วันนี้ (17 ตุลาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เข้าสู่วาระพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ได้รับฟังและอภิปรายแสดงความเห็น ก่อนจะลงมติว่าเห็นชอบส่งรายงานให้รัฐบาลเพื่อดำเนินการต่อไปหรือไม่
ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ แถลงยืนยันว่า การเสนอรายงานนิรโทษกรรมไม่ใช่การแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย และไม่ใช่การยกเลิกความผิด การกระทำนั้นยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย เพียงแต่สมควรมีการยกเว้นความรับผิดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ประเทศชาติสามารถพัฒนาต่อไปได้ การตรากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือนำพาประเทศให้เดินหน้าต่อไปเพื่อไม่ให้จมปลักอยู่กับความขัดแย้ง
“ขอย้ำต่อที่ประชุมว่า รายงานนี้เลื่อนการพิจารณามา 2-3 ครั้งเพื่อความเข้าใจร่วมกันว่ารายงานนี้ไม่ใช่การพิจารณาร่างกฎหมาย เป็นเพียงการศึกษาของกรรมาธิการที่รับมอบหมายจากสภาแห่งนี้ ดังนั้น ที่ประชุมควรรับทราบรายงานเพื่อนำผลการศึกษาไปประกอบการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาหรือยกร่าง พ.ร.บ. ในอนาคตต่อไป” ชูศักดิ์กล่าว
สส. เห็นต่าง คาใจรวมคดี ม.110 และ 112 หรือไม่
จากนั้นสมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น โดยสมาชิกจากพรรคเพื่อไทย เช่น ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ และ นพดล ปัทมะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการนิรโทษกรรมไม่ได้มีผลในการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
ขณะที่สมาชิกจากพรรคประชาชนแสดงความเห็นสนับสนุน อาทิ พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส. สมุทรปราการ พรรคประชาชน ข้อเสนอเหล่านี้ไม่ใช่การทำอะไรที่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน แต่เป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองว่ารัฐบาลจะตั้งใจยุติความขัดแย้งของสังคม พาประเทศไทยไปข้างหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“การนิรโทษกรรมโดยไม่รวมคดีที่มีความอ่อนไหวเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ การละเลยผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ณ เวลานี้ ถือเป็นการเพิกเฉยต่อวัตถุประสงค์ในการตั้งกรรมาธิการนี้มาด้วยซ้ำ” พนิดากล่าว
อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านด้วย
ในช่วงหนึ่ง สนอง เทพอักษรณรงค์ สส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย หากต้องการให้ชาติบ้านเมืองเดินหน้า เกิดความสามัคคี เราพร้อมให้เกิดการนิรโทษกรรม แต่ต้องแยกให้ชัดเจนว่าอะไรที่สามารถนิรโทษกรรมได้หรือไม่ได้ ซึ่งในกรรมาธิการนี้ไม่ได้มีการแยกแยะดังกล่าว
“วันนี้ถ้าเราดึงสถาบันฯ เข้ามา ย้อนถามท่านสักนิด ท่านเคยทำความเดือดร้อนอะไรให้พวกเรา มีใครได้รับผลกระทบจากการกระทำของสถาบันฯ บ้าง ไม่มีครับ พระองค์ท่านมีแต่ให้ ชาติบ้านเมืองอยู่ได้เพราะสิ่งนี้” สนองกล่าว
สนองระบุต่อไปว่า หากรายงานฉบับนี้ผ่านไปถึงคณะรัฐมนตรี และมีการร่างกฎหมายออกมาโดยอ้างมติเห็นชอบของสภาให้นิรโทษกรรมมาตรา 110 หรือ 112 ที่ก้าวล่วงถึงสถาบันฯ ยืนยันว่าคนของพรรคภูมิใจไทยจะไม่เป็นมิตร และไม่ยินยอมต่อการกระทำครั้งนี้ และขอแสดงเจตนารมณ์จงรักภักดีต่อสถาบันฯ อย่างถึงที่สุด
ขณะที่ นันทนา สงฆ์ประชา สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ระบุว่า เรามีจุดยืนที่จะปกป้องมาตรา 112 ด้วยชีวิต พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยกับการแตะต้องมาตรา 112
“เราไม่มีทางพิจารณา ไม่ว่าใครทั้งสิ้นที่ทำความผิดมาตรา 112 เพราะไม่ใช่ความผิดทางการเมือง พรรคภูมิใจไทยเราจะไม่ร่วมพิจารณาทุกกรณี รวมถึงรายงานฉบับนี้ด้วยถ้ายังมีมาตรา 112” นันทนากล่าว
ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ หากปล่อยเรื่องนี้ไปอาจถูกร้องเรียนในเรื่องจริยธรรมได้ และตนเองยังสงสารเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มากมาย แต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวกลับไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบเลย
“ผมมีโอกาสได้เจอน้องคนหนึ่ง ไบรท์-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง วันนี้อยู่ในคุก ก่อนที่จะเข้าคุกได้เจอเขา เขาสำนึกผิดแล้วก็น่าเห็นใจ แต่หลายท่านที่โดนคดีต่างๆ เดินทางออกนอกประเทศอย่างสบาย” ธนกรกล่าว
กรรมาธิการย้ำ รายงานไม่มีผลผูกพัน
ต่อมา นิกร จำนง ในฐานะกรรมาธิการ ลุกขึ้นชี้แจงในประเด็นการนิรโทษกรรมความผิดในมาตรา 110 และ 112 ที่สมาชิกยังมีความกังวล โดยระบุว่า กรรมาธิการมีความเห็นในรายงานว่า มาตรา 110 และ 112 เป็นคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และกรรมาธิการไม่ได้มีข้อสรุปว่าควรจะนิรโทษกรรมคดีในความผิดดังกล่าวหรือไม่ เพียงแต่เสนอข้อดี-ข้อเสียไว้เท่านั้น
นอกจากนี้ กรรมาธิการไม่ประสงค์จะลงมติเพื่อหาข้อสรุป เพราะจำนวนบุคคลไม่สามารถสะท้อนความเชื่อและความคิดเห็นได้ จึงเปิดโอกาสให้กรรมาธิการทุกคนแสดงความเห็นและให้เหตุผล แล้วพิจารณาจากน้ำหนักของเหตุผล ไม่ใช่การนับจำนวนว่ามีใครเห็นด้วยมากน้อยเท่าใด
นิกรย้ำว่า รายงานของกรรมาธิการเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำตามหรือไม่ เป็นเพียงแค่การสรุปความเห็นของสมาชิก จึงมองว่าไม่จำเป็นต้องลงมติ หรือแม้กระทั่งปฏิเสธความเห็นเหล่านี้ไป
“อย่างเช่น วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อยู่ในคณะรัฐมนตรี ถ้าเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในเมื่อมติของพรรคคือไม่เห็นด้วย ท่านวราวุธก็ต้องไม่เห็นด้วยในคณะรัฐมนตรีอยู่แล้วเหมือนกับพรรคอื่นๆ ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จะไม่เป็นสิ่งผูกมัดทั้งในทางการเมืองและข้อกฎหมาย” นิกรทิ้งท้าย
จากนั้น ผศ. ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงหลักกฎหมายในประเด็นเรื่องมาตรา 110 และ 112 โดยระบุว่า ที่สมาชิกบางท่านยกตัวอย่างว่ามีประเทศอื่นๆ ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกัน แต่ประเทศดังกล่าวก็ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า แม้จะมีกฎหมายลักษณะเดียวกัน แต่ก็ไม่เคยมีการบังคับใช้อย่างกว้างขวางและรุนแรงเหมือนมาตรา 112 ของไทย
ผศ. ดร.เข็มทอง กล่าวต่อไปว่า ขณะที่สมาชิกบางคนผูกโยงมาตรา 112 ไว้กับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ระบุว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” แต่มาตรา 112 เป็นคนละเรื่องกับพระมหากษัตริย์
ส่วนที่อ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขมาตรา 112 อย่างที่พรรคก้าวไกลกระทำ แต่นิรโทษกรรมครั้งนี้เป็นการกระทำที่เบาเสียยิ่งกว่าการแก้ไขเพิ่มเติม เพราะแม้นิรโทษกรรมแล้วกฎหมายก็ยังอยู่ หากได้รับนิรโทษกรรมแล้วกระทำผิดซ้ำก็ถูกลงโทษได้อีก จึงไม่ได้ขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง
พิเชษฐ์ตัดบทปิดประชุมก่อนลงมติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิกแต่ละฝ่ายอภิปรายเสร็จ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า ในเมื่อสมาชิกยังมีความเห็นต่างอยู่มาก จึงควรให้กรรมาธิการชี้แจงเนื้อหาในรายงานเพิ่มเติมด้วย และหากจะมีการลงมติก็ไม่มีปัญหา
แต่ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส. ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ แย้งว่า กรรมาธิการใช้เวลาชี้แจงยาวกว่าสมาชิกแล้ว เมื่อประธานปิดการอภิปรายแล้วก็ควรลงมติเลย ไม่เช่นนั้นหากให้กรรมาธิการอภิปรายอาจจะใช้เวลานานกว่าสมาชิกถึง 3 เท่า สภาจะเดินต่อไม่ได้
ทำให้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นวันนี้คงไม่จบ ขอปิดประชุม ก่อนจะสั่งปิดประชุมในเวลา 16.48 น. ทันที แม้จะมีสมาชิกตะโกนทักท้วง แต่พิเชษฐ์ไม่สนใจและเดินลงจากบัลลังก์