สถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ทำให้เกิดคำถามว่าเชื้อสายพันธุ์อังกฤษเป็นสาเหตุของอาการรุนแรงในผู้ป่วยหลายรายจริงหรือไม่
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD NOW ว่า สำหรับประเด็นนี้ เมื่อไปดูตัวเลขจากต่างประเทศ จะพบว่าข้อมูลยังขัดแย้งกันอยู่ทั้งจากรายงานจากสหรัฐฯ หรืออังกฤษ บางรายงานบอกว่าไม่มีผลอะไรเลย บางรายงานบอกว่าอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอยู่บ้าง แต่ที่แน่ๆ จำนวนผู้ป่วยเยอะขึ้น แพร่กระจายได้เร็วขึ้น ส่วนการที่เชื้อลงปอดพบว่า เป็นอาการปกติของโควิด-19 อยู่แล้ว การติดเชื้อรอบนี้มีผู้ติดเชื้อเยอะ จึงเห็นคนไข้อาการหนักเยอะขึ้น และมีบางรายที่ถึงขั้นเสียชีวิต
ภาพรวมของผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ศ.นพ.มานพ ให้ความเห็นว่า ตัวเลขหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการที่รัฐบาลประกาศ และที่ประชาชนร่วมมือกันตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ว่าจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงก่อนสงกรานต์ จะเห็นผลก็ต่อเมื่อผ่านไป 10-14 วัน เพราะฉะนั้นช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีแรงเฉื่อยอยู่ ยังไม่เห็นผลจากมาตรการที่ลงมือช่วยกันทำหลังทราบว่ามีการระบาดก่อนสงกรานต์ ดังนั้นจึงต้องจับตาดูช่วงสัปดาห์นี้ถึงสัปดาห์หน้าว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเป็นอย่างไร
ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีน Sinovac ที่มีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าวัคซีนใหม่ ไม่ว่าจะมีการศึกษาในมนุษย์ระยะที่ 1-3 แค่ไหน แต่เมื่อใช้เป็นวงกว้าง จะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ ไม่เคยเห็นรายงานการเกิดผลข้างเคียงในลักษณะนี้ในประเทศอื่นสำหรับวัคซีนชนิดนี้ หรืออาจจะมีรายงานประปราย เช่น ฟิลิปปินส์ มีผู้เกิดอาการคล้ายอัมพาตจำนวนหนึ่งราย และถ้าตามไปข้อมูลในการศึกษาระยะที่ 3 ที่บราซิลพบว่า มีผู้เกิดอาการคล้ายอัมพฤกษ์จำนวนหนึ่งราย แต่ข้อมูลที่ทำการศึกษาเป็นการศึกษาในระดับกลุ่มตัวอย่างหลักพัน จึงอาจยังไม่เห็นข้อมูลชัดเจน และไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับวัคซีน
“แต่เมื่อใช้เป็นวงกว้างอย่างประเทศไทย อาจจะเริ่มเห็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กังวลไหม ก็ต้องกังวลเสมอเวลาเกิดผลข้างเคียงแบบนี้ ก็ต้องเฝ้าดู อย่างน้อยคนที่เป็นคนสุดท้ายอาการดีขึ้นหมด ก็เป็นข้อมูลที่ต้องเฝ้าระวังต่อไปถ้าเรายังใช้อยู่”
สำหรับประสิทธิภาพของ Sinovac ที่มีรายงานล่าสุดว่า อาจมีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ประสิทธิภาพของ Sinovac เป็นเช่นนั้นจริงๆ มีประสิทธิภาพไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับวัคซีนตัวอื่นที่มีรายงานก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนมีข้อดีในแง่ของการลดโอกาสที่จะเป็นรุนแรง ซึ่งมีผลจริงๆ จากการใช้งานในการฉีดวงกว้างที่ประเทศชิลี ที่พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับวัคซีนแล้วมีสัดส่วนที่เกิดอาการรุนแรงน้อยลง
ศ.นพ.มานพ กล่าวถึงวัคซีน Sputnik V ที่พร้อมส่งให้กับประเทศไทยหลังรัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลรัสเซียโดยตรงด้วยว่า วัคซีน Sputnik V เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีคล้ายคลึงกันกับวัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนที่ใช้เวกเตอร์ที่เป็นอะดิโนไวรัส เพียงแต่ต่างกันที่ชนิดของไวรัส กล่าวคือ วัคซีน Sputnik V ทั้งสองเข็มใช้ไวรัสที่แตกต่างกัน ข้อดีคือมีผลโดยรวมทำให้การกระตุ้นภูมิดีกว่าการใช้วัคซีนชนิดเดียวกันทั้งสองเข็ม
“ข้อมูลที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์พบว่า ประสิทธิภาพโดยรวมค่อนข้างสูงอยู่ที่ 92% ในการป้องกัน ถือว่าเป็นวัคซีนที่ดีตัวหนึ่ง แต่ข้อควรระวังคือเป็นวัคซีนที่ใช้อะดิโนไวรัสคล้ายกับวัคซีน AstraZeneca และ Johnson & Johnson ซึ่งพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่วนวัคซีน Sputnik V ยังไม่มีข้อมูลจากรัสเซีย อย่างไรก็ดีเมื่อนำมาใช้ก็ต้องติดตามว่าจะเป็นอย่างไร”
ศ.นพ.มานพ ยังกล่าวด้วยว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ผลข้างเคียงใช้ได้ และมีการใช้งานมากที่สุด มีผลการทดสอบเป็นวงกว้างแล้ว คงจะเป็นวัคซีน Pfizer และที่ตีคู่กันมาเป็นวัคซีน Moderna ทั้งสองชนิดมีการใช้ในสหรัฐฯ และยุโรปรวมกันน่าจะเกิน 200 ล้านโดส ผลข้างเคียงนอกจากการอาการแพ้รุนแรงที่เกิดขึ้นหลังฉีดไม่นาน ที่เหลือก็ไม่พบอุบัติการณ์แบบวัคซีน AstraZeneca หรือ Johnson & Johnson
“สำหรับวัคซีน Pfizer จากข้อมูลของอิสราเอลก็เรียกได้ว่าน่าประทับใจ หลังฉีดไปกว่า 5 ล้านคน นอกจากลดอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อแล้ว ยังลดการแพร่เชื้อได้ด้วย และทำให้อิสราเอลเป็นประเทศแรกที่เริ่มกลับไปใช้ชีวิตใกล้เคียงกับก่อนเกิดโควิด-19”
ส่วนประเด็นวัคซีนฉีดที่จะฉีดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3 โดส ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาวัคซีนทั้งหมดจะเป็นสูตรสองเข็มเสมอ ยกเว้น Johnson & Johnson เป็นวัคซีนเข็มเดียว แต่ว่าในช่วงที่มีการทดสอบระยะที่ 3 โดยเฉพาะ Pfizer และ Moderna ขณะนั้นยังไม่มีสายพันธุ์แอฟริกาใต้และบราซิล เมื่อมีข้อมูลช่วงหลังออกมาสำหรับวัคซีนหลายๆ ตัวที่ทำการทดสอบที่หลังพบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง บางตัวไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาได้
ทำให้เป็นข้อกังวลเกิดขึ้น บริษัทวัคซีนจึงกำลังดำเนินปรับสูตรวัคซีนเพื่อรองรับสายพันธุ์ใหม่ๆ เมื่อปรับและทดสอบเรียบร้อย ก็อาจจะมีการกระตุ้นภูมิสำหรับผู้ฉีดเข็มสองไปแล้วด้วยการฉีดเข็มสาม
“หากสายพันธุ์แอฟริกาใต้เข้ามาระบาดในประเทศ ต้องมีมาตรการเข้มขึ้นกว่าเดิม เพราะสายพันธุ์แอฟริกาใต้มีสิ่งที่น่ากังวลคือ วัคซีนที่เรามีอยู่หลักๆ คือ AstraZeneca มีการทดสอบทางคลินิกแล้วพบว่าไม่ได้ผลเลยกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ประสิทธิภาพลดลงเหลือเพียง 10.5% ทำให้ต้องระวังมาก ส่วนวัคซีน Sinovac ยังไม่มีข้อมูล แต่พื้นฐานเดิมก็มีประสิทธิภาพไม่ค่อยดีนัก เมื่อเจอสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็ไม่น่าจะดีนักเช่นกัน”
ศ.นพ.มานพ กล่าวว่า ข้อมูลการศึกษาทางคลินิกเท่าที่มีในตอนนี้ วัคซีนที่น่าจะยังสามารถที่จะรับมือกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้อยู่ในระดับหนึ่งคือ Johnson & Johnson และ Novavax ส่วน Pfizer และ Moderna การทดสอบทางห้องปฏิบัติการก็ดูเหมือนจะเอาอยู่เช่นกัน”
ศ.นพ.มานพ ยังกล่าวถึง วัคซีน Novavax ว่าเป็นวัคซีนที่ยังมีรายงานการทดลองระยะที่ 3 ออกมา และยังไม่ได้ยื่นขออนุมัติจาก FDA ในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ผลเบื้องต้นดูดีมาก เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีโปรตีนบริสุทธิ์จากหนามของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เทคโนโลยีนี้จะให้ผลข้างเคียงที่ต่ำที่สุด ส่วนประสิทธิภาพเบื้องต้นอยู่ที่ 89-90% และสามารถผลิตได้สูงถึง 1 พันล้านโดสต่อปี โดยครึ่งหนึ่งจะส่งเข้าผ่านโครงการ COVAX
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์