×

ไผ่ ดาวดิน ผุดกิจกรรม #นอนแคมป์ไม่นอนคุก ปักหลักค้างคืนอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อนพบตำรวจตามหมายเรียกพรุ่งนี้

27.08.2020
  • LOADING...
ไผ่ ดาวดิน

วันนี้ (27 สิงหาคม) จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน แกนนำจัดกิจกรรม ‘เราคือเพื่อนกัน นอนแคมป์ไม่นอนคุก’ ซึ่งจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยกลุ่มผู้จัดยังเตรียมที่จะปักหลักค้างคืนในวันนี้ ก่อนเดินทางไปพบตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ตามหมายเรียกในวันพรุ่งนี้ (28 สิงหาคม) 

 

สำหรับเวทีการชุมนุมวันนี้จะเป็นการพบปะพูดคุยกับคนทำแฟลชม็อบตามจังหวัดต่างๆ ทั้งร้อยเอ็ด จันทบุรี เวทีการชุมนุมจะมีความหลากหลาย และเป็นเวทีที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ออกแบบและทำงานร่วมกัน

 

โดยประเด็นที่จะนำมาปราศรัยในวันนี้มีทั้งปัญหาแรงงาน ปัญหาเรื่องความหลากหลายทางเพศ ปัญหาด้านการศึกษา ซึ่งมี 5 ข้อเรียกร้องใหม่ที่นำมาจาก 3 ข้อเรียกร้องเดิม และ 10 ข้อเสนอปฏิรูปมารวมกัน โดยหลักจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมและสิทธิเสรีภาพ ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลยังส่งผลถึงชาวบ้าน เนื่องจากไม่สามารถออกมาเรียกร้องการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ 

 

ในส่วนของบรรยากาศการจัดกิจกรรม มีการกางเต็นท์ จัดเตรียมพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม โดยแยกเป็นสัดส่วน โดยโซนทำกิจกรรมบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีการนำป้ายผ้าเขียนข้อความมาติดตั้งแต่ทางเข้า เช่น ป้าย ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ ป้าย ‘มหาวิทยาลัยเป็นของนิสิต นักศึกษา ประชาชน’ และ ‘อีสานบ่ย่านเด้อ #ให้มันจบที่รุ่นเรา’ รวมถึงป้ายข้อความ ‘Stop Harassing People หยุดคุกคามประชาชน’

 

นอกจากนี้ยังมีการนำแผ่นไวนิลจำลองป้ายหน้างานฌาปนกิจ พูดถึงเส้นทางรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ นับตั้งแต่ฉบับที่ 1 คือ พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2475 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489 ไปจนถึงฉบับที่ 20 พ.ศ. 2560 ซึ่งมีอายุ 2 ปี 8 เดือน 15 วัน โดยทุกฉบับเขียนระบุรายละเอียด ที่มา วันชาตะ มรณะ และสิริอายุ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญควรเป็นกฎหมายสูงสุดที่บรรจุหลักการให้ประชาชนเป็นใหญ่ สิทธิขั้นพื้นฐาน การเกิดขึ้นของรัฐ รูปแบบของรัฐ และการเข้าสู่อำนาจรัฐ จากอุดมคติของสังคม

 

แต่รัฐธรรมนูญจำนวน 20 ฉบับในรอบ 88 ปี เป็นฉบับชั่วคราว 9 ฉบับ ซึ่งส่วนมากเขียนขึ้นโดยคณะยึดอำนาจ ผู้จัดต้องการสะท้อนประวัติศาสตร์การเขียนรัฐธรรมนูญไทยที่ห่างไกลจากอุดมคติของสังคม

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X