อาจจะยากสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการผลิตภาพยนตร์ที่จะคุ้นชื่อ ปุ๊ก-พันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ เพราะเขาคือหนึ่งในตัวอย่างคนเบื้องหลังที่การนิยามตัวตนผ่านชิ้นงานได้ผลดีกว่าการนิยามด้วยภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และการันตีคุณภาพด้วยความสำเร็จของผลงานมากกว่าความสำเร็จส่วนตัว
เขาคือผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง คู่กรรม ใน พ.ศ. 2538, ผู้อำนวยการสร้างเรื่อง กุมภาพันธ์ หนังรักตลอดกาลที่สร้างชื่อให้ผู้กำกับอย่าง ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค รวมทั้งโปรดิวเซอร์คู่ใจของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ทำหน้าที่หาทุนมาสร้างภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ, เป็นคนทำการตลาดให้ภาพยนตร์เรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ของ จิระ มะลิกุล ฯลฯ
รวมทั้งงานกำกับส่วนตัวอย่าง ไอ้ฟัก ที่นำวรรณกรรมคลาสสิก คำพิพากษา ของ ชาติ กอบจิตติ มาตีความใหม่, มะหมา 4 ขาครับ ที่คว้ารางวัลระดับนานาชาติ ไล่เรียงมาจนถึง LoveSyndrome รักโง่ๆ หนังรักอารมณ์ดีที่ทำให้เขารู้สึกอกหัก จนต้องมาตั้งหลักกับวงการซีรีส์ที่เขาบอกว่า ยังพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
กับการรับหน้าที่ผู้กำกับซีรีส์ แพ้กลางคืน (Nyctophobia) หนึ่งในซีรีส์ 4 เรื่อง จากโปรเจกต์ Sleepless Society The Series ที่ได้รับการสนับสนุนจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงยักษ์ใหญ่ Netflix ทำสัญญา Pre-Buy จองคอนเทนต์ไปฉายแบบเอ็กซ์คลูซีฟตั้งแต่ได้ยินคอนเซปต์ของโปรเจกต์ และยังไม่ทันเริ่มถ่ายทำด้วยซ้ำ
ถึงแม้ตอนนี้จะอยู่ในช่วง ‘ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์’ กับวงการซีรีส์ แต่ลึกๆ แล้วเลือดของ ‘คนทำหนัง’ ยังสูบฉีดแน่นอยู่เต็มร่างกายและหัวใจ เพื่อรอว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้กลับไปทำหนังที่เขาหลงใหลอีกครั้งหนึ่ง
ตัวอย่างซีรีส์ แพ้กลางคืน
ในบรรดาหลายบทบาทที่คุณได้รับมาตลอดชีวิตเส้นทางในวงการภาพยนตร์ คิดว่าตำแหน่งไหนที่สามารถนิยามตัวคุณได้ชัดเจนที่สุด
ยังเรียกตัวเองว่าเป็นคนทำหนังอยู่ ถึงแม้จะมาทำในรูปแบบที่เป็นละครทีวี แต่สิ่งที่ผมเอามาใช้ทั้งหมดก็คือการทำหนัง เพียงแต่เปลี่ยนวิธีเล่าแบ่งเป็น 10-20 ตอน ส่วนบทบาทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา อบรม การเป็นครู หรือแม้กระทั่งคนขายหนัง เราพยายามหาคนที่จะมาเป็นโปรดิวเซอร์ คนที่จะไปคุยหาเงินจากต่างประเทศมาให้เรา เพื่อให้ความเป็นคนทำหนังของเรายังยืนยงต่อไปได้
แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า การทำหนังเพื่อฉายโรงมันไม่อยู่ในสภาวะเหมือนที่เราทำได้เมื่อ 3-4 ปีก่อน ที่เราเคยเชื่อฝังหัวมาตลอดว่า ถ้าทำหนังสนุกมันต้องมีคนดู แล้วก็รู้สึกว่าการโฆษณา ประชาสัมพันธ์หน้าหนังเป็นเรื่องรองมาตลอด
แต่พอทำหนังเรื่องสุดท้ายคือ LoveSyndrome รักโง่ๆ เราก็ยังคิดว่าหนังมันสนุกของมันไปนะ มีคนหัวเราะและร้องไห้ แต่มันไม่ได้เงิน เริ่มคิดว่า เฮ้ย ไอ้ที่บอกว่าหนังสนุกจะมีคนดู มันไม่ใช่ความจริงอีกต่อไป ต้องกลับมาตั้งหลักใหม่ เพราะผมศูนย์เสียไปเยอะ รู้สึกเหมือนอกหัก ถูกบอกเลิกจากวงการเลยนะช่วงนั้น
ก็เลยพักไว้ก่อน แล้วมาทำทีวี ซึ่งผมว่ามันตอบโจทย์เรื่องนั้นได้ดีกว่านะ ถ้าละครคุณสนุก คนจะเข้ามาดู เพราะมันมีระยะเวลาให้คนรอคอย สมมติฉาย 15 ตอน ถ้าคนสนุกเขาจะกลับมาดูตอนต่อไป มันมีผลตอบรับที่เห็นได้ชัด และที่สำคัญคือ ไม่ทำให้ผู้ลงทุนเจ็บตัว แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังอยากเรียกตัวเองว่าคนทำหนัง และอีกไม่นานจะกลับไปทำหนังอีก
ตัวอย่างภาพยนตร์ LoveSyndrome รักโง่ๆ
พอจะมีคำตอบบ้างไหมว่าทำไมถึงหาคนคนนั้นไม่เจอ
คงไม่มี หรือคนที่มีเขาก็ไม่ได้คิดเหมือนกัน ผมมองภาพว่า การ Commercial Art สิ่งสำคัญคือ ต้องมีคนขายของที่เชื่อมถึงกัน อย่างในประเทศไทยที่บริษัทแกรมมี่มีพี่เต๋อ (เรวัต พุทธินันทน์) เป็นคนทำของชั้นดี แล้วมีพี่บูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม) เป็นคนขายของ, Workpoint มีพี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) เป็นคนคิด และมีพี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) เป็นคนบรรจุหีบห่อ, หรือยุคก่อน GTH ก็มีพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) เป็นคนคิด มีคุณวิสูตร (วิสูตร พูลวรลักษณ์) มีจินา (จินา โอสถศิลป์) เป็นคนขายชั้นดี ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องเชื่อมถึงกันจริงๆ ถึงจะประสบความสำเร็จ
สำคัญที่สุดคือ เขาต้องเชื่อในโปรดักต์ของเรา เชื่อในสิ่งที่เราทำ เชื่อว่างานที่เราทำอยู่สามารถขายได้ และเขามองเห็นวิธีที่จะค้าขายได้จริงๆ โจทย์มันมีเท่านี้เลย พอเป็นความเชื่อ มันก็ค่อนข้างพูดกันยาก เพราะเหตุผลจริงๆ อาจเป็นเพราะงานของเราไม่เซ็กซี่พอที่จะทำให้คนเชื่อเองก็ได้ ตอนนี้ก็เลยต้องค้นหากันต่อไป
เหมือนกับมองข้ามความเชื่อเรื่องงานที่ดีไปแล้ว เพราะต้องเชื่อไปถึงขนาดที่ว่างานนั้นจะต้องขายได้ด้วย
ผมยกตัวอย่างตอนที่ผมทำงานขายหนังให้กับพี่เก้งเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 ที่พอดูหนังไปแล้ว ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นหนังดี ซึ่งหนังแบบนี้ 20 ล้านก็เหนื่อยแล้ว แต่ผมมองว่า มันสามารถขายได้ด้วย แม้มันไม่ใช่หนังตลก แต่ผมเชื่อว่า มีวิธีพูดให้คนดูเชื่อและอยากมาดู พอเชื่อ ผมก็จะทุ่มเทให้กับหนังเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แล้วก็ได้มา 50 กว่าล้าน ซึ่งก็รอดจากการขาดทุนมาได้อย่างหวุดหวิด หลังจากนั้นเขาก็ไปจอยกับคุณวิสูตรที่เป็นเจ้าพ่อการขาย เป็นการจับคู่ที่ร่วมกันสร้างปรากฏการณ์มาตลอด 10 กว่าปี
ตัวอย่างภาพยนตร์ 15 ค่ำ เดือน 11
ก่อนหน้าที่จะมาทำละครเต็มตัว เคยมีความรู้สึกทำนองว่าศาสตร์ละครโทรทัศน์อาจไม่ใช่แนวทางที่ถนัดหรืออินเท่ากับศาสตร์ภาพยนตร์มาก่อนบ้างไหม
ผมทำคู่กันเรื่อยๆ นะ ถึงจะให้น้ำหนักไปทางหนังมากกว่า ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นรูปแบบที่แตกต่างตามธรรมชาติของสื่อแต่ละชนิด ถ้าเลือกให้หนังเป็นสื่อ คงเหมือนการเขียนนวนิยายที่ต้องเข้มข้น กลั่นกรองมาประมาณหนึ่ง เพื่อสะกดจิตให้เขาอยู่ในห้องมืดๆ กับสิ่งที่อยู่บนจอเป็นเวลา 1-2 ชั่วโมงได้ แต่พอเป็นละคร เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ มันใช้วิธีการเข้าถึงคนดูต่างกัน และส่งผลสะเทือนต่อคนดูต่างกันเท่านั้นเอง
หลังถูกบอกเลิกจากวงการหนัง ตอนนี้ความรักครั้งใหม่กับวงการซีรีส์ที่กระโดดมาทำแบบเต็มตัวเป็นอย่างไรบ้าง
เรียกว่าอยู่ในช่วงฮันนีมู้ดพีเรียดที่ไปได้ดี แต่เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ทำให้ธุรกิจส่วนตัวดีขึ้นนะ ยังอยู่ในวังวนเดิม คือเกินงบช่างมัน ทำให้ดีก่อน เหมือนตอนทำหนังอยู่ดี (หัวเราะ) ถึงอย่างไรก็ตามละครต้องสนุก ซึ่งด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์บางอย่างที่ถ้าเราอยากให้ละครสนุก ละครดีจริงๆ ก็ต้องเอาเงินถมไปก่อน
แต่มันเป็นช่วงที่เรามองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ คือธุรกิจหนังในตอนนั้นเราเข้าไปแล้วมันมืด แต่ตอนนี้มองเห็นว่า ถ้าเราทำไปเรื่อยๆ สร้างความเชื่อให้กับสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้ ว่าเราคือผู้ผลิตที่มีคุณภาพได้ เขาก็จะจ้างเรา
ยิ่งสถานการณ์ปีที่ผ่านมา มีละครไทยออกมาประมาณ 100 เรื่องนะครับ ทุกคนวิ่งหาผู้จัด วิ่งหาผู้ผลิตเพื่อมาซัพพอร์ตตรงนี้ แล้วยังมีโอกาสอื่นๆ เช่น การเข้ามาของ Netflix และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่แค่ตลาดไทย แต่เป็นตลาดสากลที่กว้างขึ้น ตอนนี้อาจจะยังมีไม่มาก แต่ในอนาคตมันจะสว่างแน่ๆ
ในฐานะผู้ผลิต หรือ Content Provider ดีแน่ๆ งบประมาณก็สูงขึ้น ตอนนี้ผู้กำกับเก่งๆ รับงานทีเดียวพร้อมกัน 2-3 เรื่องได้เลยนะ แต่สิ่งที่ตามมาแน่นอนก็คือ คุณภาพ แน่นอนแหละว่าช่วงน้ำขึ้นทุกคนต้องรีบตัก แต่ถ้ารีบตักกินแบบมูมมาม ไม่รักษาคุณภาพ พอวันหนึ่งตลาดวายเขาจะเริ่มมองว่า ใครคือตัวจริง อยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดวังวนที่ว่า แย่แล้ว มีแต่ขยะเกิดขึ้นมา
งบประมาณสร้างก็สูงขึ้น แต่ทำไมคุณถึงยังต้องควักเงินตัวเองตอนกำกับซีรีส์ Sleepless Society อยู่
เพราะในสเกลที่เขาอนุมัติกันตามปกติ มันไม่ใช่ละครแบบที่เราทำได้ เพราะอย่างที่บอกว่า เรายังทำแบบหนังอยู่ ถ่ายฉากหนึ่งก็ต้องมีเซตอัพหนึ่ง หมุนกลับเป็นเซตอัพสอง เพื่อให้เกิดการเล่าเรื่องด้วยกล้องมากขึ้น มันก็ใช้เวลามากขึ้น สมมติละคร 20 ตอน เขาถ่ายประมาณ 40-50 วัน ของเราจะขึ้นไปเป็น 60 วัน ไปจนถึงโพสต์โปรดักชันต่างๆ
หรือแค่ตากล้องที่เราใช้น้ากล้วย (ณัฐวุฒิ กิตติคุณ ผู้กำกับภาพเรื่อง นางนาก, ฟ้าทะลายโจร, องค์บาก, โหมโรง, Goal Club เกมล้มโต๊ะ, ชัมบาลา ฯลฯ) นี่ก็แพงกว่าตากล้องคนอื่นที่เขาจ้าง 3 เท่า เพื่อให้ภาพมีบรรยากาศที่ดี พอเป็นแบบนี้แล้วถึงอย่างไรมันก็ขาดทุนไปสิ แต่ยอม เพราะเชื่อว่าเราจะมีโอกาสมากขึ้นในอนาคต
อาจจะเป็นวิธีคิดโง่ๆ ก็ได้นะ แต่ผมเชื่อแบบนี้มาตลอด ตอน ไอ้ฟัก ต้นทุนเกิน ผมก็ควักเงินตัวเองไป 3 ล้าน หรืออย่างตอนเป็นโปรดิวเซอร์เรื่อง สัตว์ประหลาด ให้เจ้ย ก็ทำแบบนี้ แล้วมีคนมาบอกว่า โอ้โห คุณกล้าหาญมากๆ สักพักอีกคนก็มาบอกว่า กล้าหรือว่าโง่กันแน่ (หัวเราะ) มันมีเส้นบางๆ กั้นกันอยู่นิดเดียว แต่เราก็เชื่อแบบนี้มาตลอด ต้องการพิสูจน์ว่าคุณภาพคือสิ่งที่เรามองหา
เคยสงสัยจนต้องกลับมาถามตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ บ้างไหม ว่าท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ทำอยู่เรียกว่ากล้าหรือโง่กันแน่
ไม่เคยสงสัย เพราะถ้าสงสัย เราจะไม่ทำอย่างนี้ เพียงแต่พอโตขึ้น มีครอบครัว มีความรับผิดชอบมากขึ้น ก็ทำให้เรารู้สึกสงสารพวกเขาเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ทำเหมือนเดิม ใช้เงินแก้ปัญหา ยังไงก็ต้องเอาให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้น ถ้าทำอะไรให้มันเสร็จๆ ส่งๆ มันจะเหมือนมีอาการซึมเศร้าว่า เชี่ย กูปล่อยอย่างนั้นไปได้อย่างไร ทำไมไม่ถ่ายมาอีกวะ ถ้ายอมเมื่อไร เราจะนอนไม่หลับ แต่ถ้าจ่ายเพิ่มสองหมื่นแล้วถ่ายต่อ ได้ อันนี้ยอม นอนหลับง่ายกว่า
ในฐานะผู้สร้างและผู้กำกับ คุณมองกรณี Game of Thrones ซีซัน 8 ที่มีคนดูผิดหวัง จนทำแคมเปญรวบรวมรายชื่อ เพื่อให้สร้างขึ้นมาใหม่, กรณีภาพยนตร์เรื่อง Sonic: The Hedgehog ที่โดนโจมตีเรื่องการออกแบบตัวละคร จนทีมผู้สร้างต้องกลับไปออกแบบใหม่ และอีกหลายๆ กรณีที่แสดงให้เห็นว่า ความคิดเห็นหรือความไม่พอใจของคน เริ่มมีผลกับทิศทางการสร้างหนังมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรบ้าง
ผมไม่ได้ดู Game of Thrones เลยอาจพูดไม่ได้มากว่าเป็นอย่างไร แต่เคส Sonic: The Hedgehog นี่น่าสนใจ คือผมไม่แน่ใจว่าทำไมผู้สร้างถึงตัดสินใจกลับไปแก้ แต่สิ่งหนึ่งที่ Sonic: The Hedgehog ได้แน่ๆ คือกระแสในการโปรโมต เพราะคนอยากรู้อยากเห็นมากกว่าเดิม สมมติบอกว่า จะสร้าง Sonic: The Hedgehog เฉยๆ เรื่องอาจจะเงียบ แต่ตอนนี้ต่อให้มีคนด่า 1 ล้านคน อย่างน้อยไอ้หนึ่งล้านคนนี้ก็จับตามองแล้ว
ในโลกทุกวันนี้มีข้อความเกิดขึ้นเต็มไปหมดเลยนะ แล้วคุณจะสร้างกระแสอย่างไรให้โดดเด่นขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งคิดว่าการที่คนดูแสดงความคิดเห็นได้มากขึ้น จะหมายความว่าคนดูมีอำนาจทุกอย่าง จริงๆ นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนการโปรโมตของเขาก็ได้ เป็นโลกที่เราอยากจะบอกว่า ต้องตั้งสติดีๆ เพราะสิ่งที่เห็นว่าเข้ามาหาเรา นั่นเขาเป็นคนเลือกให้มาหาเรานะ
ทีนี้ต้องกลับไปที่จุดยืนของผู้กำกับและผู้สร้างด้วยว่าคืออะไร ถ้าจุดยืนคือ จะเล่า จะตีความแบบนี้เท่านั้น คนดูก็ไม่มีสิทธิ์ทำอะไรเขาได้ ทำได้แค่ชอบหรือไม่ชอบ แต่ถ้าจุดยืนคือต้องการเงิน ก็แน่นอนว่าต้องตามใจเขา ซึ่งไม่มีแบบไหนผิดหรือถูก เหมือนอยากทำหนังแบบอภิชาติพงศ์แล้วบอกว่า อยากได้ 100 ล้าน อันนี้ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว เพียงแต่เขาชัดเจนว่าทำเพื่อต้องการสร้างงานศิลปะ คนดูจะมีอิทธิพลกับคนทำก็ต่อเมื่อคนทำปล่อยให้เขามีอิทธิพลด้วยเท่านั้น แล้วเขาจะฉวยใช้ประโยชน์จากคนดูได้มากกว่าที่คิด
สมมติจุดมุ่งหมายของการทำสิ่งนี้ เพื่อให้คนรู้จัก เขาอาจจะเลือกทำให้คนเกลียดไปเลย ทำอย่างไรก็ได้ให้คนด่าทุกวัน วันนี้ก็เห็นนักการเมืองบางคนทำอย่างนี้ จุดยืนของเขาชัดเจนว่าต้องการให้คนรู้จัก ยิ่งด่ายิ่งดัง ลองดูสิ จากคนโนเนมที่ไหนก็ไม่รู้ ตอนนี้มีใครไม่รู้จักชื่อเขาบ้าง นี่คือรูปแบบการใช้ผู้ชมแบบเดียวกับที่ผมบอก ซึ่งเขาประสบความสำเร็จแล้ว หลังจากนี้เราจะเอาการเป็นที่รู้จักของเขาไปทำอะไรต่อนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นหลายๆ ครั้งที่มวลชนคนเสพคิดว่า การแสดงความคิดเห็นคือการมีอำนาจเหนือคนทำ แต่จริงๆ อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป
ตัวอย่างภาพยนตร์ Sonic: The Hedgehog
ถ้าจุดยืนของผู้สร้างเป็นสิ่งสำคัญ แล้วจุดยืนของคุณในการกำกับซีรีส์ แพ้กลางคืน (Nyctophobia) คืออะไร
จุดหมายที่หนึ่งทางธุรกิจคือ ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า ซีรีส์ไทยสามารถเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มสากลอย่าง Netflix ในฐานะคอนเทนต์คุณภาพที่ทัดเทียมกับซีรีส์อื่นๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกันได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร
ส่วนจุดหมายในฐานะสื่อสารมวลชนหรือนักเล่าเรื่อง ก็อยากจะบอกทุกคนว่า ระวังคุณจะเป็นแบบ มีนา นางเอกของเรื่อง ที่ถูกล่อหลอกด้วยข้อมูลที่มีอยู่เต็มไปหมด จนไปถึงจุดหนึ่งที่บอกไม่ถูกแล้วว่าอันไหนถูก อันไหนผิดกันแน่ มันย้อนกลับไปถึงเรื่องที่เราพูดกันเมื่อสักครู่ว่า สื่อทุกวันนี้อันตราย คนที่ใช้สื่อเป็น เขาสามารถพลิกขาวเป็นดำ พลิกดำเป็นขาวได้ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ระวังตัว
คนดูก็จะได้ติดตามชีวิตของมีนา และคิดไปพร้อมๆ กับมีนาด้วยว่า เรื่องราวที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร หยอดปัจจัยต่างๆ กระตุ้นให้คนสงสัย เพื่อเล่นกับความคิดและอารมณ์คนดู ตกลงเด็กคนนั้นเป็นลูกของมีนาเป็นใคร หรือเป็นอะไรกันแน่ ซึ่งถ้าเป็นคนดูประเภทไม่ได้อยากขำหรือบันเทิงแบบ 100% แต่ชอบความสงสัย ชอบอะไรบางอย่างที่ชวนให้สงสัย อันนี้เสร็จเราแน่นอน
แม็ค-ณัฐพัชร์ นิมจิรวัฒน์พลอย รับบทเป็น อาร์ม และ พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ รับบทเป็น มีนา
ถ้าดูจากซีรีส์ 4 เรื่องในโปรเจกต์ Sleepless Society จะเห็นตัวละครหลักเป็นผู้หญิงทั้งหมด อะไรคือเสน่ห์หรือความพิเศษจากการโฟกัสให้ตัวละครหญิงเป็นคนดำเนินเรื่อง
ถ้าพูดเฉพาะตอน แพ้กลางคืน นะ ที่ถ้าเปลี่ยนตัวเอกจากแม่เป็นพ่อ อารมณ์จะเปลี่ยนไปเลย แค่ความผูกพันก็ต่างกันแล้ว ผมรู้สึกว่า คนเป็นแม่จะมีความรักลูกที่ข้ามไปถึงคำว่างมงายมากกว่าพ่อ ลักษณะเหมือนแม่เสือที่จะมีความหวงและต้องการปกป้องลูกกว่าเพศผู้ ซึ่งสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่รุนแรงก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ แน่นอนว่าเป็นความรักที่ใหญ่ แต่สิ่งที่ตามก็คือ บางทีก็อาจจะรักจนไม่แยกแยะ
เหมือนอย่างตัวละครมีนาที่เป็นหมอ เป็นเจ้าของโรงพยาบาล ปกติจะเชื่อเรื่องวิญญาณรวมร่างอะไรแบบนี้เหรอ แต่พอสูญเสียลูก เสียใจ นอนไม่หลับอยู่ 1 ปี แล้วพอวันหนึ่งลูกกลับมา ทั้งที่สามัญสำนึกตามปกติบอกว่า ไม่มีทาง แต่ใจก็อยากให้ลูกกลับมาจริงๆ จนกลายเป็นเรื่องราวในเรื่อง ซึ่งถ้าเป็นผู้ชาย อาจจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ที่น่าจะมีความพยายามพิสูจน์ความจริงก่อนมากกว่านี้
มองเห็นความน่าสนใจหรือโอกาสในอนาคตที่มากขึ้นอย่างไรบ้าง จากการได้แพลตฟอร์มสตรีมมิงระดับโลกอย่าง Netflix มาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน
นอกจากเรื่องงบประมาณและการนำผลงานของเราไปสู่สายตาผู้ชมที่กว้างมากขึ้น ผมว่าข้อดีอย่างหนึ่งคือ โปรเจกต์ที่ทำกับ Nexflix จะมีเวลาในการวางแผนมากกว่าการทำซีรีส์ตามปกติ อย่างเรื่อง แพ้กลางคืน เราเริ่มพัฒนาตอนปลายปี 60 เท่ากับว่า เรามีเวลาเขียนบทและถ่ายทำตลอดปี 61 เลย ซึ่งเป็นโมเดลที่ควรผลักดันในการให้เวลากับการทำซีรีส์เรื่องหนึ่งนานๆ อย่างที่บอกว่าทำซีรีส์เรื่องนี้ ผมคิดเหมือนการทำหนังทุกอย่างเลย ระยะเวลาที่ใช้ก็เหมือนกัน เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้น
แต่มันก็จะมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะการที่ Netflix มาสนับสนุนเรา และทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะให้เราออกอากาศสดได้แค่ทางช่อง one31 ไม่มีรีรันย้อนหลัง ทุกคนจะดูซีรีส์ แพ้กลางคืน ได้เฉพาะใน Netflix รวดเดียวหลังออกอากาศจบไปแล้วเท่านั้น
ซึ่งถ้ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเอาซีรีส์ของเราไปเผยแพร่ก่อนกำหนดการของ Netflix มันก็จะเกิดคำถามกับเจ้าของเงินขึ้นมาทันทีว่า ถ้าเขาลงทุนไปตั้งขนาดนี้แล้วยังสามารถดูฟรีได้ แล้วเขาจะลงทุนกับเราต่อไปเพื่ออะไร หรือถ้าเขาทำก็อาจจะไม่ใช่ฉายบนแพลตฟอร์มไทยแล้ว จะมีแต่คอนเทนต์ออริจินัลของเขาอย่างเดียว
ซึ่งมันไม่ส่งผลดีกับธุรกิจที่กำลังจะพัฒนาตรงนี้มากๆ รวมทั้งคนทำคอนเทนต์ดีๆ ก็จะเสียโอกาสตรงนี้ไปหมด แล้วมันก็จะส่งผลไปถึงคนดูที่ไม่มีคอนเทนต์ที่มีโปรดักชันดีๆ ที่มีคุณภาพอยู่บนแพลตฟอร์มระดับโลกได้ดู มันส่งผลถึงกันหมด ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่แน่ว่า แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่ผมพูดถึงอาจจะดับไปเลยก็ได้
ภาพ: นวลตา วงศ์เจริญ และ Tifa Studios
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- นอกจากทำหน้าที่ผู้กำกับซีรีส์ แพ้กลางคืน ปุ๊ก พันธุ์ธัมม์ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ที่ฟ้า สตูดิโอส์ หนึ่งในบริษัทผู้สร้างคอนเทนต์ในเครือจีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
- โปรเจกต์ Sleepless Society The Series ประกอบไปด้วยซีรีส์ 4 เรื่อง ที่พูดถึงชีวิตหญิงสาว 4 คน ที่ประสบปัญหาในชีวิตแตกต่างกันไป
- ซีรีส์ แพ้กลางคืน (Nyctophobia) ออกอากาศสดทุกวันพุธ เวลา 21.20 น. ทางช่อง one31 ไม่มีการรีรันย้อนหลัง จะรับชมได้อีกครั้งใน Netflix หลังจากออกอากาศจบครบทุกตอนแล้วเท่านั้น