วันนี้ (17 กรกฎาคม) ชัชวาล แพทยาไทย สส. ร้อยเอ็ด เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย อภิปรายพร้อมตั้งกระทู้ถามทั่วไป เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ทบทวนนโยบายและแนวทางการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะในประเด็นการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัว และการยกระดับโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท พร้อมตั้งคำถามถึงแนวนโยบายการยุบหรือควบรวมโรงเรียน และการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่
ชัชวาลแสดงความกังวลต่อท่าทีการสื่อสารของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กล่าวถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสการศึกษา โดยชี้ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ตรงกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่แท้จริงของระบบการศึกษา ซึ่งปัญหาการศึกษาไทย ไม่ใช่แค่เรื่องการเดินทางเข้าเมือง แต่เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับต่างจังหวัด การขาดแคลนครู คุณภาพการเรียนการสอนที่คุณภาพต่ำ รวมถึงการเก็บแป๊ะเจี๊ยะในโรงเรียนดัง
ชัชวาลระบุว่า โรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นกว่า 52% ของโรงเรียนทั้งหมด กำลังเผชิญวิกฤตด้านงบประมาณ ครูไม่ครบชั้น และการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสมจากระบบงบประมาณแบบรายหัว ส่งผลให้ผู้ปกครองพาลูกหลานย้ายไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ซึ่งแออัดมากขึ้นทุกวัน
“ผมเองเป็นผลผลิตจากโรงเรียนขนาดเล็กใกล้บ้าน แต่ปัจจุบันโรงเรียนเช่นนี้กลับถูกมองว่าไม่มีคุณภาพ เพราะรัฐจัดงบแบบรายหัวที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก” ชัชวาลกล่าว
ชัชวาลยกตัวอย่างโรงเรียนบ้านค้อแสนสี อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งมีนักเรียนเพียง 34 คน แต่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนงบประมาณและครูอย่างรุนแรง
ชัชวาลตั้งคำถามเชิงนโยบายถึงแผนของกระทรวงศึกษาธิการในการ ‘ดึงครูส่วนเกินจากโรงเรียนขนาดเล็ก ไปทำหน้าที่ธุรการ’ ว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน พร้อมเสนอให้มีการพิจารณาจัดสรรงบประมาณโดยคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ ความยากจน และระยะทาง มากกว่าการนับเพียงจำนวนหัวนักเรียน
เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยยังเรียกร้องให้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยชี้ว่าหลักสูตรแกนกลางที่ใช้อยู่ปัจจุบัน (ปี 2551 ปรับปรุง 2560) ไม่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทักษะอาชีพหลากหลาย
“การพัฒนาโรงเรียนโดยไม่ปรับปรุงหลักสูตร ก็เท่ากับแค่ซ่อมหลังคา แต่ไม่เปลี่ยนโครงสร้าง ผมขอตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้จะกล้าปรับหลักสูตรให้ตอบโจทย์อนาคตหรือไม่ และเมื่อไหร่จะเห็นผลเป็นรูปธรรม” ชัชวาลกล่าว
ชัชวาลยังแสดงความกังวลถึงอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมตำราเรียนที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงหลักสูตร พร้อมเรียกร้องให้มีความโปร่งใสในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา และให้ความสำคัญกับประโยชน์ของเด็กไทยเป็นอันดับแรก
“หากเราไม่ยกระดับโรงเรียนเล็ก เช่น บ้านค้อแสนสี ให้มีคุณภาพ มีทรัพยากร และหลักสูตรที่ทันสมัย เท่ากับเราปล่อยให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
ชัชวาลกล่าว