×

มองอนาคต ‘การศึกษา’ ผ่านเลนส์ซีอีโอ SkillLane ผู้ที่กำลังพาสตาร์ทอัพไทยตัวแรกเข้าตลาดหุ้นไทย

30.09.2024
  • LOADING...
SkillLane

HIGHLIGHTS

  • SkillLane สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) รายแรกของไทยที่ยื่นขอ IPO เตรียมเสนอขายหุ้นจำนวน 15 ล้านหุ้น
  • การตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ SkillLane เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ
  • SkillLane กำลังมุ่งจับตลาดฝึกอบรมพนักงานองค์กรและการศึกษาปริญญาโทออนไลน์ ที่กำลังเป็นตลาดเติบโต โดยมีความร่วมมือกับสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • การผนวกเทคโนโลยี AI เข้ากับการศึกษา จะช่วยให้ประสบการณ์การเรียนรู้มีประสิทธิภาพและสามารถปรับให้เข้ากับตัวบุคคลมากยิ่งขึ้น

“การยื่น IPO ครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวที่บริษัทมีความตั้งใจว่าอยากจะยกระดับการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้อย่างเท่าเทียม” ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง SkillLane กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH

 

นับตั้งแต่โลกเข้าสู่สังคมดิจิทัลจากการระบาดของโรคโควิด วิถีชีวิตหลายด้านของผู้คนก็เปลี่ยนไปจากช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะในมิติของการเรียนรู้ ที่ความยืดหยุ่น ความหลากหลายของวิชา และการเข้าถึง มีเพิ่มมากขึ้น

 

การตัดสินใจยื่นไฟลิ่งเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ครั้งนี้ของบริษัท สกิลเลน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SkillLane ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการสตาร์ทอัพไทย เนื่องจากเป็นสตาร์ทอัพรายแรกที่เข้าสู่ตลาดทุนอย่างเป็นทางการ

 

THE STANDARD WEALTH มีโอกาสได้สัมภาษณ์ฐิติพงศ์ถึงการตัดสินใจพาบริษัทเข้าตลาด อนาคตของการศึกษา กระแสความเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี และความท้าทายของอุตสาหกรรม EdTech

 

สตาร์ทอัพไทยตัวแรก ผู้บุกเบิกเส้นทางการเข้าสู่ตลาดหุ้น

 

ย้อนกลับไปในปี 2560 SkillLane ได้รับเงินระดมทุนครั้งล่าสุดในรอบ Series A นำโดยกองทุน 500 TukTuks แต่ทางบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการเปิดเผยจำนวนเงินที่ได้รับ โดยเงินทุนก้อนนั้นถูกนำไปพัฒนาระบบและขยายบริการสำหรับรองรับกลุ่มลูกค้าองค์กร เพิ่มศักยภาพให้บริษัทสามารถทำกำไรและมีสภาพคล่องเพียงพอในการทำธุรกิจ ทำให้ไม่จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มแม้จะมีข้อเสนอจากกองทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ

 

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ SkillLane ตามวิสัยทัศน์ของฐิติพงศ์ คือการเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุนและนวัตกรรมการเงินใหม่ ทั้งยังเป็นช่องทางที่ช่วยสร้างความโปร่งใสและเพิ่มความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นการดึงดูดพาร์ตเนอร์ เพื่อยกระดับการศึกษาไทยต่อไป

 

แม้ว่าตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยจะมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดี แต่เมื่อเดือนสิงหาคมปีนี้ที่ตลาดเริ่มกลับมาให้ผลตอบแทนดีขึ้น SkillLane จึงตัดสินใจที่จะยื่นไฟลิ่ง จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มกลับมามากขึ้น

 

ทั้งนี้เหตุผลสำคัญของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการใช้เงินทุนที่ได้รับจากการระดมทุนมาเพื่อพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพการแข่งขันเพื่อจับตลาดใหม่ อย่างเช่นในฝั่งของ ‘ที่ปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา’ ที่บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพไทยสามารถสร้างกำไรและเติบโตจนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับวงการ

 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นและมูลค่าการเสนอขายยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ทางบริษัทประกาศออกมาแล้วว่าจะเตรียมเสนอขายหุ้นจำนวน 15 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นประมาณ 15% หลังการ IPO

 

กางแผนธุรกิจรุกกลุ่มลูกค้าองค์กรและปริญญาออนไลน์

 

SkillLane ให้บริการแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์แบบครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรออนไลน์ (Content) แพลตฟอร์ม (Platform) และการให้บริการที่ปรึกษา (Service) และให้คำปรึกษาและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา (SkillLane Innovation) ซึ่งประกอบธุรกิจครอบคลุมทั้งกลุ่มลูกค้าองค์กร (B2B) และลูกค้าที่เป็นบุคคลทั่วไป (B2C)

 

โดยในปี 2566 มีรายได้รวม 235.60 ล้านบาท และครึ่งแรกของปี 2567 มีรายได้รวม 156.75 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.03 และร้อยละ 35.01 ตามลำดับ

 

 

กลุ่มธุรกิจที่ตลาดกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วคือ B2B โดยฐิติพงศ์เล่าว่าธุรกิจพัฒนาทักษะบุคลากร (Corporate Training) มีมูลค่าตลาดมากกว่า 20,000 ล้านบาท และเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการอบรมออนไลน์ช่วยให้พนักงานเข้าถึงความรู้ได้ ‘ทุกที่ทุกเวลา’ ตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ที่จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปี 2566 และครึ่งแรกของปี 2567 เติบโตขึ้น 14.06 ล้านบาท และ 5.11 ล้านบาท ตามลำดับ

 

“เทรนด์การฝึกอบรมพนักงานในองค์กรมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นได้อีกมาก เนื่องจากความรู้จะมีอายุสั้นลง รวมถึงสภาวะสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้พนักงานขาดทักษะที่จำเป็นในการทำงานได้ ถ้าองค์กรไม่มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง” ฐิติพงศ์กล่าว

 

ในส่วนของ B2C ทาง SkillLane ได้ใช้เวลาในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ปรับปรุงหลักสูตรให้ตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าของแผนการออกคอร์สเรียนใหม่ โดยในปี 2566 SkillLane for Public (B2C) มีรายได้ 92.38 ล้านบาท และครึ่งแรกของปี 2567 มีรายได้ 31.19 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโรคโควิด

 

นอกจากนี้การศึกษาออนไลน์เพื่อใบปริญญาก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ใหญ่ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนภาพระบบการศึกษาแบบเดิม โดยในต่างประเทศ ข้อมูลการสำรวจจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยเผยว่า องค์กรราว 70% ในสหรัฐอเมริกา ยอมรับการจ้างงานผู้สมัครที่มีวุฒิออนไลน์แล้ว แสดงให้เห็นถึงการยอมรับที่เพิ่มขึ้น

 

สำหรับ SkillLane ปัจจุบันบริษัทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาหลักสูตรปริญญาโทภายใต้โครงการ TUXSA โดยมี 4 หลักสูตร พร้อมแผนเพิ่มหลักสูตร 3 หลักสูตรในอนาคตกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพภายในปี 2570 ที่มีทั้ง Digital Marketing, Marketing Technology, และ Data Analytics เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มนักศึกษา โดยในปี 2565 มีนักศึกษากลุ่มแรกเข้าร่วมรับปริญญาบัตรระดับปริญญาโท ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่ากับปริญญาโทในหลักสูตรภาคปกติ ถือเป็นข้อพิสูจน์ความน่าเชื่อถือให้กับหลักสูตรปริญญาออนไลน์

 

SkillLane

 

AI กับอนาคตการศึกษาที่ ‘ผู้เรียน’ เป็นศูนย์กลาง

 

หนึ่งในจุดประสงค์การเข้าตลาดของ SkillLane คือการระดมทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี AI สำหรับการเรียนรู้

 

ฐิติพงศ์แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า “AI กำลังเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการศึกษา ช่วยให้การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยติวข้อสอบ ช่วยประเมินผลการเรียน หรือกระทั่งวิเคราะห์หลักสูตร เช่น เมื่อมีผู้เรียนจำนวนมากเกินไปสอบไม่ผ่าน AI สามารถวิเคราะห์หลักสูตรนั้นๆ และแนะนำการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นได้”

 

นอกจากนี้ AI ยังมีศักยภาพที่สามารถประเมินทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ทราบถึงความเข้าใจของผู้เรียนจากผลคะแนน ผลการทำแบบฝึกหัด และนำไปปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับระดับทักษะของคนคนนั้น

 

ตัวอย่างของการใช้ AI เพื่อช่วยเหลือผู้เรียนได้เกิดขึ้นแล้วในวิทยาลัยไอวี เทค สหรัฐฯ โดยทางสถาบันได้จัดทำโครงการนำร่องสำหรับระบุนักศึกษาที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงสอบตก ทำให้เข้าไปรับมือกับปัญหาได้ทันเวลา จนนักศึกษากว่า 3,000 คนในกลุ่มเสี่ยงนี้มีผลสอบที่เกรด C หรือดีกว่า

 

กรณีศึกษาเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของอนาคตการศึกษาที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งฐิติพงศ์เชื่อว่า AI จะเข้ามาอุดช่องว่างด้านคุณภาพการศึกษาให้ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียม และสามารถคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์และรอบด้าน

 

เส้นทางที่ท้าทายของการเป็นผู้นำ EdTech

 

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการศึกษาจะเต็มไปด้วยโอกาสการเติบโต แต่ SkillLane ก็ตระหนักถึงความท้าทายสำหรับธุรกิจเช่นเดียวกัน โดยฐิติพงศ์ได้ระบุถึง ความเสี่ยง 4 ข้อที่บริษัทจำเป็นต้องรับมือ

 

ความเสี่ยงแรกคือการสร้าง ‘ความเชื่อมั่นและการยอมรับ’ ในตลาดการศึกษา เพราะถึงแม้การเรียนออนไลน์จะได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบางกลุ่มผู้เรียนที่คุ้นเคยและเชื่อถือระบบดั้งเดิมอยู่ ทำให้การสร้างความเชื่อมั่นเป็นเรื่องที่ SkillLane ยังต้องทำอย่างต่อเนื่อง

 

ต่อมาเป็นเรื่อง ‘การแข่งขันที่เข้มข้น’ ฐิติพงศ์เล่าภาพรวมในปัจจุบันว่า “ตลาดการศึกษาออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกประเทศ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทำให้เราต้องพัฒนานวัตกรรมในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำและฐานลูกค้าในตลาด” ซึ่งการรักษาอำนาจการแข่งขันถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะสะท้อนมาสู่ศักยภาพการทำกำไรของธุรกิจโดยรวม

 

ประเด็นความเสี่ยงที่สามคือ ‘การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี’ ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น AI หรือระบบการเรียนรู้ที่ปรับตามบุคคล (Personalized Learning) ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต ฐิติพงศ์จึงมองว่าความสามารถในการปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญมาก

 

อีกความเสี่ยงสำคัญคือ ‘การเข้าถึงผู้เรียนในกลุ่มองค์กร’ โดยจุดที่เป็นความท้าทายหลักอยู่ที่การตอบสนองต่อความต้องการที่เฉพาะเจาะจง และการนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมกับลูกค้าองค์กรแต่ละราย

 

จากความท้าทายเหล่านี้ SkillLane จึงได้เดินหน้าร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรชั้นนำ เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ผู้เรียน พร้อมกันกับแผนการพัฒนาแพลตฟอร์มและการใช้งานเทคโนโลยีเช่น AI ให้สอดรับความเปลี่ยนแปลง และรักษาศักยภาพการแข่งขันด้าน EdTech ของธุรกิจ

 

“เราเชื่อว่าการเตรียมพร้อมและปรับตัวอย่างต่อเนื่องจะทำให้ SkillLane ก้าวผ่านความท้าทายและเติบโตได้ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถสนับสนุนการศึกษาไทยและ ‘Lifelong Learning’ ของทุกคน” ฐิติพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising