญ่ รายกลาง หรือแม้แต่ SMEs ยังต้องเผชิญความลำบาก นอกจากเรื่องกระแสเงินสด แถมยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก แล้วยังก็ต้องรีบปรับตัวและเรียนรู้ให้ไว 

 

โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาก เห็นได้จากรายใหญ่ที่มีการเปิดร้านอาหารอยู่เป็นระยะๆ ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่เห็นได้ชัดคือรายใหญ่เริ่มหันมาเล่นในตลาดสตรีทฟู้ด แน่นอนว่าผู้ประกอบการรายเล็กๆ ต้องปรับตัวทั้งการพัฒนาสินค้า บริการใหม่ๆ 

 

นอกจากนี้เมื่อเศรษฐกิจไม่ค่อยดี โอกาสขยายธุรกิจก็น้อย การจะเพิ่มคนก็เริ่มลำบาก เจ้าของธุรกิจก็จะเริ่มนำ AI เข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำงานมากขึ้น อย่างบริษัทได้ปรับตัวตามกระแส เราโฟกัสเรื่อง Digital Transformation นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ 

 

ร้านหมูทอด-ข้าวแกง ต้นทุนวัตถุดิบพุ่งไม่หยุด

 

ด้าน จงใจ กิจแสวง ผู้ก่อตั้ง บริษัท ร้านหมูทอดเจ๊จง จำกัด เล่าให้ THE STANDARD WEALTH ฟังว่า บรรยากาศการจับจ่ายของผู้บริโภคเริ่มเงียบลงหลังเทศกาลปีใหม่ แต่ถ้าพูดถึงธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านเล็กๆ ขายข้าวแกง อย่างเจ๊จงหมูทอด เป็นร้านที่เข้าถึงง่าย ยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจมากนัก เพราะผู้คนยังต้องกินต้องใช้

 

แต่ความท้าทายในทุกๆ ปี คือเรื่องต้นทุนวัตถุดิบหลายอย่าง เช่น น้ำตาลทรายที่ปรับขึ้น 5-10 บาท เราต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้เอาไว้ ซึ่งถ้าจะให้ปรับขึ้นราคา คงยังทำไม่ได้ในช่วงที่ค่าครองชีพของผู้บริโภคสูงกว่ารายได้ 

 

โดยต้องยอมกำไรน้อยลง ควบคู่กับการบริหารต้นทุนภายในร้าน พร้อมกับเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า ที่นอกจากเมนูหมูทอดแล้วยังมีเมนูข้าวราดแกงให้เลือก และให้ผักกินฟรีในร้าน เราก็ต้องพยายามดึงลูกค้าด้วยวิธีแบบนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising