×

คุยกับ ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รับมือสังคมสูงวัยไปกับ ‘ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ’

16.12.2019
  • LOADING...
ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • อาการหกล้ม ไม่เดิน ไม่กิน หรือเบื่ออาหาร เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ อาการเหล่านี้ไม่ใช่โรคชรา แต่เรียกว่า Geriatric Syndrome เป็นโรคในกลุ่มอาการสูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลแบบเฉพาะทางที่สามารถแก้ไขหรือป้องกันได้
  • ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติมีบริการดูแลผู้สูงวัยรอบด้าน โดยเฉพาะ Intermediate Care หรือการรักษาพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุระยะกลางสำหรับผู้ป่วยสูงอายุหลังพ้นระยะเจ็บป่วยเฉียบพลัน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำซ้อน และลดเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลของผู้ป่วยสูงอายุ 
  • ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติไม่ใช่ลักษณะที่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป โดยเป็นศูนย์รวมของศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพผู้สูงอายุ นอกจากจะเป็นโรงเรียนแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุแล้ว ยังร่วมผลิตบุคลากรสุขภาพเฉพาะทางที่เป็นสหสาขาวิชาชีพที่จำเป็นต่อการดูแลผู้สูงอายุ และทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ตามบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ ‘สังคมสูงวัย’ ในประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่สุดในเวลานี้ จากการคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเทศไทยจะเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ (Aged Society) ภายในปี 2564 และอาจเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัยระดับสุดยอด’ (Super Aged Society) ในปี 2574 หลายหน่วยงานจึงเตรียมรับมือกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยย่อมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพในอนาคตอันใกล้นี้

 

หากพูดถึงผู้สูงอายุแล้ว ปัญหาอันดับหนึ่งคงจะหนีไม่พ้นเรื่องสุขภาพ ปัจจุบันผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งประสบปัญหาป่วยติดเตียง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำซ้อน ขาดผู้ดูแล  และปัญหาอื่นๆ มากมายเกี่ยวกับสุขภาพจำนวนนับไม่ถ้วน และนั่นเป็นสัญญาณว่าหากประเทศไทยยังไม่เตรียมพร้อมให้ดีและรอบด้าน สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงได้ในอนาคต

 

แล้วการเตรียมพร้อมดูแลผู้สูงอายุต้องทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมไทย

 

ศิริราชพยาบาล

 

ในโอกาสนี้ THE STANDARD จึงขอพาทุกคนมาร่วมพูดคุยกับ ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงลักษณะเบื้องต้น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้สูงวัย และความเป็นมาของศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ต้นแบบแหล่งวิชาการด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุที่เตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยรับมือกับสังคมสูงวัยได้อย่างยั่งยืน 

 

ใส่ใจสักนิด อย่าคิดว่าเป็นแค่ ‘โรคชรา’

ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบายว่าสิ่งแรกที่ต้องเตรียมพร้อมคือการสร้างความรู้ให้กับคนไทยทุกคน ภาวะหกล้ม ไม่เดิน ไม่กิน หรือเบื่ออาหาร พูดจาสับสน เป็นอาการที่พบบ่อย หากไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคชราได้ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มอาการเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘กลุ่มอาการสูงอายุ’ หรือ Geriatric Syndrome ที่หากได้รับการดูแลแบบสหสาขาวิชาชีพตามแนวทางเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ก็จะสามารถทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้กลับมาดำเนินกิจวัตรประจำวันตามปกติเหมือนเดิมได้

 

นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมและครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ ความปลอดภัยภายในบ้าน พื้นที่รอบบ้าน และกิจกรรมของคนในครอบครัวที่สร้างความผูกพันกับผู้สูงอายุ ไม่เพียงส่งผลแค่ด้านจิตใจเท่านั้น แต่ยังมีผลทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นจริงอีกด้วย การดูแลสังคมรอบตัวผู้อายุให้ดีโดยเริ่มจากระดับครอบครัวจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

“อย่าลืมว่าคุณตาคุณยาย คุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน ท่านชราลงทุกวันๆ เพราะฉะนั้นใส่ใจดูแลท่าน ถ้ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่เหมือนเดิม อย่าคิดว่าเป็นแค่ความชรา ลองมาดูว่าอาจมีสาเหตุอะไรที่พอจะแก้ไขได้ไหม เพื่อจะได้นำผู้สูงอายุมารับการดูแลให้ทันท่วงที”

 

ศิริราชพยาบาล

 

R-A-M-P-S ลักษณะเฉพาะของผู้สูงวัยที่ไม่พบในวัยอื่น

ศ.นพ.ประเสริฐ เสริมว่าเนื่องจากผู้สูงวัยมีลักษณะเฉพาะที่ต่างจากผู้ป่วยในวัยอื่นๆ พอจะสรุปเป็นคำช่วยจำได้ว่า R-A-M-P-S เป็นหลักการต้นแบบสำหรับดูแลผู้สูงวัยให้ได้อย่างครบถ้วน อันประกอบด้วยลักษณะ 5 ข้อจากตัวอักษร 5 ตัว ได้แก่

 

R – Reduced Body Reserve (พลังสำรองร่างกายที่ลดลง)

ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเนื่องจากความชราที่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของทุกอวัยวะในร่างกาย เช่น น้ำหนักสมองลดลงตามวัย หรือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ลดลงโดยธรรมชาติ โดยทั้งหมดอาจส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

A – Atypical Presentation (อาการหรืออาการแสดงที่ไม่จำเพาะหรือไม่ตรงไปตรงมา)

อาการของโรคต่างๆ ในผู้สูงอายุอาจจะแสดงอย่างไม่ตรงไปตรงมาเหมือนผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น โรคเบาหวานที่มีอาการปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย น้ำหนักลด แต่ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานอาจจะมีอาการของโรคที่แตกต่างออกไป เช่น สูญเสียความสามารถในการเดิน หกล้ม ปัสสาวะราด หรืออาการสติปัญญาเสื่อมถอย ฯลฯ

 

M – Multiple Pathology (การมีโรคในหลายระบบอวัยวะในเวลาเดียวกัน)

จากสมรรถนะร่างกายที่เสื่อมถอยจากความชรา ทำให้อาจมีความเสี่ยงเกิดโรคในหลายอวัยวะในเวลาเดียวกัน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม โรคสมองเสื่อม ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุต้องการการดูแลแบบองค์รวมด้วยลักษณะสหสาขาวิชาชีพ

 

P – Polypharmacy (การใช้ยาหลายขนานในเวลาเดียวกัน)

แน่นอนว่าเมื่อผู้สูงอายุมีหลายโรคในเวลาเดียวกัน ยาที่ต้องใช้ย่อมเยอะตามมาด้วย ยาบางชนิดอาจจะไม่ควรใช้คู่กัน เนื่องจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา หรือได้ผลการรักษาไม่ถึงระดับที่แพทย์ต้องการ

 

S – Social Adversity

นอกจากปัจจัยสุขภาพที่มีผลต่อความอยู่ดีมีสุขของผู้สูงอายุแล้วยังมีปัจจัยด้านสังคมที่มีความสำคัญ เช่น ลักษณะของผู้ดูแล เศรษฐฐานะ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสัมพันธภาพในครอบครัว หากผู้ดูแลแข็งแรงดี สุขภาพของผู้สูงอายุก็ย่อมดี แต่หากผู้ดูแลมีสุขภาพที่ไม่ดีไม่ว่าจะทั้งทางกายหรือใจ นั่นย่อมส่งผลต่อตัวผู้สูงอายุเองด้วยเช่นกัน

 

“ลักษณะ 5 ประการนี้คือหลักการต้นแบบที่เราจะนำมาประยุกต์ใช้ดูแลผู้สูงอายุ สังคมไทยยังต้องการการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุอีกมากเพื่อต่อยอดสิ่งที่ศิริราชทำวิจัยด้านนี้มาตลอดมากกว่า 20 ปี เพราะความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่คิดว่าเรารู้ดี เรายังไม่รู้อีกเยอะ เพราะฉะนั้นศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติจึงเกิดขึ้น ด้วยความหวังว่าศูนย์นี้จะเป็นแหล่งผลิตความรู้ใหม่สำหรับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน”

 

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ

 

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ

ศ.นพ.ประเสริฐ เล่าว่าปัจจุบันระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้ป่วยสูงอายุยังไม่สมบูรณ์ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยเฉียบพลันก็เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่เมื่ออาการเริ่มดีขึ้นมักจะถูกจำหน่ายกลับบ้านทันทีเพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงรองรับคนไข้รายต่อไป แต่ด้วยลักษณะ R-A-M-P-S ดังกล่าวข้างต้นทำให้ผู้ป่วยยังไม่พร้อมที่กลับบ้านได้ทันทีเหมือนผู้ป่วยทั่วไป เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการไม่ได้เคลื่อนไหวขณะนอนป่วยในโรงพยาบาล หรือยังต้องการการดูแลทางการแพทย์ที่ไม่ถึงกับต้องใช้อุปกรณ์ที่อยู่ในหอผู้ป่วยปกติ หรือต้องการการดูแลใกล้ชิดจากลูกหลานเมื่ออยู่ที่บ้าน ซึ่งลูกหลานอาจยังไม่พร้อม เนื่องจากยังต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ

 

“โรงพยาบาลไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัย ยิ่งอยู่โรงพยาบาลนานเกินไปก็จะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อในโรงพยาบาล สูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง อาจมีแผลกดทับตามมา เพราะฉะนั้นการดูแลระยะกลางเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราเตรียมความพร้อมตรงนี้ได้ คนไข้ก็จะกลับบ้านได้อย่างถาวรและไม่ต้องกลับมาแอดมิทซ้ำอีก”

 

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีพื้นที่ 25 ไร่ ตั้งอยู่ ณ ถนนเลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับการจัดสรรงบประมาณภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 1,800 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นต้นแบบของประเทศ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยแบบ Intermediate Care หรือการรักษาพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุระยะกลางอย่างจริงจัง

 

Intermediate Care การรักษาพยาบาลผู้ป่วยสูงอายุระยะกลาง

“ผู้สูงอายุไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่มีเพียงแค่ผมหงอก ร่างกายเขามีความเสื่อม เมื่อเขาหายจากโรคมักจะไม่สามารถกลับไปดำเนินชีวิตที่บ้านได้ตามปกติได้ทันที เพราะฉะนั้นการดูแลระยะ Intermediate Care จึงเป็นระยะสำคัญที่บุคลากรทางสุขภาพทุกสหสาขาวิชาชีพ ตลอดจนผู้ดูแลผู้สูงอายุต้องให้ความสนใจและเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยสูงอายุให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้”

 

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติมีกระบวนการที่จะเร่งกระบวนการการฟื้นไข้ให้ผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านพฤติกรรม และด้านอารมณ์ โดยกำหนดระยะเวลาขั้นต้นไม่เกิน 3 สัปดาห์ ประโยชน์ที่ได้คือทำให้ลดระยะเวลาการอยู่ในโรงพยาบาลของผู้ป่วยสุงอายุ อีกทั้งป้องกันการเจ็บป่วยซ้ำที่เป็นต้นเหตุให้ต้องกลับมาที่โรงพยาบาลซ้ำซ้อน เพื่อให้โรงพยาบาลหลักสามารถหมุนเวียนเตียงและรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น 

 

นอกจากการบริการแบบผู้ป่วยในแล้ว ยังมีการบริการแบบผู้ป่วยนอกของศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ โดยมีหลายลักษณะ ได้แก่ 

 

1. คลินิกส่งเสริมสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว
2. คลินิกเฉพาะทางในกลุ่มอาการสูงอายุ
3. Day Hospital ดูแลผู้ป่วยสูงอายุแบบโรงพยาบาลกลางวัน
4. Day Care จัดกิจกรรมในรูปแบบชมรมผู้สูงอายุ
5. คลินิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ 

 

ทีมสหสาขาวิชาชีพ คือทีมบริการรักษาและดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลเฉพาะทางผู้สูงอายุ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด โภชนากร นักสังคมศาสตร์ และอื่นๆ ช่วยกันเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยสูงอายุพร้อมที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างปลอดภัย 

 

ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติไม่ใช่ลักษณะที่เหมือนโรงพยาบาลทั่วไป แต่เป็นศูนย์รวมของศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งรูปแบบการบริการทั้งหมดเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่มีขึ้นเพื่อเอื้อต่อการเรียนการสอนและการวิจัย วัตถุประสงค์หลักเป็นโรงเรียนแพทย์เฉพาะทางที่ทำหน้าที่ฝึกสอนบุคลากรทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบกันเป็นสหสาขาวิชาชีพที่จำเป็นต่อการดูแลผู้สูงอายุและทำการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ตามบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคม

 

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุอย่างมาก คณะแพทย์ทั่วประเทศไทยมีอาจารย์ด้านนี้อยู่เพียง 6 แห่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นสถานที่ผลิตแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งผลิตได้เพียงแค่ 5 คนต่อปีเท่านั้น เพราะฉะนั้นศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งชาติจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร พร้อมเสริมสร้างองค์ความรู้ในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป

 

“เราไม่ใช่สถานที่ให้บริการดูแลรักษาเพียงอย่างเดียว แต่เราเป็นสถานศึกษา ดังนั้นเราหวังว่าศูนย์นี้จะเป็นแหล่งสร้างเครือข่ายของการให้บริการทางสุขภาพกับผู้สูงอายุในประเทศ และให้ความรู้กับคนที่มาศึกษาดูงานและมาฝึกงาน ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด โภชนากร ผู้ดูแลผู้สูงอายุและอื่นๆ ดังนั้นแม้ศูนย์นี้จะก่อตั้งโดยศิริราช แต่ก็เป็นของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราเปิดกว้างที่จะร่วมกับทุกหน่วยงานของประเทศที่ต้องการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมต่อไป” 

 

ศิริราชพยาบาล

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising