×

สถานการณ์ความรุนแรงในรัฐชินของเมียนมายังน่าห่วง หลังกองทัพโจมตีทางอากาศเมื่อช่วงกลางเดือนมกราคม

27.01.2023
  • LOADING...
สถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา

ในช่วงบ่ายของวันที่ 10 มกราคม วัน บาวี หมั่ง สมาชิกกลุ่มเครือข่ายติดอาวุธที่ต่อสู้กับกองทัพเมียนมา กำลังเอนกายพักผ่อนอยู่ในค่ายทหาร ซึ่งตั้งอยู่บนชายแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งติดกับอินเดีย แต่แล้วก็มีเสียงระเบิดดังสนั่น ย้ำเตือนให้เขารู้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบตามแนวชายแดนนี้ยังไม่สิ้นสุดลง เขาตะกายตัวลงไปในท้องร่อง ขณะเครื่องบินรบบินวนเวียนอยู่เหนือศีรษะ เสียงกระจกแตกกระจายเป็นเสี่ยง ท่ามกลางเสียงสะท้อนของระเบิดที่กระหน่ำลงมาจากฟากฟ้า

 

ค่ายทหารที่วัน บาวี หมั่ง ประจำการอยู่นั้น เป็นที่รู้จักกันในชื่อค่ายวิกตอเรีย ทำหน้าที่เป็นฐานบัญชาการใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front: CNF) องค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ที่กลับมาต่อสู้อีกครั้ง หลังจากกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 

 

แม้ว่าเครื่องบินรบจะล่าถอยออกไปแล้วในวันที่ 10 มกราคม วัน บาวี หมั่ง และพรรคพวกยังคงใช้เวลาตลอดทั้งคืนอยู่ในท้องร่องและหลุมหลบภัยทั่วค่าย เพราะกลัวว่าจะมีการโจมตีระลอกใหม่เกิดขึ้นอีก แม้คืนนั้นจะผ่านไปโดยไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นอีก แต่ทหารเมียนมาก็โจมตีอีกครั้งในบ่ายวันที่ 11 มกราคม เหตุการณ์ทั้งสองวันส่งผลให้สมาชิก CNF เสียชีวิต 5 คน ส่วนอาคารของค่ายทหารได้รับความเสียหายหนัก รวมถึงที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวต่างๆ และศูนย์การแพทย์

 

อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆ เกี่ยวกับการโจมตีดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นเวลานานหลายเดือนในรัฐชิน แม้ว่ากองทัพจะเพิ่มการโจมตีทางอากาศในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 และ 11 มกราคม ถือเป็นครั้งแรกที่มีการมุ่งเป้าไปที่ฐานบัญชาการใหญ่ของกลุ่มต่อต้าน

 

แคมป์วิกตอเรียตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเตียว (Tiau) ซึ่งกั้นระหว่างเมียนมากับรัฐมิโซรัม (Mizoram) ของอินเดีย ข้อมูลของ CNF ตลอดจนองค์กรในท้องถิ่นของรัฐมิโซรัม และองค์กร Fortify Rights ระบุตรงกันว่า การโจมตีที่เกิดขึ้นได้ละเมิดน่านฟ้าและผืนดินของอินเดีย 

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมา ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้น่านฟ้าของประเทศอื่นเพื่อทำการโจมตีอีก ‘เพื่อผลประโยชน์ของสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเพื่อปกป้องคุ้มครองพลเรือน’ 

 

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 19 มกราคม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียปฏิเสธรายงานที่ว่า ทหารของเมียนมารุกล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของตน แต่ยอมรับว่ามีการทิ้งระเบิดตกลงในแม่น้ำเตียว ใกล้กับหมู่บ้านฟาคาน (Farkawn) ในเขตแชมไพ (Champhai) ของรัฐมิโซรัม

 

ในขณะเดียวกันในมิโซรัม การโจมตีไม่เพียงกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ยังสร้างความโกรธแค้นในหมู่องค์กรท้องถิ่นอีกด้วย เพราะชาวมิโซรัมมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐชิน และนับตั้งแต่การรัฐประหาร รัฐมิโซรัมต้องรับผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 40,000 คน แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางก็ตาม

 

โชนา ลุง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์การเมืองของความขัดแย้งทางอาวุธ เปิดเผยกับสำนักข่าว Al Jazeera ว่า การทิ้งระเบิดที่ค่ายวิกตอเรียของทหารเมียนมา แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่เมียนมาใช้เพื่อพยายามปราบปรามการต่อต้านในพื้นที่ชายแดนของประเทศมานานหลายทศวรรษ

 

“การโจมตีทางอากาศเมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของกองทัพที่มีต่อกองกำลังต่อต้านในรัฐชินว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ที่จะต้องถูกบดขยี้ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม ซึ่งการกระทำเหล่านี้มีแต่จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านรุนแรงขึ้น”

 

ภาพ: Al Jazeera 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X