×

ไขปริศนา ผีอำ เรื่องผีๆ หรือวิทยาศาสตร์กันแน่

19.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความว่า ผีอำ คืออาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนปลุกปล้ำหรือยึดคร่าให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น
  • ทางการแพทย์เรียกผีอำว่า Sleep Paralysis ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ได้ อาการนี้เกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น คนที่เกิดอาการแบบนี้จะรู้สึกอึดอัด อึกอัก พูดไม่ได้ไปชั่วขณะ
  • หากคุณเกิดอาการผีอำบ่อยๆ แนะนำให้พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เลี่ยงการนอนหงาย เพราะท่านอนหงายเป็นท่าที่ทำให้เกิดผีอำได้บ่อยกว่านอนตะแคง การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสมก่อนนอน

คุณเคยถูกผีอำไหมครับ ผีอำคืออาการอึดอัดคล้ายมีบางสิ่งบางอย่างกดทับทำให้ร่างกายขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ มักจะเกิดขึ้นตอนนอนหลับ พอรู้สึกตัวอีกทีก็ขยับไม่ได้เสียแล้ว มีความเชื่อว่าอาการนี้เกิดจากภูตผีปีศาจกระทำ ก็เลยเรียกว่าผีอำ

 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความว่า ผีอำ คืออาการที่ปรากฏเมื่อเวลานอนเคลิ้มไปว่ามีคนปลุกปล้ำหรือยึดคร่าให้มีอาการเหนื่อยหอบจนตื่นขึ้น อาการผีอำนี้จะว่าเป็นปรากฏการณ์ในโลกใบนี้ก็ได้ เพราะในหลายๆ ภูมิภาคมีบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชูมีเรื่องเล่าเก่าแก่ว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งนอนหลับไปแล้วถูกผีกดทับขาเอาไว้ ทำให้กระดุกกระดิกไม่ได้อยู่เป็นนาน ต้องหาเครื่องรางมาห้อยไว้ในห้องนอนเพื่อป้องกันไม่ให้ปีศาจร้ายมารังควาน

 

Photo: shutterstock

 

ทางฝั่งอเมริกาเหนือและแคนาดาก็มีความเชื่อทำนองนี้เช่นกัน พวกเขาเชื่อกันว่าคนที่นอนหลับแล้วขยับตัวไม่ได้เกิดจากมีแม่มดมานั่งทับอยู่บนหน้าอก ต้องหาเครื่องรางมาขับไล่แม่มดให้หวาดกลัว

 

ชนพื้นเมืองแอฟริกาและออสเตรเลียก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูตร้ายที่จะมาทำอันตรายคนที่เผลอนอนหลับ โดยขึ้นไปนั่งทับที่ลำตัวและหน้าอก ทำให้ขยับไม่ได้ไปชั่วขณะ เป็นต้น

 

Photo: giphy.com

 

ไสยศาสตร์หลบไป วิทยาศาสตร์การแพทย์มีคำตอบให้

แท้ที่จริงแล้วอาการดังกล่าวหาใช่เกิดจากภูตผีปีศาจมาทำให้เป็นไป แต่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายเวลานอน ทางการแพทย์เรียกอาการผีอำว่า Sleep Paralysis ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ได้ อาการนี้เกิดขึ้นในช่วงกึ่งหลับกึ่งตื่น คนที่เกิดอาการแบบนี้จะรู้สึกอึดอัด อึกอัก พูดไม่ได้ไปชั่วขณะ สังเกตว่าเราแทบไม่เคยเจอคนถูกผีอำขณะยังตื่นหรือมีสติเลย

 

ผีอำนั้นแบ่งเป็นสองแบบคือ เกิดขึ้นในช่วงใกล้หลับ หรือเกิดขึ้นในช่วงใกล้ตื่น หากเป็นผีอำช่วงใกล้หลับ เราเรียกว่า Predormital Sleep Paralysis ในช่วงเวลานั้นร่างกายจะอยู่ในภาวะผ่อนคลาย เมื่อผีอำเกิดขึ้นในช่วงนี้ คนไข้มักจะไม่ค่อยรู้ตัว อาจจะมีอาการเพียงรับรู้ว่าขยับตัวไม่ได้ พูดไม่ได้เท่านั้น

 

Photo: giphy.com

 

ผีอำช่วงใกล้ตื่น เราจะเรียกว่า Postdormital Sleep Paralysis เมื่อ 75% ของผีอำมักจะเกิดในช่วงนี้ คนไข้มักจะสะดุ้งตื่น รู้สึกตัวในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุดลง มักจะเกิดอาการแน่นหน้าอก อึดอัด ร่วมกับการขยับร่างกายไม่ได้ พูดไม่ได้ อาการผีอำส่วนมากมักจะอยู่ไม่นานเกินกว่า 5-10 นาที

 

เรื่องนี้ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่ามีสาเหตุมากมายที่ทำให้เกิดภาวะผีอำ สาเหตุที่พบบ่อยๆ ได้แก่

  • นอนหลับไม่ดี นอนหลับไม่พอ หรือนอนไม่หลับ พอร่างกายอยู่ในภาวะนี้นานเข้าก็อาจเกิดมีผีอำขึ้นมาได้
  • อาชีพที่เวลาการนอนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเสมอ เช่น แอร์โฮสเตสที่บินข้ามทวีป ต้องเปลี่ยนไทม์โซนบ่อยๆ, ยาม พยาบาล แพทย์ ที่เปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน ต้องอยู่เวรดึกสลับกับเวรเช้า, นักเดินทางที่ร่างกายเกิดสภาวะเจ็ตแล็ก ฯลฯ
  • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด หรือผู้ป่วยสภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
  • การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น, ยานอนหลับ, ใช้สารเสพติด ฯลฯ

 

การพยายามเลี่ยงสาเหตุดังกล่าวจะทำให้อาการผีอำหายไป แต่ถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ประสบกับภาวะผีอำอยู่บ่อยๆ อาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์แล้วล่ะครับ แพทย์จะตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด บางคนอาจจำเป็นต้องทำ Sleep Test เพื่อทดสอบดูว่าเวลาที่นอนหลับแล้วร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้างเพื่อประกอบการวางแผนรักษา

 

Photo: shutterstock

 

การดูแลตัวเองในเบื้องต้น หากคุณเกิดผีอำบ่อยๆ ล่ะก็ เราขอแนะนำให้พยายามเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เลี่ยงการนอนหงาย เพราะท่านอนหงายเป็นท่าที่ทำให้เกิดผีอำได้บ่อยกว่านอนตะแคง นอกจากนี้การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนเป็นส่วนผสมก่อนนอนก็ช่วยได้ดีเช่นเดียวกันครับ

 

ภาพประกอบ: Tanya S. / Pantitra H.

อ้างอิง:

  • Dauvilliers, Y.; Billiard, M.; Montplaisir, J. (2003). “Clinical aspects and pathophysiology of narcolepsy”. Clinical Neurophysiology. 114 (11): 2000–2017.
FYI
  • เชื่อกันว่าคนที่ถูกผีอำเกิดจากทำผิดประเพณีบางอย่าง เช่น นอนหันศีรษะไปผิดทิศ ก่อนนอนไม่ได้สวดมนต์ นอนขวางธรณีประตู นอนตรงกับขื่อ นอนหันเท้าไปทางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้มีในทุกวัฒนธรรม ทุกชาติ ทุกภาษา แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น การแก้ไขก็แตกต่างกันออกไป นับเป็นความพยายามของมนุษย์ในการจะหาคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตน แต่จากผลวิจัยทางการแพทย์บอกให้เรารู้ว่า ‘ยังไม่เคยมีใครตายจากผีอำ’ เพราะหลังจากอาการผีอำเกิดขึ้นไปชั่วขณะ ร่างกายจะค่อยๆ ตื่นตัวและคืนสู่สมดุลกลับสู่สภาวะปกติอีกครั้งหนึ่ง
  • นายแพทย์ซามูเอล อเล็กซานเดอร์ คินนิเออร์ วิลสัน อายุรแพทย์ระบบสมองชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่อธิบายว่าอาการผีอำเกิดจากความไม่สมดุลกันระหว่างสมองและร่างกายขณะนอนหลับ เขาทำการทดลองในคนจำนวนมากและจดบันทึกการนอนของคนไข้เหล่านั้นโดยละเอียดก่อนจะตีพิมพ์ผลงานวิจัยออกมา งานวิจัยของเขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ผลงานของนายแพทย์ซามูเอลบอกโลกใบนี้ว่าผีอำไม่ใช่เรื่องไสยศาสตร์ แต่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ล้วนๆ ผลวิจัยของเขายังบอกด้วยว่าผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดผีอำได้เท่าๆ กัน ในชีวิตของคนเรามีโอกาสเกิดผีอำได้ทุกคน และทุกๆ ค่ำคืนมีประชากรไม่น้อยกว่า 8% ในโลกใบนี้กำลังเกิดอาการผีอำอยู่
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising