×

Sky Sports และ BT Sport คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ​ มูลค่า 4.46 พันล้านปอนด์

15.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Sky Sports และ BT Sport คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ทั้งหมด 5 จาก 7 แพ็กเกจ ด้วยเม็ดเงิน 4.46 พันล้านปอนด์
  • แพ็กเกจในครั้งนี้เพิ่มการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลคืนวันเสาร์ เวลา 19.45 น. เป็นครั้งแรก รวมถึงเสริมแพ็กเกจการถ่ายทอดสดฟุตบอลกลางสัปดาห์และในวันหยุดของธนาคารในประเทศอังกฤษ
  • ตัวเลขที่ลดลงจาก 5.14 พันล้านปอนด์ (2016-2019) คาดว่าเกิดจากการที่ SKY และ BT ต้องรัดเข็มขัดจากการใช้เงินหลังจากทุ่มประมูลในครั้งที่แล้ว รวมถึงการรับมือกับคู่แข่งหน้าใหม่ในระบบ OTT เช่น Facebook, Amazon, Netflix ที่เริ่มหันมาซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาและเข้าถึงแฟนกีฬาได้มากขึ้น

Sky Sports และ BT Sport จะได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ต่อไปถึงปี 2022 หลังปิดดีลคว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งหมด 5 จาก 7 แพ็กเกจ

 

โดย Sky Sports คว้าไปทั้งหมด 4 แพ็กเกจ ด้วยเม็ดเงินมูลค่า 3.58 พันล้านปอนด์ ถ่ายทอดสดการแข่งขันทั้งหมด 128 เกมต่อฤดูกาลในระยะเวลาทั้งหมด 3 ปี ตั้งแต่ปี 2019-2022 โดยส่วนหนึ่งของแพ็กเกจของ Sky จะได้ถ่ายทอดสดการแข่งขันพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในช่วงเย็นวันเสาร์ เวลา 19.45 น. ทั้งหมด 8 แมตช์เป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในประเทศอังกฤษถูกจำกัดจำนวนเพื่อให้แฟนบอลเดินทางเข้าชมการแข่งขันที่สนาม

 

ขณะที่ BT Sport ได้เพียง 1 แพ็กเกจถ่ายทอดสด ซึ่งประกอบไปด้วยสิทธิ์ถ่ายทอดสด 32 เกมต่อปี ด้วยเงินมูลค่า 885 ล้านปอนด์

 

แต่อย่างไรก็ตาม ยอดรวมทั้งหมดที่ 4.46 พันล้านปอนด์ เป็นครั้งแรกที่ตัวเลขลดลงจากลิขสิทธิ์ในครั้งก่อนที่ทำสถิติสูงสุดที่ 5.14 พันล้านปอนด์ ระหว่างปี 2016-2019 ซึ่งครั้งนั้น Sky Sports จ่ายทั้งหมด 4.18 พันล้านปอนด์สำหรับ 126 เกมต่อหนึ่งฤดูกาลตลอดปี 2016-2019 รวมถึงสิทธิ์ถ่ายทอดสดเกมในวันศุกร์เป็นครั้งแรก และสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันในวันอาทิตย์

 

ขณะที่ BT Sport จ่ายไปทั้งหมด 960 ล้านปอนด์ สำหรับ 42 เกมในระบบเดียวกัน

ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ตั้งแต่ปี 1992 (ข้อมูลจาก Telegraph)

 

การแข่งขันลดลงจาก Media Disruption

โดยหนึ่งในสาเหตุที่ค่าลิขสิทธิ์ลดลง เนื่องจากทั้งสองบริษัทประสบปัญหาการเงินและไม่มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาทำการประมูลอย่างจริงจัง ส่งผลให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงลิขสิทธิ์ลดลง โดยเฉพาะทาง Sky ที่ทุ่มเงินมหาศาลในการซื้อลิขสิทธิ์ครั้งที่แล้วจนทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มเงินลงทุนในการทำละครและคอนเทนต์อื่นๆ หลังจากที่เจอกับคู่แข่งหน้าใหม่อย่าง Netflix และ Amazon ที่กำลังเติบโตขึ้น เช่นเดียวกับ Apple ที่กำลังลงมาเล่นในตลาดนี้

 

อย่างไรด็ตาม กำไรของ Sky คงไม่ได้เติบโตขึ้นจากค่าลิขสิทธิ์ที่ลดลง แต่คาดว่าการลงทุนในคอนเทนต์อื่นๆ น่าจะสูงขึ้น

 

Photo: AFP

 

นอกจากนี้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทั้งสองบริษัทได้ทำการเซ็นสัญญาสงบศึกเพื่อแบ่งปันคอนเทนต์กีฬาร่วมกัน โดยเป็นดีลที่ทำให้ทั้งคู่สามารถซื้อช่องไปถ่ายทอดผ่านทางระบบของคู่แข่งได้ เพื่อเป็นการรับมือความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนดูที่เกิดจากผลกระทบของโลกออนไลน์

 

ดีลนี้ทำให้ Sky สามารถเข้าถึงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก, ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และยูโรปาลีกของ BT ซึ่งแฟนกีฬาสามารถรับชมได้ผ่านการซื้อแพ็กเกจของ Sky

 

เช่นเดียวกัน BT สามารถเข้าถึงช่องของ Now TV ที่ประกอบไปด้วย Sky Atlantic, Sky One, Sky Living, Sky Sports และ Sky Cinema รวมถึง BT จะร่วมขาย Now TV ของ Sky อีกด้วย

Sky Sports ผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 1992 (ข้อมูลจาก Telegraph)

 

Amazon ผู้ที่จะคว้าสองแพ็กเกจสุดท้าย?

การซื้อขายครั้งนี้ประกอบไปด้วย 7 แพ็กเกจ หลังจากที่ขาประจำทั้งสองได้คว้าไปแล้ว 5 แพ็กเกจด้วยเม็ดเงิน 4.46 พันล้านปอนด์ ซึ่งน้อยกว่าสถิติสูงสุดครั้งที่แล้วอยู่ที่ 5.14 พันล้านปอนด์ หลายฝ่ายคาดว่าสองแพ็กเกจที่เหลือ ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเกมกลางสัปดาห์และเกมในวันหยุดธนาคารของประเทศอังกฤษ จะเป็นบริษัทหน้าใหม่ของที่มีช่องทางถ่ายทอดสดผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

 

Telegraph สำนักข่าวในประเทศอังกฤษ เชื่อว่าสองแพ็กเกจที่เหลืออาจตกเป็นของ Amazon ที่คาดว่าจะไม่ซื้อแพ็กเกจที่แพงที่สุด แต่อาจจะมองหาแพ็กเกจที่ถูกลงมา ขณะที่ Facebook และ Twitter ยังคงไม่แสดงท่าทีต้องการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดอย่างชัดเจน โดยสองแพ็กเกจแบ่งเป็นลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดแพ็กเกจละ 20 เกมต่อหนึ่งฤดูกาล เป็นระยะเวลา 3 ปี

 

ก่อนหน้านี้ Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ ได้ปิดดีลคว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันเทนนิส ATP World Tour ซึ่งสมาชิก Amazon Prime ในประเทศอังกฤษ สามารถรับชมเทนนิส ATP ทั้งหมด 37 รายการตลอดปี รวมถึงการแข่งขัน US Open เทนนิสระดับแกรนด์สแลมอีกด้วย ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่เราได้เห็นเทนนิสย้ายจากการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ไปสู่ระบบ Over-the-Top (OTT) ระบบที่เผยแพร่คอนเทนต์ผ่านอินเทอร์เน็ต   

 

ขาลงของการถ่ายทอดสดฟุตบอลผ่านโทรทัศน์?

แดน โรน บรรณาธิการกีฬาของ BBC Sport เชื่อแบบนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้เห็นทั้งสองบริษัทอย่าง Sky และ BT ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดจนค่าลิขสิทธิ์กระโดดจาก 3.3 พันล้านปอนด์ในปี 2013-2016 ไปถึง 5.1 พันล้านปอนด์ในปี 2016-2019 แต่สุดท้ายทั้งสองบริษัทก็ได้จับมือกันแลกเปลี่ยนคอนเทนต์ รวมถึงการประมูลลิขสิทธิ์ครั้งล่าสุด ทั้งสองฝ่ายก็ต่างมีสาเหตุให้ต้องรัดเข็มขัดในการใช้เงินมากขึ้น

 

ซึ่งในระหว่างที่ยักษ์ใหญ่ในวงการโทรทัศน์กำลังรัดเข็มขัด สื่ออังกฤษก็มีรายงานว่าบริษัท Amazon กำลังเฝ้าคอยติดตามการประมูลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสองแพ็กเกจที่เหลือ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าทั้งสองแพ็กเกจยังไม่ถูกประมูลออกไป เนื่องจากยังไม่มีฝ่ายใดสามารถยื่นข้อเสนอที่เพียงพอสำหรับค่าลิขสิทธิ์ขั้นต่ำ

 

อย่างไรก็ตาม ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดจากต่างประเทศคาดว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นหรือเท่าเดิม ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ลีกฟุตบอลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในแง่ของการตลาด สามารถนำเงินมาลงทุนในลีกได้อย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในไทยตลอด 3 ช่วงที่ผ่านมา ได้มีผู้ถือสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั้งหมด 3 รายที่เป็นผู้ให้บริการผ่านระบบโทรทัศน์ โดยเมื่อปี 2007-2013 บริษัท ทรูวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลทั่วประเทศในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก โดยจากรายงานระบุว่าทรูวิชั่นส์จ่ายค่าลิขสิทธิ์ไปทั้งหมด 38 ล้านปอนด์ (ราว 1,800 ล้านบาท) สำหรับลิขสิทธิ์ในช่วงปี 2010-2013

 

ต่อมาในปี 2013-2016 บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือซีทีเอช ทุ่มเงินไปถึง 202 ล้านปอนด์ (ราว 9,900 ล้านบาท) คว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสด พร้อมพาไทยขึ้นแท่นประเทศที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์แพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีมูลค่าสูงขึ้นจากเดิมถึง 432%

 

หลังจากปี 2016-2019 ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดก็ตกเป็นของ beIN Sports ซึ่งเมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 2016 ช่อง PPTV HD หมายเลข 36 ได้แถลงข่าวจับมือกับ beIN คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นเวลา 3 ปี และกลายเป็นฟรีทีวีเจ้าแรกของประเทศไทยที่คว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ โดยรับสิทธิ์การถ่ายทอดสดผ่านทางดิจิทัลทีวีและเว็บไซต์

 

ต่อด้วยในวันที่ 27 กรกฎาคม 2016 ทรูวิชั่นส์ได้แถลงข่าวคว้าสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ในประเทศไทย ร่วมกับ beIN Sports เป็นเวลา 3 ปีเช่นกัน โดยเป็นการถ่ายทอดสดผ่านระบบโทรทัศน์ดาวเทียมบอกรับสมาชิกและสตรีมมิงผ่านอุปกรณ์ smart device ต่างๆ

 

และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา beIN Sports ก็ได้แถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน beIN Sports Connect อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้แฟนบอลสามารถรับชมการแข่งขันผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งแบบถ่ายทอดสดและออนดีมานด์ ที่สามารถรับชมผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ยังสามารถรับชมย้อนหลังได้อีกด้วย

 

THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ มร.ไมค์ เคอร์ กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย บีอิน เอเชีย แปซิฟิก ในงานแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน beIN Sports Connect ในประเทศไทย ถึงมุมมองที่เขามีต่อค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่กำลังจะประมูลในครั้งนี้ (2019-2022)

 

“เราได้เห็นค่าลิขสิทธิ์กีฬาที่สูงขึ้นมาก ผมอยู่ในวงการถ่ายทอดสดกีฬามากว่า 17 ปี ฉะนั้นผมเห็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นทุกปี ทุกครั้งที่เกิดการประมูลขึ้น เราจะคิดตลอดว่าไม่มีทางสูงขึ้น แต่สถิติก็ถูกทำลายในการประมูลทุกครั้ง ผมคิดว่าในการประมูลครั้งต่อไป (2019-2022) จะเกิดความตระหนักถึงค่าลิขสิทธิ์มากขึ้น

 

“การเปลี่ยนแปลงของตลาดถ่ายทอดสดจะเกิดขึ้นจากการส่งต่อคอนเทนต์ผ่านระบบดิจิทัล และนั่นคือโอกาสที่เราจะเชื่อมต่อไปสู่ผู้คนมากขึ้น นอกจากนี้แปลว่าตลาดกำลังพัฒนา โดยเรากำลังเชื่อมต่อกันแบบทวิภาค เราสามารถรู้ได้ว่าลูกค้าของเราคือใคร และเรารู้ว่าพวกเขาจะยอมจ่ายเงินเท่าไรสำหรับคอนเทนต์ของพวกเรา ฉะนั้นเราจะสามารถประเมินมูลค่าคอนเทนต์ในรูปแบบที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น”

 

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมคนรับชมกีฬาได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของค่าลิขสิทธิ์และช่องทางการส่งต่อคอนเทนต์สู่ผู้ชม ซึ่งน่าสนใจว่าในการเข้าประมูลลิขสิทธิ์ครั้งนี้ เราได้เห็นสื่อดิจิทัลทีวี สื่อออนไลน์ หรือแม้กระทั่งบริษัทเทคโนโลยีที่เริ่มหันมาสนใจคอนเทนต์กีฬาเจ้าใดจะก้าวขึ้นมาคว้าลิขสิทธิ์นี้เป็นเจ้าแรกในปี 2019-2022 แต่สิ่งที่ต้องลุ้นยิ่งกว่าในเวลานี้คือเราจะได้รับชมฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งกำลังจะแข่งขันกันในเดือนมีนาคมนี้ผ่านทางช่องทางใด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising