×

‘สิทธิโชติ อินทรวิเศษ’ เปิดใจหลังเข้ารับตำแหน่ง กกต. คนใหม่ ไม่กดดันต้องพิจารณาปมคดียุบพรรค

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2024
  • LOADING...
สิทธิโชติ อินทรวิเศษ

วันนี้ (28 มีนาคม) สิทธิโชติ อินทรวิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้ารับตำแหน่ง กกต. ว่าก่อนหน้านี้ กกต. ทำงานได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้ามองจากข้างนอกก็มีอุปสรรคปัญหาที่สะท้อนกลับมาในบางเรื่อง ซึ่งเป็นภาพรวมที่ว่า กกต. ทำอะไรกันอยู่และทำอะไรถึงไหนแล้ว 

 

เมื่อตนเข้ามานั่งอยู่ในตำแหน่ง กกต. สิ่งหนึ่งที่อยากพัฒนาก็คือความสามารถของบุคลากรที่จะต้องมีความรู้ในการทำงานให้มีความทันสมัย เจ้าหน้าที่ กกต. ทุกคนต้องพัฒนาตัวเองตามปัญหา ซึ่งเราจะต้องสร้างความรู้ให้กับทุกคน รวมถึงต้องทำให้ระบบขั้นตอนรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และจะต้องใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์สอดคล้องกับปัจจุบัน เบื้องต้นจะต้องทำให้องค์กรนี้มีความสามารถก่อน

 

เมื่อถามว่า การเข้ามาในขณะที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของ กกต. ที่มีความล่าช้า อาจถูกมองว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สิทธิโชติกล่าวว่า ตนก็เข้าใจว่าบางคนอยากให้การทำงานเห็นผลไม่ว่าทางใดทางหนึ่งอย่างรวดเร็ว คนที่ฟังกับคนที่ทำมีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ซึ่ง กกต. จะต้องทำตามกฎหมาย หากทำงานเร็วโดยไม่ยึดกฎหมาย โดยเอาความรู้สึกหรือทำแบบส่งเดช ไปที่ไหนก็แพ้ ไปถึงศาลก็แพ้ เพราะฉะนั้นการรวบรวมพยานหลักฐานให้เป็นไปตามกฎหมายให้ศาลสามารถรับฟังได้ 

 

ดังนั้น กกต. จะต้องเลือกหาพยานหลักฐาน หรือกลั่นกรองพยานหลักฐานที่สามารถรับฟังได้ ซึ่งอาจจะช้าบ้าง แต่กระบวนการก็ไม่ได้ช้าเกินไป เมื่อคดีไปถึงศาลแล้วศาลต้องรับฟังได้ แรงกดดันต่างๆ เราก็ขอทำความเข้าใจ เราจะทำตามแรงกดดันอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมีหลักก่อน ซึ่งจะต้องไม่ช้าเกินไป

 

เมื่อถามว่า จากที่เคยทำงานในศาลฎีกามาก่อน จะนำความรู้และประสบการณ์ในการทำคดีเลือกตั้งในอดีตที่ กกต. ส่งเรื่องไปยังศาล มาปรับปรุงการทำสำนวนเพื่อให้ กกต. ทำงานได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร สิทธิโชติกล่าวว่า เป็นเรื่องเดียวที่ตนได้เปรียบกว่าคนอื่น เพราะเคยเป็นประธานแผนกคดีเลือกตั้งมาก่อน 

 

ซึ่งทำคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 รอบ ครั้งแรกคือการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และครั้งที่สองคือการเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีกำหนดไว้ เช่น กรณีการตัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้ง ศาลจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เมื่อศาลรับเรื่องจาก กกต. ก็นัดไต่สวนทันที และในการเลือกตั้ง สส. ก็ให้ศาลทุกจังหวัดดำเนินการไต่สวนแทนศาล แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน และส่งข้อเท็จจริงมายังศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาจะต้องตัดสินให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน และเหลือเวลาอีก 3 วันเพื่อส่งคดีกลับไปอ่านคำพิพากษา ซึ่งไม่เคยล่าช้า เพราะถูกบังคับในระบบกฎหมายแล้ว เข้าใจว่าสาเหตุที่มีความล่าช้าอาจเป็นคดีอื่นที่มีความเกี่ยวพันกัน ไม่ใช่คดีเลือกตั้ง เช่น คดีฟ้องร้องชดใช้เรียกค่าเสียหายอาจเกิดจากการตัดสิทธิให้ใบเหลือง-ใบแดง ซึ่งกลายเป็นเรื่องคดีแพ่ง คดีอาญาปกติไป สำหรับคดีเลือกตั้งปกติก็จะมีการบังคับอยู่แล้ว ยืนยันว่าไม่ช้าแน่นอน

 

เมื่อถามว่า สำนวนจาก กกต. ที่ไปยังศาล เห็นจุดอ่อนอะไรที่จะนำมาปรับปรุงให้การทำงานของ กกต. เมื่อส่งสำนวนไปศาลก็สามารถวินิจฉัยได้เลย เพื่อให้ฝ่ายการเมืองเกิดความเกรงกลัว สิทธิโชติกล่าวว่า เรื่องนี้ตนเห็นว่าเบื้องต้น กกต. มีพนักงานสืบสวนสอบสวนในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจไม่มีความเชี่ยวชาญในการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งพยานหลักฐานบางชิ้นหากมาโดยไม่ชอบ หรือในความรู้สึกเราอาจพอรับฟังได้ แต่เมื่อไปถึงศาล ศาลมองว่ายังรับฟังไม่ได้ เพราะยังจะต้องผ่านการพิสูจน์มาก่อน ดังนั้นการรับฟังพยานหลักฐานเป็นเรื่องสำคัญมากที่ กกต. พลาดพลั้งเสียเองในบางเรื่อง ก็ขึ้นอยู่กับการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น

 

“ถ้ามาจากจังหวัดแล้วมาถึง กกต. ส่วนกลาง เมื่อเห็นว่าพยานหลักฐานแค่นี้ยังไม่เพียงพอ คุณต้องสอบเพิ่มเพื่ออุดรอยรั่วตรงนี้ จุดนี้คือจุดอ่อนที่จะต้องพัฒนา ผมได้คุยกับหลายฝ่ายของ กกต. ว่าจะต้องพัฒนา ให้ความรู้ในการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญ” สิทธิโชติกล่าว

 

สิทธิโชติยกตัวอย่าง ตอนที่อยู่ศาลฎีกามีกรณีตัดสิทธิผู้สมัคร ก็มีการส่งเอกสาร ศาลฎีกาก็สงสัยว่า การนับเป็นสมาชิกพรรคหรือลาออกแล้ว ลาออกเมื่อไร ทำให้การประชุมสาขาพรรคชอบหรือไม่ เอกสารบางอย่างไม่ชัด และข้อบังคับพรรคครอบคลุมขนาดไหน จึงต้องขอเอกสารเพิ่ม

 

หาก กกต. เตรียมไว้ดี มีข้อมูลเหล่านี้ปิดหมด ศาลก็วินิจฉัยได้เลย ซึ่งก็เคยขอไปและทำให้คดีล่าช้าพอสมควร แต่ถ้าศาลฎีกาไม่ขอ ศาลฎีกาก็ยกฟ้องไปเลย หรือตัดสินให้ผู้ถูกร้องชนะไปเลย ขึ้นอยู่กับว่าเวลาบีบขนาดไหน ดังนั้นการเตรียมสำนวน การรับฟังพยานหลักฐาน เตรียมเอกสาร สนับสนุนข้อกล่าวหาของเราเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งข้อนี้ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนา

 

เมื่อถามว่า เชื่อว่าแนวทางที่เราคิดไว้จะสามารถอุดรอยรั่วในการทำงานของ กกต. และเอาผิดคนที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้มากขึ้นใช่หรือไม่ สิทธิโชติกล่าวว่า แนวคิดของตนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานของ กกต. สืบสวนวินิจฉัยในทุกเรื่องของ กกต. ได้ แต่การจะอุดรอยรั่วให้ได้ดีที่สุดเราก็ต้องสร้างคนทำงานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคนของ กกต. มีเยอะทั้งประเทศ ถ้าเราสามารถทำตรงนั้นได้คิดว่าจะสามารถอุดรอยรั่วเหล่านี้ได้

 

เมื่อถามต่อว่า หนักใจหรือไม่ที่เข้ามาเป็น กกต. ในขณะที่กำลังมีการพิจารณาเรื่องการยุบพรรคการเมือง สิทธิโชติกล่าวว่า ตอนที่ตนไปแสดงวิสัยทัศน์ต่อกรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา ก็ถูกถามว่ามาเป็น กกต. อยากจะทำอะไรบ้าง ซึ่งตนคิดว่าภารกิจหลักสำคัญของ กกต. คือทำอย่างไรจะคัดคนดี คนเก่ง คนมีความรู้ความสามารถเข้ามา เราเน้นที่คนดี เพราะคนดีจะครอบคลุมหมดทุกอย่าง ทั้งซื่อสัตย์ สุจริต ฉลาด มีความรู้ มีความตั้งใจ ให้เข้าสู่ระบบการเมือง เป็นผู้บริหารประเทศ สิ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายที่ กกต. ต้องทำให้ได้ ต้องนำคนดีๆ เข้ามาสู่ระบบการเมือง ถ้าเราตั้งธงไว้อย่างนี้แล้ว การยุบพรรค การให้ใบเหลือง-ใบแดงก็จะต้องมีว่าคนนั้นดี-ไม่ดี ทำผิดจริงหรือไม่ ต้องยึดหลักกฎหมายเป็นหลัก แล้วต้องให้ความเป็นธรรม เที่ยงธรรม เหมือนสโลแกนของ กกต. เราต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่าเราสามารถช่วยคัดเลือกคนดีให้เขาได้ แต่ปัญหาที่เราประสบอยู่ ณ เวลานี้อย่างการเลือก สว. ที่เป็นระบบใหม่ หลีกหนีระบบปกติที่ให้ประชาชนเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าผู้ร่างมีเจตนาดีที่ให้บ้านเมืองพัฒนา ได้คนที่มีคุณสมบัติ มีคุณวุฒิที่ดี เข้ามากลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านจากสภาผู้แทนราษฎร หรือกลั่นกรองผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จึงให้เลือกเป็นกลุ่มอาชีพ โดยกลุ่มอาชีพเลือกกันเองตามที่มีการสมัคร ซึ่งการเลือกกันเองและการเลือกไขว้ระหว่างอาชีพเพื่อนำไปสู่ สว. ระดับประเทศ 200 คน จากที่มีคนสมัครเป็นแสนคน ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ของ กกต. ซึ่งตนคิดว่าระบบไม่เคยใช้มาก่อน เราต้องเข้าใจว่าคนที่ลงสมัครก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะพาตัวเองเข้าไปสู่รอบลึกๆ ได้ และทำอย่างไรที่จะให้คนมาเลือกเขาเป็นตัวแทนของสาขาอาชีพนั้น ซึ่งเราก็กลัวว่าถ้าเข้ามากันเป็นแบบจัดตั้งเยอะๆ เราก็จะได้ระบบจัดตั้งเข้ามา แต่ถ้าเข้ามาด้วยความที่ทุกคนอยากเป็น สว. เหมือนกันหมด มาจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ และที่สุดก็มาเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ก็จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งคิดว่าเป็นข้อห่วงใยของ กกต. ทุกคนในขณะนี้ว่าทำอย่างไรให้การเลือก สว. บรรลุวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด เราพยายามคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเข้าไปรู้สถานการณ์ต่างๆ เหล่านั้นได้ เพื่อที่จะเอาคนไม่ดีออกไป แล้วให้คนดีได้เข้าไปจริงๆ

 

เมื่อถามว่า จุดอ่อน กกต. คือเรื่องการอ่อนการสื่อสารต่อประชาชน สิทธิโชติกล่าวว่า ตนยอมรับ เพราะตอนที่อยู่ข้างนอกก็ฟังมาเยอะว่าทำไม กกต. ทำช้า ทำไมทำแบบนี้แบบนั้น แต่พอเราอยู่ข้างในจะรู้ว่า กกต. ทำตามขั้นตอนตามกฎหมาย โดยไม่ได้สนใจกระแสว่าบีบไปทางไหน แต่สิ่งที่ทำก็ไม่ได้สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ากำลังทำอะไรอยู่ วิธีการทำงานเป็นอย่างไร ฉะนั้นการสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจ คิดว่าสำนักงาน กกต. น่าจะต้องคิดวิธีการใหม่นอกเหนือจากการให้สัมภาษณ์หรือการออกเอกสาร ตรงนี้ต้องหาวิธีการพรีเซนต์ให้ประชาชนทราบโดยไม่น่าเบื่อ ส่วนหนึ่งคิดว่าการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองและภาคประชาชนที่เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับ กกต. และ กกต. ได้เผยแพร่ให้ความรู้ไปว่า ณ เวลานี้เป็นอย่างไร ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของความคิด แต่ก็อยากรับฟังข้อเสนอแนะจากสื่อว่า กกต. ควรจะดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งอยากให้ช่วยกัน เพราะการที่สื่อมวลชนแนะนำมาก็ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วม และจะเป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่ง กกต. คงจะไม่นิ่งเฉย ในเรื่องนี้คงจะต้องมีการพัฒนา ตนเชื่อมั่นเช่นนั้น

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X