วันนี้ (26 กันยายน) เทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค 3 (สทนช. ภาค 3) ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยถึงแนวทางการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา กรณีพนังกั้นน้ำฝั่งขวาของลำน้ำเสียวใหญ่ (Dike-5) บริเวณที่ไหลมาบรรจบกันกับแม่น้ำมูล ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง กรมชลประทาน ท้องที่ตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เกิดการทรุดตัวและเป็นช่องยาวประมาณ 30 เมตร ลึกประมาณ 4-5 เมตร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา
ส่งผลทำให้น้ำจากลำเสียวใหญ่ไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ตำบลหนองบัวดง อำเภอศิลาลาด และตำบลด่าน อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 6,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ ทำการปิดท่อคอนกรีตบริเวณทางหลวงหมายเลข 2068 จำนวน 3 แห่ง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่านถนนทางหลวง ไม่ให้ขยายวงมากขึ้น และมีแผนที่จะปิดช่องพนังที่ขาดให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะแผ่ขยายต่อพื้นที่การเกษตรโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างได้แจ้งให้ทางจังหวัด ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรในบริเวณดังกล่าว ซึ่งศูนย์ส่วนหน้าฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้มีการประสานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างเร่งดำเนินการปิดกั้นรอยรั่วที่พนังกั้นน้ำดังกล่าว
“กรณีพนังกั้นน้ำเกิดการทรุดตัวดังกล่าว สาเหตุเนื่องจากพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำมูลมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าไหลหลากลงสู่ลำน้ำมูลเป็นปริมาณมาก ประกอบกับมีปริมาณน้ำจากลำเสียวใหญ่ซึ่งเป็นลำสาขาของลำน้ำมูลมีต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคามไหลมาสมทบ จึงทำให้ระดับในแม่น้ำมูลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อพนังกั้นน้ำดังกล่าว” เทิดพงศ์กล่าว