เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ขึ้นศาลนัดสืบพยานโจทก์เป็นครั้งแรก หลังจากที่ถูกบริษัท Gulf Energy Development บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ฟ้องคดีหมิ่นประมาททั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีที่ได้ออกมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจการผูกขาดการผลิตพลังงานไฟฟ้ากับผลประโยชน์มหาศาล
สฤณี อาชวานันทกุล ได้โพสต์ภาพหมายเรียกคดีแพ่งสามัญพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กก่อนหน้านั้นว่า
“เมื่อเช้านี้เจอหมายมาส่งหน้าบ้าน บริษัท Gulf Energy Development ฟ้องคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากเจ้าของเพจแล้วค่ะ เท่าที่เข้าใจอาจเป็นคนที่ไม่ใช่นักการเมืองคนแรกๆ ที่โดนบริษัทฟ้อง หลังจากที่บริษัทนี้ฟ้อง ส.ส. รังสิมันต์ โรม, ส.ส. เบญจา และหมอวรงค์ ไปแล้วก่อนหน้านี้”
สาเหตุที่บริษัทฟ้องน่าจะมาจากบทความ ‘มหากาพย์ กินรวบโรงไฟฟ้า’ ที่อธิบายเบื้องหลังว่าทำไมค่าไฟฟ้าจึงมีราคาแพงขึ้นจากการประมูลโรงไฟฟ้าที่ผ่านมา
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา Gulf Energy Development บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่ปี ได้ทำการฟ้องบุคคลต่างๆ ตั้งแต่นักการเมือง นักวิชาการ บรรณาธิการหนังสือ ดังนี้
รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททั้งคดีแพ่งและอาญา เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท กรณีดาวเทียมไทยคม คราวอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564
ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แค่แชร์ข้อความของ รังสิมันต์ โรม จึงถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564
เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญาเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท ข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 และพูดถึงนโยบายพลังงานของรัฐบาล จนทำให้บริษัทนี้กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าอันดับต้นของประเทศ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ถูกเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากการถูกยื่นฟ้องคดีแพ่ง ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 กรณีไลฟ์สดในเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวหาบริษัทผูกขาดกิจการสื่อสาร
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส รองเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย และพวกรวม 3 คน ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท จากกรณีที่เคยแถลงข่าวถึง ‘ปัญหาค่าไฟแพง’
คดีความของสฤณีและคนอื่นน่าจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างของลักษณะคดีที่เรียกว่า SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งหมายถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน หรือคนที่กล้าออกมาเปิดโปงข้อเท็จจริง เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘คดีปิดปาก’ คือการฟ้องคดีเพื่อมีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง หรือสร้างภาระให้กับบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะของประชาชนหรือชุมชน ซึ่งการฟ้องคดีไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย แต่เพื่อใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ‘ปิดปาก’ คนที่แสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ
ที่ผ่านมาคดีแบบ SLAPP หรือการฟ้องปิดปาก เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว อาทิ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ผู้เชี่ยวชาญระบบนิเวศทางทะเล ถูกบริษัทจำหน่ายอาหารสัตว์ชื่อดังยื่นฟ้องคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท เมื่อออกมาแสดงความเห็นการทำลายชีวิตปลาฉลาม
ก่อนหน้านี้ มีบริษัทรายหนี่งได้นำปลาฉลามมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ให้แก่สุนัขและแมว มีการโฆษณาเป็นคลิปวิดีโอทางสื่อออนไลน์กันอย่างแพร่หลาย โดยในคลิปวิดีโอดังกล่าวมิได้ระบุว่าเป็นฉลามชนิดใด นำมาจากที่ใด ดร.เพชรได้ออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ในเพจ ReReef อันเป็นเพจด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติทางทะเล เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 มีใจความว่า
“กรณีการนำฉลามวัยอ่อนมาทำเป็นอาหารสุนัขและแมว แล้วโฆษณากันกระหึ่มแบบนี้ ดูจะเป็นบทสรุปสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลบ้านเราจริงๆ เพราะมันสะท้อนถึงการขาดความรู้ความเข้าใจถึงบทบาทความสำคัญของปลาฉลาม
“ถ้าเรายังคิดว่าเราสามารถใช้ประโยชน์ปลาฉลามได้อย่างไม่มีการควบคุมเช่นนี้ ถ้าเราคิดแค่ว่าปลาฉลามเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำพลอยได้ ยังไงก็ควรนำมาใช้ประโยชน์ ก็น่าเป็นห่วงจริงๆ กับอนาคตของทะเลไทยและมหาสมุทรของโลก”
เหตุการณ์การใช้วิธีการฟ้องปิดปากเกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก และกลุ่มคนที่ถูกฟ้องส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่ออกมาใช้สิทธิเรียกร้องต่อประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับประโยชน์สาธารณะหรือวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล ต่อโครงการพัฒนาของรัฐหรือโครงการอุตสาหกรรมของเอกชนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือมีเบื้องหลังที่ไม่โปร่งใส
ปี 2534 บริษัทแมคโดนัลด์ ฟ้องหมิ่นประมาทกลุ่ม Greenpeace ประเทศอังกฤษ เนื่องจาก Greenpeace ตีพิมพ์แผ่นพับกล่าวหาว่าบริษัทสนับสนุนการทำลายป่า และขายอาหารขยะทำให้สุขภาพผู้บริโภคแย่ลง Greenpeace ใช้เวลาต่อสู้ 7 ปีและเสียเงินไปเกือบ 500 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในชั้นศาล
ในประเทศอินโดนีเซีย มีนักข่าวสิ่งแวดล้อมหลายคนตกเป็นเป้าหมายถูกฟ้องหลายคดีจากบริษัทที่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มน้ำมัน และบริษัททำเหมืองถ่านหินที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม
ในประเทศไทย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2540-2562 พบว่ามีคดีที่เข้าข่าย SLAPP จำนวน 212 กรณี และพบว่ากลุ่มที่ตกเป็นจำเลยร้อยละ 80 ได้แก่ กลุ่มชุมชนหรือประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อชุมชน รองลงมาคือกลุ่มนักพัฒนาเอกชนและสื่อมวลชน
และจากการรวบรวมสถิติการฟ้องปิดปากหรือ SLAPP ที่มาจากภาคธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 ถึงเดือนมิถุนายน 2565 พบว่าธุรกิจเหมืองแร่เป็นธุรกิจที่มีการฟ้องปิดปากมากที่สุด คิดเป็นกว่า 34% จากทั้งหมด 109 คดี
ตัวอย่างคดี SLAPP ในประเทศที่น่าสนใจคือ
ในปี 2558 สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้รายงานข่าวผลกระทบการทำเหมืองแร่ทองคำในอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเหตุให้บริษัททุ่งคำ เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ ฟ้องเยาวชนในพื้นที่ นักข่าว และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ฐานหมิ่นประมาท
ในปี 2560 ชาวบ้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน จังหวัดสกลนคร ได้ออกมาคัดค้านการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และต่อมาได้ถูกบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาล ยื่นฟ้องสมาชิกกลุ่ม 21 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
ในปี 2563 ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม ถูกบริษัทเหมืองแร่เมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ จำกัด ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จากบทความเรื่อง ‘ศาลพม่าสั่งบริษัทเหมืองแร่ไทยชดใช้ชาวบ้านทวาย 2.4 ล้านบาท เหตุเหมืองดีบุกทำสิ่งแวดล้อมพัง’
สัณหวรรณ ศรีสด แห่งคณะกรรมการนิติศาสตร์สากลเคยกล่าวว่า
“SLAPP ที่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาท หากไปดูจนสุดท้าย ส่วนใหญ่คนฟ้องหรือบริษัทไม่ได้ชนะ เพราะมันจะเข้าเรื่องที่ว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่เขาไม่ได้อยากชนะ เขาอยากให้เราที่ถูกฟ้องเข้าสู่กระบวนการนี้ สู้ไปเหนื่อยไป สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร”
สิ่งที่ผู้ฟ้องคดีต้องการมากที่สุดคือ ทำให้ประชาชน นักกิจกรรม สื่อมวลชนไม่กล้าแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หรือต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะ ‘กลัวถูกฟ้อง’ SLAPP ทำให้เกิดภาวะชะงักงันของการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก และเสรีภาพ เพราะไม่มีใครไม่เกิดความกลัวเมื่อถูกฟ้องปิดปาก
ในหลายๆ ประเทศมีการเสนอกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) และในประเทศไทยกำลังมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. เพื่อนำมาใช้เป็นกฎหมายปกป้องประชาชน และอยู่ในขั้นตอนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาต่อไป
แต่กว่ากฎหมายจะคลอดออกมา SLAPP น่าจะเป็นเครื่องมือปิดปากเหล่าผู้กล้าจำนวนมากที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะไปอีกนาน