×

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศ เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง มีปริมาณเกินควบคุม เสี่ยงล้นกระทบพื้นที่ท้ายน้ำทั่วประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
31.08.2022
  • LOADING...
อ่างเก็บน้ำ

วันนี้ (31 สิงหาคม) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2565 แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 26-31 สิงหาคม 2565 ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม 

 

จังหวัดกาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอกมลาไสย, กุฉินารายณ์, ฆ้องชัย และร่องคำ 

 

จังหวัดร้อยเอ็ด บริเวณอำเภอจังหาร, เชียงขวัญ, ทุ่งเขาหลวง, ธวัชบุรี, พนมไพร, โพธิ์ชัย, โพนทอง, เมยวดี, เสลภูมิ และอาจสามารถ

 

จังหวัดยโสธร บริเวณอำเภอค้อวัง, คำเขื่อนแก้ว, มหาชนะชัย และเมืองยโสธร 

 

จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอกันทรารมย์ และยางชุมน้อย

 

จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณอำเภอเขื่องใน และอำเภอเมืองอุบลราชธานี

 

ขณะเดียวกัน ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 34/2565 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 10 กันยายน 2565 มีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30-0.50 เมตร ได้แก่ ลุ่มน้ำชี ลำน้ำพรม และลำน้ำเชิญ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ แม่น้ำชี และลำน้ำพอง บริเวณจังหวัดขอนแก่น, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ยโสธร และร้อยเอ็ด ลำน้ำยัง บริเวณจังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด ลุ่มน้ำมูล แม่น้ำมูล บริเวณจังหวัดนครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ลำโดมใหญ่ บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี และลำเซบก บริเวณจังหวัดอุบลราชธานี 

 

นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน, เขื่อนน้ำพุง, เขื่อนอุบลรัตน์, เขื่อนขุนด่านปราการชล และอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ

 

ทั้งนี้ สภาพอากาศการคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 4-5 กันยายน 2565 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง

 

จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนเข้าสู่พายุโซนร้อน ‘หมาอ๊อน’  บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทําให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก 

 

ที่ผ่านมาพบว่าหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลําน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มนํ้าชี ลุ่มน้ำมูล รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่เฝ้าระวัง 

 

ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สระบุรี, ลพบุรี, สุพรรณบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี, ระยอง, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, ชัยภูมิ, ร้อยเอ็ด, มหาสารคาม, ยโสธร, บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising