×

ปลิว พงษ์พัฒน์ ต้นแบบเกษตรกรยุคใหม่ ‘สร้างผลผลิตตลอดปี มีรายได้ยั่งยืน’ ต้นกล้าแห่งแวดวงเกษตร จากโครงการอาชีวะเกษตรสร้างชาติ

โดย THE STANDARD TEAM
24.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ปลิว-พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรรุ่นใหม่ เจ้าของฟาร์มผักออร์แกนิก ‘แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์’ ศิษย์เก่าอาชีวะเกษตร คือต้นแบบเกษตรกรยุคใหม่ที่ใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เติมทักษะ Upskill และ Reskill คิดใหม่ เรียนรู้ไม่หยุด นำองค์ความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดให้เกษตรชุมชนสร้างผลผลิตและรายได้อย่างยั่งยืน ลบภาพเกษตรกรรายได้ต่ำได้หมดสิ้น

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลก ประชากร 2 ใน 3 ของประเทศอยู่ในภาคการเกษตร แต่เกษตรกรไทยกลับยากจน

แม้ประโยคด้านบนจะดูย้อนแย้ง แต่นี่คือความจริงที่คณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นและให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเกษตรมาโดยตลอด แต่ครั้นจะใช้องค์ความรู้ทางการเกษตรแบบคนยุคก่อนที่ฝนตกตามฤดูกาล เพาะปลูกอะไรก็ขึ้นคงไม่ได้ เพราะสมดุลของโลกหายไป ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ยิ่งลงทุน ลงแรง ก็ยิ่งจนลง บุคลากรทางเกษตรจำต้องเปลี่ยนอาชีพเพื่อความอยู่รอด

ถ้าจะพลิกฟื้นเกษตรกรไทยทั้งประเทศ การหว่านเมล็ดให้กับคนกลุ่มเล็กๆ อาจเห็นผลช้า แต่ถ้าต้องการเร่งผลิตให้เติบโต จึงต้องนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในโครงการอาชีวะเกษตรสร้างชาติ โครงการที่มุ่งสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่สู่ศตวรรษที่ 21 ที่นอกจากจะนำองค์ความรู้ STi (วิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T) และนวัตกรรม (I) มาเป็นแก่นแกนในการเรียนแล้ว ยังเน้นให้ผู้เรียนเสริมทักษะเพิ่มเติมจากความเชี่ยวชาญเดิมที่มีอยู่ (Upskill) และเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นเพื่อนำไปประกอบการทำเกษตรยุคใหม่ (Reskill)

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ตอนนี้มีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบางแห่งที่มีโครงการทวิภาคีร่วมกับประเทศอิสราเอลและญี่ปุ่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือทำงานจริงและนำประสบการณ์ที่ได้กลับมาสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้กับตัวเอง

 

ปลิว-พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เจ้าของฟาร์มผักออร์แกนิก ‘แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์’

 

ปลิว-พงษ์พัฒน์ แก้วพะเนาว์ เกษตรกรรุ่นใหม่วัย 27 ปี เจ้าของฟาร์มผักออร์แกนิก  ‘แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์’ และยังเป็น Smart Farmer รุ่นแรกที่ได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศอิสราเอล ก่อนจะกลับมาศึกษาต่อสาขาการพัฒนาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะต้องเป็นเจ้าของฟาร์ม และต้องการกู้ศักดิ์ศรีเกษตรกร “เกิดเป็นเกษตรกร ทำอย่างไรให้คนเชิดชูและยอมรับ ไม่ใช่มาดูถูกกันแบบนี้

“ตอนอายุ 15 ปีตัดสินใจจะเข้าเรียนอาชีวะเกษตร แต่ที่บ้านไม่อนุญาต เพราะเขาอยากให้เรารับราชการ เป็นครู เป็นทหาร ก็เลยแอบไปสมัครเรียนที่วิทยาลัยเกษตรร้อยเอ็ด ยังจำได้เลย ตอนกลับมาบ้าน คนแถวบ้านก็ถามว่าเราหายไปไหนมา พอบอกว่าไปเรียนอาชีวะเกษตร ก็โดนดูถูกว่าจะเรียนไปทำไม กลับมาปลูกข้าวเหรอ ตอนนั้นคิดว่าถ้ากลับมาบ้านแล้วทำให้พ่อแม่ต้องอาย ถ้าอย่างนั้นก็ไม่กลับ เรียนอยู่ที่ร้อยเอ็ด ตัดสินใจไม่ขอเงินที่บ้าน วันเสาร์-อาทิตย์รับจ้างถางหญ้าแปลงผัก ทำก้อนเชื้อเห็ด พอดีช่วงนั้นทางอาชีวะเกษตรมีโครงการหารายได้ระหว่างเรียน ผมก็เอาโครงการนี้มาพัฒนาตัวเอง เริ่มจากเพาะก้อนเชื้อเห็ด ลงทุนแค่ 1,000-2,000 บาท ค่อยๆ ขยับเป็นหลักหมื่น สุดท้ายเรามีเงินกว่า 80,000 บาท ตอนนั้นอายุ 17 ปี เลยทำให้มีแรงบันดาลใจว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นไปได้ เกษตรสร้างรายได้ เลยตั้งเป้าที่จะเป็นเจ้าของฟาร์ม

“พอจบ ปวส. ก็ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อิสราเอล 1 ปี บอกตัวเองว่าต้องเรียนรู้ให้ได้เยอะที่สุด เพราะเขาให้เราลงพื้นที่จริง ต้องทำโปรเจกต์วิจัยสายพันธุ์พืช พอลงพื้นที่จริง อะไรที่ไม่รู้ก็ถามเกษตรกรได้เลย ทำไมต้องปลูกแบบนี้ ทำไมต้องใช้ระบบน้ำแบบนี้ เราจึงได้ทักษะการวิจัยวิเคราะห์กลับมา นี่เป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรไทยขาด ถ้าไม่มีกระบวนการวิจัยและวิเคราะห์ การเกษตรประเทศเขาก็คงไม่พัฒนามาขนาดนี้ เขาจะรู้ว่าพืชชนิดนี้ให้ผลผลิตอย่างไร เท่าไร และมีรายได้กลับมาเท่าไร มองย้อนกลับมาบ้านเรา ปลูกข้าวยังไม่จดข้อมูลเลย มีแต่จดค่าใช้จ่าย ทำให้เราเห็นข้อดีของการเก็บข้อมูล และนำมาปรับใช้ว่าจะลดต้นทุนอย่างไร ด้วยการหาสายพันธุ์ที่เหมาะสม เทคโนโลยีที่ลดต้นทุนการใช้ค่าแรง

“ส่วนเรื่องเทคนิคการปลูกต่างๆ ที่เราได้มา นำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้นิดหน่อยเพราะสภาพภูมิเศรษฐศาสตร์ต่างกัน บ้านเขาไม่ค่อยมีสัตว์ที่จะมาทำลายฟาร์ม ที่อิสราเอลจึงแก้ปัญหาเรื่องเกษตรแค่ไม่กี่โจทย์ หลักๆ คือเรื่องน้ำ เรื่องดิน และสภาพแวดล้อมอากาศ เรื่องพันธุ์พืชเขาวิจัยทุกปี เปลี่ยนพันธุ์พืชตลอด เพราะเขาต้องการพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด แต่ประเทศไทยเรื่องน้ำยังแก้ไม่ได้ นี่ก็เพิ่งประกาศภัยแล้ง ศัตรูพืชก็มีตลอดทั้งปี และแก้ปัญหาโครงสร้างดินไม่ถูก เพราะเรายังใช้สารเคมีและมีต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นทางออกคือจะทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องเจอกับปัญหาวัชพืช บำรุงดินให้มีชีวิต ลดต้นทุนพันธุ์พืช และให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี นี่คือสิ่งที่เราคิดเสมอ เพราะเราไปเจอประเทศที่เขาเป็นทะเลทราย แต่ปลูกพืชได้ ในขณะที่บ้านเราอุดมสมบูรณ์ แต่กำลังจะกลายเป็นทะเลทราย” 

 

แปลงผักภายในแก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์

 

‘Rethink’ เกษตรกรยุคใหม่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต
“กลับจากอิสราเอลก็ไปเรียนต่อสาขาการพัฒนาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพราะเป็นสาขาที่ต้องพบปะผู้คน จะนำความรู้ด้านเกษตรเชื่อมกับชาวบ้านอย่างไร จนพัฒนาตัวเองเป็นวิทยากร ไปพัฒนาจิตอาสาที่อำเภอแม่วางที่เชียงใหม่ พัฒนายุวเกษตร สอนเด็กทำเกษตรในโรงเรียนให้เป็นอาหารกลางวัน

“เป็นจิตอาสาสักพักก็ตัดสินใจกลับมาทำฟาร์ม ‘แก้วพะเนาว์ ยัง สมาร์ท ฟาร์เมอร์’ ปี 2557 ช่วงแรกปลูกดาวเรืองขาย และแบ่งอีกพื้นที่ทำโรงเพาะเห็ด พอมีรายได้ก็นำเงินไปหมุน แต่ดูแล้วไม่เวิร์ก เพราะปริมาณเห็ดมีแค่ 10 กิโลกรัมต่อวัน จึงเริ่มมองหลักสูตรอาชีวศึกษาที่สอนเรื่องการพัฒนาให้เป็นผู้ประกอบการ พอได้ความรู้ด้านบัญชีการทำธุรกิจมา ก็มาวิเคราะห์ในรูปแบบของเรา นำเงินทุน 30,000-40,000 บาท ตั้งโจทย์ใหม่ วางแผนใหม่ เพราะเราต้องการตีตลาด กลายเป็นเรามีเงินหมุนเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เดือน มีเงินแสน

“ผมเป็นคนชอบเรียนรู้ ลองผิดลองถูก พอปลูกเห็ดได้เงินดี ก็คิดจะพัฒนาต่อ เอาก้อนเห็ดที่เหลือมาทำปุ๋ยหมัก ปลูกผักบุ้งและโหระพาส่งตามร้านก๋วยเตี๋ยว ทำไปทำมาได้เงินหลักพัน พอรายได้ดีก็ขยายเห็ดเพิ่มขึ้น จนมีเห็ด 10 โรงเรือน ก็จ้างคนมาดูแล สุดท้ายคำนวณบัญชี เงินไปลงที่จ้างงานหมด ก็ลองลดปริมาณการเพาะเห็ด ปลูกผักเพิ่มขึ้น แต่ก็เจอปัญหาเดิม ยังต้องจ้างแรงงานคนมาดูแล เพราะตัวเองก็ต้องวิ่งหาตลาด” 



 

สร้างผลผลิตและรายได้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย Big Data
“ทำไปสักพักก็ตั้งโจทย์ใหม่ จะทำอย่างไรให้ผลผลิตต่อเนื่องและตลาดยั่งยืน โดยที่ไม่ต้องวิ่งหาตลาดตลอด ก็เริ่มนำทฤษฎีการวิเคราะห์ เก็บข้อมูล ที่ได้จากอิสราเอลมาใช้ ปลูกผักช่วงนี้อายุเท่าไร ปลูกเห็ดช่วงนี้อุณหภูมิเท่าไร ระบบน้ำในฟาร์มก็เริ่มมาเซต คนที่มาเห็นสวนเราก็งงว่าทำไมมีผักแปลกๆ และทำไมถึงไม่ตัดขาย เพราะเขายังไม่เข้าใจว่านั่นคือสิ่งสำคัญ จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรคือการทราบข้อมูลของพืช พืชชนิดไหนปลูกไม่ได้ก็กากบาททิ้ง ฟาร์มผมปลูกแตงกวาไม่ได้ เพราะวัชพืชเยอะ ใช้วิธีคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมไปเรื่อยๆ หรือพืชบางอย่างเราก็ต้องปล่อยจนมันแก่ตายเพื่อจะเก็บตามช่วงอายุของเขา อย่างผักบุ้งก็ต้องปล่อยให้ยาว รอเก็บเมล็ดพันธุ์ช่วงฤดูหนาว ปลูกผักสลัดต้องปลูกช่วงฤดูฝน มาเก็บดอกฤดูหนาว เพราะถ้ามาปลูกฤดูหนาวแล้วไปเก็บฤดูร้อน เมล็ดจะฝ่อ เราเริ่มมองเห็นว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างรายได้ตลอดปี ทำให้ผักออกทุกวัน และทำให้เกิดความแม่นยำเกิดขึ้น เช่น ผักตัวนี้อายุ 15 วัน ปลูกแค่ 15 แปลง วันละแปลง พอถึงแปลงที่ 15 วานเมล็ดเสร็จ พรุ่งนี้ไปเก็บแปลงที่ 1 เพราะมันครบ 15 วันแล้ว และก็รีบปลูกใหม่ตอนเย็น พรุ่งนี้เช้าไปปลูกแปลงที่ 2 มันก็เป็นปฏิทินของมัน”

ลดต้นทุนการผลิตด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน
“ผมเริ่มเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านกับปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านที่เก่งคนละสาย เพื่อมาพัฒนาตัวเอง เพราะผมไปสายเทคโนโลยีเกิน ทำให้เราลืมของใกล้ตัว ภูมิปัญญาชาวบ้านสอนเรื่องต้นทุน เรามาวิเคราะห์ว่าทำเกษตรอะไรคือต้นทุน หนึ่งคือเมล็ดพันธุ์ เราซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งปีราคาเท่าไร ลดต้นทุนได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หาวิธีเก็บเมล็ดพันธุ์ให้เป็น ต้นทุนอีกอย่างคือปุ๋ย ปราชญ์ชาวบ้านก็สอนให้เราใช้ใบไม้ตามธรรมชาติทำปุ๋ยหมัก เรามองว่ามันทำได้ แต่มันจับต้องไม่ได้ ไม่รู้ว่าธาตุ M ธาตุ P คือตัวไหน เลยต้องเอากระบวนการวิทยาศาสตร์มาจับ ใช้สูตรของปราชญ์ชาวบ้าน มาลองหาธาตุต่างๆ ส่งเข้าห้องแล็บตรวจ จนได้ว่าธาตุที่เหมาะสมที่สุดกับพืชคือปุ๋ยปลาน้ำจืด ปุ๋ยถั่วเหลือง และพวกปุ๋ยธาตุรองจากเปลือกไข่ แต่ต้องใช้น้ำส้มสายชูไปสกัดแคลเซียมออกมาก่อน จะช่วยให้ไม้ผลแข็งแรง และก็ลองเอางามาหมักเพื่อดึงแคลเซียมให้กับพืช พอได้ปุ๋ยที่ก็เหมือนเครื่องปรุงที่เราจะโยนลงดินให้พืชได้กิน นี่คือที่มาที่ไปของเกษตรอินทรีย์” 

 

 

ส่งต่อองค์ความรู้ให้ชุมชน
“ปี 2559 ผมเริ่มทำเกษตรอินทรีย์จริงจัง ตอนนั้นฟาร์มเราได้เป็นศูนย์เฉลิมพระเกียรติระดับจังหวัดแล้ว จึงตัดสินใจยื่นขอใบรับรองออร์แกนิก ไปเข้าอบรมทั้งระดับสากลและระดับโลก พร้อมๆ กับทดลองทำกับฟาร์มของเราเอง ระหว่างนั้นเราก็เรียนรู้ด้านผู้ประกอบการไปด้วย จนได้รู้ว่าถ้าเราจะทำธุรกิจเกษตรอินทรีย์เราจะไปช่องทางไหนได้บ้าง ใครจะซื้อ และขายได้มากน้อยเท่าไร ถึงจุดหนึ่งคิดว่าเราต้องช่วยเหลือชุมชน แรกๆ ไม่มีใครเชื่อ แต่พอเขาเห็นว่าสวนเราปลูกผักได้ตลอดทั้งปีก็เริ่มมีคนอยากทำด้วย แต่ชาวบ้านก็ยังสงสัยว่าปลูกผักไม่ใส่ปุ๋ยจะเป็นไปได้อย่างไร เริ่มคุยเรื่องลงทุนของตัวเอง มีคนลุยต่อประมาณ 15 คน จาก 60 คน สุดท้ายทั้ง 15 คนก็ปลูกได้ตามแผน ปลายปี 2559 ทุกคนมีผลผลิตขายหมด

“ปี 2561 เริ่มจริงจังเรื่องนวัตกรรม เพราะเราเก็บข้อมูลเรื่องแมลงมา 2-3 ปี ทำร่วมกับ กอ.รมน. เราเก็บข้อมูลว่าแมลงมีมากน้อยเท่าไรสำหรับผักแต่ละชนิด ตัวดีมีเท่าไร ตัวร้ายมีเท่าไร แต่ละฤดูมีแมลงตัวร้ายอะไรบ้าง แล้วมาเทียบว่าทั้งปีเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่า เรามีการปลูกพืชสลับแปลงด้วย ปรากฏว่าแมลงไม่เกิดการระบาด กลายเป็นว่าตอบโจทย์หมดเลยที่ทำมาตั้งแต่ปี 2558 เมล็ดพันธุ์ก็ไม่ซื้อ ยาฆ่าแมลงก็ไม่ต้องใช้ เพราะระบบนิเวศทำให้หมด แล้วก็นำความรู้นี้ไปช่วยชาวบ้าน พอปี 2563 เดินหน้าทำเกษตรแปรรูป นำผักผลไม้ของชุมชนมาแปรรูป เพราะตอนนี้เครือข่ายเราเพิ่มขึ้น ตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่มาอบรมกับเรา พอเรามาแปรรูป ชุมชนส่งให้ต่อเนื่อง เรามีผลิตภัณฑ์แปรรูปที่แน่นอน ชุมชนก็มีแหล่งจำหน่ายผลผลิตของเขา”

วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม เปลี่ยนภาพลักษณ์เกษตรไทยไปอย่างสิ้นเชิง
“ผมว่าตอนนี้สังคมเริ่มมองเกษตรกรเปลี่ยนไปเยอะ และเทรนด์เกษตรเริ่มมา ยังมีการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเข้ามาร่วมด้วย เมื่อก่อนสังคมไทยมองอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง รายได้ขึ้นอยู่กับฟ้าฝน แต่ตอนนี้เทคโนโลยี นวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้ก็ทำให้การเกษตรเป็นเรื่องการของวางแผนมากขึ้น ดูไม่ใช่เรื่องล้าสมัยอีกต่อไป แต่ต้องยอมรับว่าเกษตรกรไทยยังตอบสนองเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรได้ช้า เห็นได้จากคนที่นำเข้าเครื่องมือเกษตรบางครั้งยังไม่รู้เลยว่าเครื่องมือเหล่านี้ใช้อย่างไร พออธิบายให้เกษตรฟังไม่ได้ เครื่องมือก็ไม่ถูกใช้อย่างถูกต้อง

“ดังนั้นเกษตรรุ่นใหม่ต้องเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาเกษตร และคนที่จะเปลี่ยนแปลงได้ก็คือคนรุ่นใหม่ ถ้าเด็กเกษตรลดจำนวนลงทุกปี ประเทศไทยมีปัญหาแน่นอน เพราะจะไม่มีใครผลิตแหล่งอาหารให้กับเรา ตอนที่ผมทราบว่าคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช จัดตั้งโครงการอาชีวะเกษตรสร้างชาติ ผมรู้สึกขอบคุณมากๆ ที่ท่านให้ความสำคัญกับอาชีวะเกษตร เพราะไม่ว่าจะเป็นอาชีวะสายไหน เด็กที่เรียนจบสายนี้ได้เรียนภาคปฏิบัติมาเยอะมาก เขามีแรงบันดาลใจอยากเป็นผู้ประกอบการ แต่เขาไม่มีโอกาสแสดงความสามารถในการทำธุรกิจ ขาดองค์ความรู้ในการวางแผนธุรกิจ

“ภาคการเกษตรจะไปต่อได้ก็ต้องพึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ในการสร้างหลักสูตรผู้ประกอบการเกษตร วิชานี้จะทำให้เด็กเห็นมุมมองว่า เรียนจบเกษตรไม่ต้องสมัครงานที่ไหนก็ได้ สามารถเป็นผู้ประกอบการได้เอง ถ้ากระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์ร่วมมือกัน เกษตรกรไทยจะไปไกลแน่นอน เพราะวิทยาศาสตร์สำคัญที่สุด โครงการอาชีวะเกษตรสร้างชาติ ใช้องค์ความรู้ STi คือ วิทยาศาสตร์ (S) เทคโนโลยี (T) และนวัตกรรม (I) ที่สอนโดยครูมืออาชีพ เพราะเด็กต้องการสิ่งเหล่านี้ไปบูรณาการในการวิเคราะห์ เรียนเกษตรอย่าเรียนเพื่อให้รู้ ต้องเรียนเพื่อวิเคราะห์”  

 

“แต่เด็กรุ่นใหม่จะทำได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจชุมชนด้วยว่าเพราะอะไรเขาถึงไม่ยอมเปลี่ยน พอเราได้ลงไปคลุกคลีกับชุมชนถึงรู้ว่า เขาพร้อมจะเปลี่ยน เพียงแต่เขาไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และต้องมีผู้นำหรือหัวเรือที่ดี ดังนั้นเกษตรกรรุ่นใหม่ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน คือศึกษาทั้งศาสตร์ใหม่และภูมิปัญญาชาวบ้าน ประกอบกับทักษะการ Upskill และ Reskill นำความรู้ทั้งหมดไปพัฒนาต่อและส่งต่อให้กับชุมชนได้”

 

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


ระยะเวลาการหว่านเมล็ดพืชเพียงไม่กี่ปีของเกษตรกรปลิว ที่ต้องการเรียกคืนความภูมิใจให้เกษตรกรไทย คงพอทำให้เห็นเค้าโครงความเป็นไปได้ที่จะชุบชีวิตเกษตรกรไทยด้วยการสร้างเกษตรกรยุคใหม่ที่อาวุธครบมือ โดยมีโครงการอาชีวะเกษตรสร้างชาติ ที่ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คอยสนับสนุนและผลักดันเพาะพันธุ์ต้นกล้าเกษตรกรรุ่นเยาว์ให้เติบโตเป็นรากฐานสำคัญของเกษตรกรไทยในอนาคต ตามแนวคิดของคุณหญิงกัลยาที่จะสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้พร้อมพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยเพิ่มเติมความรู้ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการเกษตรกรรมร่วมเขียนหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตคนให้พร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ยิ่งถ้าดูจากกลยุทธ์ที่คุณหญิงกัลยาวางไว้ เช่น การสร้างอาชีวะต้นแบบ 10 อาชีวะเกษตร 10 ต้นแบบ Digital Farming เพื่อให้สถาบันอาชีวะเกษตรที่เหลือนำไปพัฒนาต่อ สอดคล้ององค์ความรู้ STi ที่กล่าวมา อาจเรียกได้ว่า โครงการเกษตรอาชีวะสร้างชาติ เป็นการวางรากฐานให้เกษตรกรไทยเป็น ‘ผู้สร้างเงิน สร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิต’ อย่างแท้จริง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X