วานนี้ (9 พฤษภาคม) ในรายการ THE STANDARD NOW ที่ดำเนินรายการโดย ออฟ-พลวุฒิ สงสกุล ได้เชิญตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองมาถกประเด็นความกังวลของพรรคที่มีต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้าและเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม รวมถึงการสรรหาคนที่มาจาก กกต.
ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ฝ่ายนโยบายและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล เผยว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา (7 พฤษภาคม) พบปัญหาและความผิดพลาดมากมาย อาทิ ใบแปะหน้าคูหา ซองที่จ่าหน้าเขต รหัสเลือกตั้ง ดังนั้น การกระทำของ กกต. เปรียบเสมือน ‘การไม่ให้ค่ากับเสียงของประชาชน’ ซึ่งพรรคกำลังยื่นเรื่องร้องเรียนดังกล่าว
วินท์ สุธีรชัย ตัวแทนทีมเศรษฐกิจ พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า การเลือกตั้งในอดีตไม่เคยมี กกต. โดยรัฐบาลจะเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง ซึ่ง กกต. เพิ่งจะมาอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ดังนั้น การมี กกต. ย่อมดีกว่าไม่มีเพราะเป็นองค์กรอิสระ ส่วนความผิดพลาดต้องดูว่าเป็นส่วนบุคคลหรือระบบ อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนมากกว่านี้
ด้าน น.ต. ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า หากเทียบกับความผิดพลาดหรือการเอาเปรียบที่ กกต. เคยทำ เช่น การบรรจุสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คนในการเลือกนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น สิ่งใดที่ปล่อยผ่านได้ก็ควรปล่อยผ่านไป มิเช่นนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเกิดการโมฆะได้ เพราะกลุ่มอนุรักษนิยมพยายามจะทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการเลือกตั้ง หากผลคะแนนไม่เป็นใจ
ดร.อิสราพร บูรณอรรจน์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่า แม้ กกต. จะยืนยันว่าการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่เกิดปัญหา แต่คงเป็นไปได้ยากที่จะเชื่อ ฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งต่อไปควรนำเทคโนโลยีและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้งาน เพื่อตัดปัญหาการใช้ดุลยพินิจในการตัดสินและลดข้อครหาแก่ประชาชน
ขณะที่การสรรหาบุคคลของ กกต. หรือองค์กรอิสระที่จะทำงานในการเลือกตั้ง ศิริกัญญาเผยว่า ควรให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวกลางในการรับรองบุคคลของ กกต. โดยใช้คณะกรรมการสรรหาจากฝ่ายค้านกับรัฐบาลอย่างละครึ่ง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาที่ต้องใช้ ซึ่ง กกต. ต้องพร้อมยอมรับกับความผิดพลาดด้วยเช่นกัน เพื่อยึดโยงกับประชาชน ลดข้อกังขา และสร้างความโปร่งใสแก่ทุกฝ่าย
จากนั้น วินท์แย้งกลับว่าไม่เห็นด้วยกับการสรรหา กกต. ที่ให้พรรคการเมืองเป็นผู้จัดตั้งหรือมีส่วนร่วม ต้องหาวิธีการที่ไม่ให้นักการเมืองเกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระดังกล่าวให้ได้ เสมือน ‘ผู้เล่นหรือนักการเมืองไม่ควรเลือกกรรมการตัดสิน’ ซึ่ง กกต. ที่มาจากอำนาจตุลาการในการเลือกบุคคลและจัดการเลือกตั้งก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย